สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หนูอังคาร

หนูอังคาร

11 ก.พ. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ความโน้มถ่วงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ การใช้ชีวิตภายใต้ภาวะไร้น้ำหนักจะทำให้ร่างกายมีอาการผิดปรกติหลายอย่าง เช่น กล้ามเนื้อลีบ กระดูกพรุน และเสียความสามารถในการทรงตัว ซึ่งนักบินอวกาศหลายคนได้เคยประสบมาแล้ว

จากความก้าวหน้าของการบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ว่าร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมโดยเฉพาะมนุษย์มีการตอบสนองอย่างไรกับภาวะไร้น้ำหนักที่มีอัตราเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ (0 จี) และทราบดีถึงภาวะที่มีแรงโน้มถ่วง จีบนโลก แต่ไม่เคยทราบเลยว่าหากอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่าง กับ จี จะเป็นเช่นไร ตัวอย่างเช่น บนดาวอังคารที่มีความโน้มถ่วง 0.38 จี มนุษย์อวกาศที่ไปสำรวจดาวอังคารในอนาคตจะเป็นเช่นไรภายใต้แรงโน้มถ่วงนั้น แล้วเมื่อกลับมาสู่โลกจะปรับตัวสู่แรงโน้มถ่วง จีได้หรือไม่อย่างไร

นักบินอวกาศกลุ่มหนึ่งกำลังจะขึ้นไปทดสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง นักบินกลุ่มนี้เป็นผู้ที่สาว ๆ เห็นแล้วจะต้องกรี๊ด เพราะหน้าตาน่ารัก ตาโต ผิวชมพู หนวดงาม สี่ขา หางยาว ฟันหนู

ก็หนูนะซี

โครงการที่จะนำหนูขึ้นสู่อวกาศนี้มีชื่อว่า มาร์สแกรวิตีไบโอแซเทลไลต์ เป็นการนำหนูใส่ยานอวกาศแล้วส่งขึ้นสู่วงโคจร ยานจะสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมโดยการหมุนรอบตัวเองช้า ๆ ด้วยอัตรา 34 รอบต่อนาที เพื่อให้ได้แรงโน้มถ่วง 0.38 จี เท่ากับของดาวอังคารพอดี เป้าหมายของโครงการนี้คือการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกระดูกผุ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อลีบ และการเปลี่ยนแปลงในหูชั้นในซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว

นักบินอวกาศหนูจะใช้ชีวิตภายใต้การเฝ้ามองทุกอิริยาบถ แต่ละตัวแยกกันอยู่ในห้องเล็ก ๆ มีกล้องถ่ายภาพจับภาพกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา มีเครื่องให้น้ำที่ควบคุมด้วยปั้มเพื่อที่จะสามารถวัดปริมาณการใช้น้ำได้ ของเสียจากหนูจะถูกเก็บไปไว้อีกส่วนหนึ่งใต้ห้องหนู มีระบบวิเคราะห์ฉี่หนูสำหรับตรวจอาการกระดูกพรุน มีเครื่องวัดน้ำหนักตัวหนูสำหรับวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว

ระหว่างภารกิจนาน สัปดาห์ จะมีของเล่นต่าง ๆ ให้เล่นแก้เบื่อ และอาจมีท่อนไม้สำหรับแทะเล่นอีกเพื่อให้หนูอยู่อย่างมีความสุขและเพื่อป้องกันไม่ให้หนูหันไปแทะยานแทน แต่ไม่มีจักรไปให้ถีบอย่างที่คนเลี้ยงหนูมักใส่ไว้ในกรง เนื่องจากการวิจัยไม่ต้องการให้หนูออกกำลังกาย เพราะสิ่งที่เขาต้องการศึกษาคือผลกระทบต่อร่างกายภายใต้ความโน้มถ่วงต่ำ หากให้หนูออกกำลังกายอาจทำให้การทำลองไม่บรรลุผล

หนูที่จะใช้เป็นหนูตัวเมียทั้งหมด สาเหตุสำคัญคือ จากการทดลองอื่นที่ผ่านมาพบว่าสัตว์ตัวเมียมีผลต่อแรงโน้มถ่วงมากกว่าตัวผู้ อีกสาเหตุหนึ่งคือหนูตัวเมียกินไม่จุ จึงไม่ต้องใส่อาหารลงไปในยานให้มากนัก

โครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างเอ็มไอที มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ คาดว่ายานไบโอแซเทลไลต์จะขึ้นสู่อวกาศได้ในราวปี 2549 หลังจากนั้นก็จะกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

นักบินอวกาศรายแรกที่จะได้สัมผัสสภาพแรงโน้มถ่วงแบบดาวอังคารอาจมีหน้าตาแบบนี้

นักบินอวกาศรายแรกที่จะได้สัมผัสสภาพแรงโน้มถ่วงแบบดาวอังคารอาจมีหน้าตาแบบนี้

ภาพวาดยานมาร์สแกรวิตีไบโอแซเทลไลต์ขณะอยู่ในวงโคจร (ภาพจาก marsgravity.org)

ภาพวาดยานมาร์สแกรวิตีไบโอแซเทลไลต์ขณะอยู่ในวงโคจร (ภาพจาก marsgravity.org)

ภาพร่างเบื้องต้นของห้องหนูบนยานมาร์สแกรวิตีไบโอแซเทลไลต์ (ภาพจาก MarsGravity.org)

ภาพร่างเบื้องต้นของห้องหนูบนยานมาร์สแกรวิตีไบโอแซเทลไลต์ (ภาพจาก MarsGravity.org)

ที่มา: