สมาคมดาราศาสตร์ไทย

บริวารดวงใหม่ของโลก

บริวารดวงใหม่ของโลก

26 พ.ค. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์จากโครงการวิจัยดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกลินคอร์นหรือลีเนียร์ ได้ค้นพบวัตถุที่มีวงโคจรใกล้โลกอีกดวงหนึ่งแล้ว ความน่าสนใจของวัตถุนี้ไม่ใช่เพราะกำลังจะชนหรือเฉี่ยวโลกแต่อย่างใด แต่เพราะมีวงโคจรที่สัมพันธ์กับโลกมากจนจัดเป็นประเภทวัตถุคล้ายบริวารของโลก

วัตถุนี้เป็นดาวเคราะห์น้อย มีชื่อว่า 2004 จียู (2004 GU9) แม้จะพออนุมานได้ว่าเป็นบริวารของโลก แต่วัตถุนี้ไม่ได้โคจรรอบโลกโดยตรงเช่นดวงจันทร์ หากแต่โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วยกันกับโลก แต่เนื่องจากโลกมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์น้อยมาก แรงดึงดูดของโลกจึงมีผลให้วงโคจรวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่สม่ำเสมอ โดยที่ยังคงมีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ ปีเช่นเดียวกับโลก ผลจากการเปลี่ยนแปลงความเร็วนี้ทำให้ในรอบ ปี ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะวิ่งแซงโลกจนมาจ่อท้ายครั้งหนึ่ง และล้าหลังไปเกือบครบรอบกลับมาอยู่หน้าโลกอีกครั้งหนึ่ง หากมองดูการเคลื่อนที่ของวัตถุทั้งสาม (โลก ดาวเคราะห์น้อย ดวงอาทิตย์) โดยยึดเอาโลกและดวงอาทิตย์เป็นจุดอ้างอิงแล้ว จะพบว่าดาวเคราะห์น้อยนี้มีวงโคจรเหมือนกับเกือกม้า ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกวงโคจรแบบนี้ว่าวงโคจรแบบเกือกม้า

ความจริง ดาวเคราะห์น้อย 2004 จียู ไม่ใช่บริวารดวงแรกของโลกที่มีการเคลื่อนที่แบบนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2545 ดาวเคราะห์น้อย 2002 วายเอ็น 107 ก็เคยเป็นข่าวว่าเป็นบริวารใหม่ของโลกมาแล้ว และหลังจากนั้นก็พบเพิ่มขึ้นอีกถึง 18 ดวง 
  

แต่ความพิเศษของ 2004 จียู จนทำให้ต้องเป็นข่าวกันอีกครั้งคือ การที่มีโคจรเสถียรมาก นักดาราศาสตร์ได้คำนวณการโคจรของวัตถุนี้ย้อนหลังออกไปพบว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้มาเป็นบริวารของโลกมาแล้วไม่น้อยกว่า 600 ปี นับเป็นวัตถุในประเภทนี้ที่มีวงโคจรเสถียรที่สุด

โดยปรกติวงโคจรแบบเกือกม้าเป็นวงโคจรที่ไม่เสถียร ก่อนหน้าการค้นพบครั้งล่าสุดนี้ วัตถุที่ประเภทเดียวกันที่ยังคงมีวงโคจรแบบนี้อยู่มีเพียง 2002 วายเอ็น 107 เพียงดวงเดียวเท่านั้น ดาวเคราะห์น้อย 2002 วายเอ็น 107 เริ่มเข้าสู่วงโคจรเกือกม้าในปี 2539 และจะสิ้นสุดในปี 2549 หลังจากเข้าใกล้โลกมากจนถูกโลกดีดกระเด็นไปจนกลายเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรธรรมดา

การมีบริวารที่โคจรแบบเกือกม้านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโลกเท่านั้น ดาวพฤหัสบดีมีบริวารประเภทนี้ถึง 1,664 ดวงและเป็นวงโคจรที่เสถียร ซึ่งมีชื่อเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยทรอย (Trojan asteroids) และดาวเนปจูนก็มีหนึ่งดวง นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นไปได้ว่าโลกอาจมีดาวเคราะห์น้อยทรอยเป็นบริวารถาวรเหมือนกันแต่ยังค้นไม่พบ 

วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2003 วายเอ็น 107 ระหว่างปี 2524 ถึง 2569 แสดงถึงวงโคจรที่เปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อเข้าใกล้โลก

วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2003 วายเอ็น 107 ระหว่างปี 2524 ถึง 2569 แสดงถึงวงโคจรที่เปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อเข้าใกล้โลก

ที่มา: