สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางลู่หลิน (C/2007 N3 Lulin)

ดาวหางลู่หลิน (C/2007 N3 Lulin)

23 กุมภาพันธ์ 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 17 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
จากข้อมูลถึงขณะนี้ ปี 2552 ยังไม่มีดาวหางดวงใดที่สังเกตเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า ดาวหางลู่หลิน (C/2007 N3 Lulin) เป็นดาวหางดวงเดียวที่มีโอกาสจะสว่างถึงระดับที่สังเกตการณ์ได้ไม่ยากนักด้วยกล้องสองตา โดยเฉพาะในคืนที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวน ภายใต้ฟ้ามืดห่างจากเมืองใหญ่

ดาวหางลู่หลินถูกค้นพบเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 จากภาพถ่ายที่หอดูดาวลู่หลินในไต้หวัน โดยเย่ ฉวนจื้อ (Quanzhi Ye) นักศึกษาชาวจีนของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นบนจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะนั้นดาวหางมีอันดับความสว่างหรือโชติมาตร 18.9 จางกว่าที่ตาเปล่าของมนุษย์จะมองเห็นได้ราว 100,000 เท่า รายงานในตอนแรกระบุว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย ต่อมาสังเกตพบโคม่ามีใจกลางสว่าง อันเป็นลักษณะของดาวหาง

ตำแหน่งดาวหางบนท้องฟ้าประเทศไทย

ต้นเดือนมกราคมดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดที่โชติมาตร 7-8 ในกลุ่มดาวคันชั่ง ใกล้ส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง แต่ยังสังเกตได้ค่อนข้างยากเพราะอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก กลางเดือนหรือปลายเดือนมกราคม 2552 ดาวหางจะออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นและเริ่มสังเกตการณ์ได้ดี ดาวหางเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาวในกลางเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าเป็นช่วงที่มีโชติมาตรประมาณ ปลายเดือนดาวหางเคลื่อนไปอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ สามารถสังเกตได้ทั้งคืนตั้งแต่เวลาหัวค่ำถึงเช้ามืด และโชคดีที่เป็นช่วงที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวน

แผนที่ตำแหน่งดาวหางลู่หลินในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ภาพบนเป็นตำแหน่งในเวลา 4.00 น. ของช่วงครึ่งเดือนแรก ภาพล่างเป็นตำแหน่งดาวหางในเวลา 23.00 น. ของปลายเดือนกุมภาพันธ์ ดาวหางมีลักษณะเป็นดวงฝ้า เคลื่อนใกล้แนวสุริยวิถีโดยหางชี้ไปทางขวามือ แต่คาดว่าไม่น่าจะยาวนัก เนื่องจากดาวหางอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์นอกวงโคจรโลก วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ ดาวหางอยู่ใกล้ดาวแอลฟาคันชั่งภายในระยะไม่เกิน 1° แอลฟาคันชั่งเป็นดาวสว่างดวงหนึ่งในกลุ่มดาวคันชั่งและเป็นดาวคู่ จึงน่าจะหาดาวหางได้ไม่ยาก วันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ ดาวหางอยู่ใกล้ดาวเสาร์ เป็นช่วงที่มันเคลื่อนที่เร็วเพราะใกล้โลกมากที่สุดและน่าจะสว่างที่สุด อย่างไรก็ตาม หางของมันจะชี้ไปในทิศตรงข้ามกับทิศทางมายังโลก  


วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ดาวหางลู่หลินเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะห่าง 0.411 หน่วยดาราศาสตร์ คาดว่าจะมีโชติมาตรราว ๆ หรือ เช้ามืดวันนั้นดาวหางอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของดาวเสาร์ประมาณ 2° วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ดาวหางจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ มันอาจสว่างขึ้นได้เล็กน้อยจากระดับปกติ เนื่องจากวันนั้นดาวหางอยู่ใกล้ระนาบสุริยวิถี หลังจากนั้นจึงจะจางลง

คืนวันที่ 27 ถึงเช้ามืดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดาวหางผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโตที่ระยะไม่ถึง 1° เข้าสู่กลุ่มดาวปูในช่วงต้นเดือนมีนาคม ผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งในคืนวันที่ ถึงเช้ามืดวันที่ มีนาคม (แสงจันทร์รบกวน) ปลายเดือนมีนาคมคาดว่าดาวหางจะจางลงไปที่โชติมาตร 8

แผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางลู่หลิน ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 19 มีนาคม 2552 

ความคืบหน้าล่าสุด

ปลายเดือนมกราคม ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดาวหางมีโชติมาตรเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 มีหางจางมาก หาง ทอดยาวออกไปเกือบตรงข้ามกัน หางที่ดูเหมือนชี้เข้าหาดวงอาทิตย์เรียกว่าหางย้อน (antitail) มีโอกาสเห็นได้เมื่อโลกอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวหาง

วันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่าดาวหางสว่างขึ้นไปที่โชติมาตร 5.2 ซึ่งพอเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่าภายใต้ท้องฟ้าที่ปราศจากแสงไฟและเมฆหมอกรบกวน หัวดาวหางหรือโคม่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15-30 ลิปดา การดูดาวหางดวงนี้ควรใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ โดยหาสถานที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน เมืองใหญ่เห็นได้ยาก เนื่องจากดาวหางไม่สว่างนัก อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการคาดหมายจากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ดาวหางเป็นวัตถุที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น อาจจางลงหรือสว่างกว่าที่คาดไว้

วงโคจร

วงโคจรของดาวหางลู่หลินเกือบเป็นพาราโบลา แสดงว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่มันเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ระนาบวงโคจรเอียงทำมุม 178° กับระนาบวงโคจรโลก มันจึงเคลื่อนที่สวนทางกับทิศทางการเคลื่อนที่ของโลกและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ มันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 ที่ระยะห่าง 1.212 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 181 ล้านกิโลเมตร) ก่อนจะใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ระยะห่าง 0.411 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 61.5 ล้านกิโลเมตร)

หมายเหตุ วารสารทางช้างเผือก ฉบับคู่มือดูดาว พ.ศ. 2552 ใช้ชื่อดาวหางว่าลูลิน เป็นดาวหางดวงเดียวกัน

ที่มา

Catch Winter's Comet Lulin skyandtelescope.com
Sky Show This Month: "Two-Tailed" Comet Nearing Earth National Geographic
New comet may be visible with the naked eye New Scientist
C/2007 N3 (Lulin) cometography.com
C/2007 N3 (Lulin) IAU: Minor Planet Center
C/2007 N3 (Lulin) Seiichi Yoshida
Recent Comet Brightness Estimates ICQ
ห้องภาพดาวหางลู่หลินจากทั่วโลก spaceweather.com