สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โอมูอามูอาน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากดาวคู่

โอมูอามูอาน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากดาวคู่

12 เม.ย. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
โอมูอามูอาเดินทางออกจากระบบสุริยะชั้นในไปไกลแล้ว แต่เรื่องของวัตถุต่างด้าวดวงนี้ยังไม่จบ ล่าสุดนักดาราศาสตร์จากสมาคมดาราศาสตร์หลวงแห่งสหราชอาณาจักรเสนอว่า วัตถุดวงนี้น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากระบบดาวคู่ 

โอมูอามูอา หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ไอ/2017 (โอมูอามูอา) [1I/2017 (`Oumuamua)] เป็นวัตถุที่มีต้นกำเนิดจากนอกระบบสุริยะ ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 60 คาดว่าเป็นวัตถุแข็งจำพวกดาวเคราะห์น้อย นับจากที่ค้นพบ นักดาราศาสตร์ต่างพยายามสืบเสาะว่าวัตถุต่างด้าวดวงนี้มาจากดาวฤกษ์หรือระบบสุริยะแห่งไหนกันแน่ 

คณะนักดาราศาสตร์นำโดย แอลัน แจ็กสัน จากศูนย์วิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของมหาวิทยาลัยโตรอนโตสกาเบอโรในออนแทริโอ แคนาดา ได้ศึกษาประสิทธิภาพในการเหวี่ยงวัตถุออกสู่ภายนอกของระบบดาวคู่ และเมื่อพิจารณาถึงจำนวนของดาวคู่ที่มีอยู่ในดาราจักรแล้ว จึงลงความเห็นว่า มีความเป็นได้อย่างมากที่วัตถุอย่างโอมูอามูอาจะถูกเหวี่ยงออกมาจากดาวคู่มากกว่าดาวเดี่ยว นอกจากนี้ยังคำนวณออกมาได้ว่าวัตถุที่ถูกดีดออกมามีโอกาสที่จะเป็นวัตถุแข็งแบบดาวเคราะห์น้อยได้มากใกล้เคียงกับโอกาสที่จะเป็นวัตถุน้ำแข็งแบบดาวหาง

"เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกันที่วัตถุต่างด้าวดวงแรกที่พบเป็นดาวเคราะห์น้อย เพราะว่าดาวเคราะห์น้อยตรวจพบได้ยากกว่าดาวหางมาก" แจ็กสันให้ความเห็น

สำหรับกรณีของโอมูอามูอา งานวิจัยของคณะนี้ชี้ว่าน่าจะมีที่มาจากดาวคู่ที่ค่อนข้างร้อนและมวลสูง และคาดว่าโอมูอามูอาหลุดออกจากระบบมาตั้งแต่ช่วงต้นของการกำเนิดระบบดาวเคราะห์แล้ว

โอมูอามูอาในจินตนาการของศิลปิน <wbr>นักดาราศาสตร์คาดว่าวัตถุดวงนี้น่าจะมีต้นกำเนิดมากจากดาวคู่มากกว่าดาวเดี่ยว<br />
<br />

โอมูอามูอาในจินตนาการของศิลปิน นักดาราศาสตร์คาดว่าวัตถุดวงนี้น่าจะมีต้นกำเนิดมากจากดาวคู่มากกว่าดาวเดี่ยว

(จาก ESO/M. Kornmesser/RAS.)

ที่มา: