สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2566

สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2566

31 ธันวาคม 2565
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 26 ตุลาคม 2566
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
      พ.ศ. 2566 มีสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเกิดขึ้นอย่างละ ครั้ง รวมเป็น ครั้ง ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาทั้งสองครั้ง แต่เป็นจันทรุปราคาเงามัวซึ่งสังเกตได้ยาก และจันทรุปราคาบางส่วน นอกจากนี้ พื้นที่บางส่วนของประเทศไทยสามารถสังเกตสุริยุปราคาได้หนึ่งครั้ง

สถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา 21 สิงหาคม 2560 (จาก NASA/Joel Kowsky)

1. สุริยุปราคาผสม 20 เมษายน 2566


     วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 เกิดสุริยุปราคาผสม สุริยุปราคาชนิดนี้ พื้นที่ส่วนหนึ่งตามแนวเส้นกลางคราส ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย จึงเป็นสุริยุปราคาวงแหวน อีกส่วนหนึ่งเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย จึงเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง เรียกปรากฏการณ์ที่มีสุริยุปราคาทั้งสองชนิดนี้ในคราวเดียวกันว่าสุริยุปราคาผสม

     เงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกตั้งแต่เวลา 08:34 น. ตามเวลาประเทศไทย ศูนย์กลางเงาเริ่มแตะผิวโลก หรือเริ่มเกิดสุริยุปราคาวงแหวนในเวลา 09:37 น. เกิดขึ้นทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย หลังจากนั้นไม่นาน สุริยุปราคาวงแหวนจะเปลี่ยนเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านแนวชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียในประเทศออสเตรเลีย บริเวณที่สังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงได้ดีอยู่บริเวณเมืองเอกซ์มัทซึ่งตั้งอยู่บนแหลมนอร์ทเวสต์ รวมถึงเกาะบาร์โรว์ที่อยู่ถัดไปทางตะวันออกของแหลมนี้ ผู้ที่อยู่กลางแนวคราสสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้นานประมาณ นาที
     
     เงามืดของดวงจันทร์เคลื่อนผ่านทะเลติมอร์ บางส่วนของติมอร์-เลสเตสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ จากนั้นเงามืดเข้าสู่ทะเลบันดาของอินโดนีเซีย จุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในทะเล เกิดขึ้นเวลา 11:17 น. เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน นาที 16 วินาที โดยดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ราว 1.3% และเงามืดบนผิวโลกมีความกว้างราว 49 กิโลเมตร
     
     เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซีย แล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตอนปลายของแนวกลางคราส สุริยุปราคาเต็มดวงจะเปลี่ยนไปเป็นสุริยุปราคาวงแหวนอีกครั้ง เวลา 12:57 น. แนวคราสวงแหวนออกจากผิวโลกในตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ปรากฏการณ์สิ้นสุดลงเมื่อเงามัวของดวงจันทร์ออกจากผิวโลกเวลา 13:59 น.
     
     บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
     
แผนที่แสดงบริเวณที่เงาของดวงจันทร์พาดผ่านบนผิวโลกขณะเกิดสุริยุปราคา (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 20 เมษายน 2566
เหตุการณ์เวลาพิกัด
1. เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลก08:34:24.4ละติจูด 40° 17.4′ ลองจิจูด  75° 59.3′ E
2. ศูนย์กลางเงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลก09:37:08.4ละติจูด 48° 27.1′ ลองจิจูด  63° 37.2′ E
3. กึ่งกลางคราส (ขนาดอุปราคา 0.94350)11:16:45.9ละติจูด  9° 35.7′ ลองจิจูด 125° 46.6′ E
4. ศูนย์กลางเงาคราสวงแหวนออกจากผิวโลก12:56:37.3ละติจูด  2° 55.8′ ลองจิจูด 178° 48.7′ W
5. เงามัวออกจากผิวโลก13:59:21.8ละติจูด 11° 16.8′ ลองจิจูด 167° 13.4′ E


     สำหรับประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นสุริยุปราคาวันนี้ แต่สามารถสังเกตได้ในบางส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของศรีสะเกษและอุบลราชธานี ด้านตะวันออกของจังหวัดตราด ตรงบริเวณชายแดนด้านที่ติดกับกัมพูชา หลายจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างก็มีโอกาสเห็นสุริยุปราคา ดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนฟ้ามีลักษณะแหว่งเว้าเล็กน้อย อาจสังเกตได้ยากหากใช้เพียงแว่นสุริยะซึ่งเป็นแผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์ เนื่องจากดวงอาทิตย์มีขนาดปรากฏเล็ก

     ผลการคำนวณสำหรับอำเภอเมืองของจังหวัดต่าง ๆ แสดงในตาราง (ยกเว้นอุบลราชธานี) เช่น อ.เมืองนราธิวาส เกิดสุริยุปราคาบางส่วนลึกที่สุดเวลา 11:02 น. ดวงอาทิตย์แหว่งเป็นสัดส่วน 0.106 หรือราว ใน 10 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ ขณะเกิดปรากฏการณ์ ดวงอาทิตย์อยู่สูงประมาณ 60°-85°

การเกิดสุริยุปราคา 20 เมษายน 2566 ในประเทศไทย
จังหวัดเวลาเริ่มบังลึกที่สุดขนาดอุปราคาเวลาสิ้นสุด
กระบี่10:5311:000.00311:07
ตรัง10:3911:000.03011:23
นครศรีธรรมราช10:4511:030.01911:21
นราธิวาส10:2211:020.10611:44
ปัตตานี10:2611:020.08311:39
พัทลุง10:3611:020.03911:27
ยะลา10:2411:020.09111:40
สงขลา10:3111:020.06011:33
สตูล10:2910:590.06011:31
อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี11:1311:260.01111:40


2. จันทรุปราคาเงามัว 5-6 พฤษภาคม 2566


     คืนวันศุกร์ที่ พฤษภาคม 2566 เกิดจันทรุปราคาเงามัว บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา ประเทศไทยสามารถเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ได้ แต่การที่ดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงามัวเท่านั้นโดยไม่ผ่านเงามืด ทำให้ดวงจันทร์ยังคงเต็มดวงอยู่ตลอดระยะเวลาของปรากฏการณ์ โดยมีความสว่างลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สังเกตได้ยาก ช่วงที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด อาจสังเกตได้ว่าขอบด้านทิศเหนือของดวงจันทร์มืดสลัวลงเล็กน้อย

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 5-6 พฤษภาคม 2566
เหตุการณ์เวลา
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก22:13:41 (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)
2. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด00:22:54 (ขนาดอุปราคาเงามัว 0.9654)
3. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก02:31:54 (สิ้นสุดปรากฏการณ์)


เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เทียบกับเงาโลกขณะเกิดจันทรุปราคา (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

3. สุริยุปราคาวงแหวน 14-15 ตุลาคม 2566


     วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 เกิดสุริยุปราคาวงแหวน ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ สุริยุปราคาบางส่วนเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์สัมผัสผิวโลกที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกในเวลา 22:04 น. จากนั้นศูนย์กลางเงาเริ่มแตะผิวโลกในเวลา 23:12 น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสุริยุปราคาวงแหวน เงาคราสวงแหวนเคลื่อนผ่านทวีปอเมริกาเหนือ โดยผ่านพื้นที่บางส่วนในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา เช่น ออริกอน แคลิฟอร์เนีย เนวาดา ยูทาห์ โคโลราโด แอริโซนา นิวเม็กซิโก และเทกซัส โดยเคลื่อนจากด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปยังตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
     
     เงาคราสวงแหวนลงสู่อ่าวเม็กซิโก แล้วเข้าสู่อเมริกากลาง ผ่านรัฐทางตะวันออกของเม็กซิโก ได้แก่ ยูกาตัง กัมเปเช และกินตานาโร จากนั้นผ่านบางส่วนของประเทศกัวเตมาลา เบลีซ ฮอนดูรัส นิการากัว คอสตาริกา และปานามา จุดที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนานที่สุดอยู่ในทะเลแคริบเบียน เกิดสุริยุปราคาวงแหวนด้วยระยะเวลา นาที 17 วินาที เงาคราสวงแหวนบนผิวโลกมีความกว้างราว 187 กิโลเมตร ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏราว 95.2% ของดวงอาทิตย์
     
     เงาคราสวงแหวนเคลื่อนต่อไปยังทวีปอเมริกาใต้ ผ่านประเทศโคลอมเบียและบราซิล ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก สิ้นสุดคราสวงแหวนเมื่อศูนย์กลางเงาเคลื่อนออกจากผิวโลกในเวลา 02:47 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย (ยังเป็นวันที่ 14 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่นที่เกิดคราสวงแหวน) ปรากฏการณ์สิ้นสุดเมื่อเงามัวของดวงจันทร์ออกจากผิวโลกเวลา 03:55 น.
     
     บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง เกือบทั้งหมดของอเมริกาใต้ (ยกเว้นด้านทิศใต้) บางส่วนของกรีนแลนด์ บางส่วนทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก บางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติก และบางส่วนทางด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา ประเทศไทยไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้

แผนที่แสดงบริเวณที่เงาของดวงจันทร์พาดผ่านบนผิวโลกขณะเกิดสุริยุปราคา (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 14-15 ตุลาคม 2566
เหตุการณ์เวลาพิกัด
1. เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลก22:03:48.0ละติจูด 41° 19.9′ ลองจิจูด 132 09.5′ W
2. ศูนย์กลางเงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลก23:12:25.3ละติจูด 49° 20.8′ ลองจิจูด 146° 55.1′ W
3. กึ่งกลางคราส (ขนาดอุปราคา 0.94350)00:59:30.4ละติจูด 11° 22.1′ ลองจิจูด  83° 06.4′ W
4. ศูนย์กลางเงาคราสวงแหวนออกจากผิวโลก02:46:49.0ละติจูด  5° 41.1′ ลองจิจูด  29° 22.9′ W
5. เงามัวออกจากผิวโลก03:55:16.5ละติจูด 13° 48.0′ ลองจิจูด  45° 16.8′ W



4. จันทรุปราคาบางส่วน 29 ตุลาคม 2566


     หลังเที่ยงคืนของคืนวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม เข้าสู่เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 จะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ทำให้พื้นผิวด้านทิศใต้ของดวงจันทร์มีลักษณะแหว่งเว้าไปเล็กน้อย บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ด้านตะวันออกของอเมริกา ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวแกะ มองเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่สูงเหนือดวงจันทร์ประมาณ 7° ประเทศไทยสามารถสังเกตจันทรุปราคาครั้งนี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ขณะบังลึกที่สุด เงามืดของโลกบดบังดวงจันทร์ราว 12 เปอร์เซนต์ เมื่อวัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลาง

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 29 ตุลาคม 2566
เหตุการณ์เวลา
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก01:01:19 (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน02:34:43 (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง)
4. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด03:14:07 (ขนาดอุปราคาเงามืด 0.1238)
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน03:52:50 (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง)
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก05:26:33 (สิ้นสุดปรากฏการณ์)


เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เทียบกับเงาโลกขณะเกิดจันทรุปราคา (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

     หมายเหตุ: ผลการคำนวณเวลาเกิดจันทรุปราคาขั้นตอนต่าง ๆ ในที่นี้ ใช้วิธีซึ่งคำนึงถึงสัณฐานที่เป็นทรงกลมแป้นของโลก (เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวเส้นศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว) อันส่งผลให้เงามีรูปร่างเป็นวงรีเล็กน้อย โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ได้จากการวัดเวลาของการเกิดจันทรุปราคาหลายครั้งในอดีต เวลาที่คำนวณได้จึงต่างกันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการคำนวณที่ตีพิมพ์ใน Astronomical Almanac ซึ่งใช้วิธีดั้งเดิมโดยกำหนดให้เงาโลกเป็นวงกลม นอกจากนี้ยังมีพารามิเตอร์ที่ต่างกันในการชดเชยผลจากบรรยากาศโลก และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนของคาบการหมุนของโลก ซึ่งส่งผลต่อการพยากรณ์เวลาของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งหมด