สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ในปี 2566

ดาวเคราะห์ในปี 2566

30 ธันวาคม 2565 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวเคราะห์สว่างที่เห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าจากโลกมี ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ส่วนดาวยูเรนัสและเนปจูน ต้องอาศัยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ นอกจากดาวเคราะห์แล้ว ยังสามารถส่องเห็นดาวบริวารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี 2566 ช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นตรงกลางในแนวดิ่งคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลางเป็นส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอนบอกมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้งบอกวันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวเฉียงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180° แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ดาวพุธ


ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์วงใน อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุดในระบบสุริยะ ด้วยมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่จำกัด คนบนโลกจึงมีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาที่ท้องฟ้าไม่มืดสนิท ประเทศไทยเห็นดาวพุธได้เฉพาะในเวลาหัวค่ำหรือเช้ามืดเท่านั้น

ปี 2566 มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ช่วงที่ อยู่ในกลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายมิถุนายน เป็นช่วงที่มองเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่สูงเหนือดาวพุธ ช่วงที่ คือกลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มองเห็นดาวศุกร์อยู่สูงเหนือดาวพุธ ช่วงสุดท้ายอยู่ในปลายเดือนธันวาคม

ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำของปีนี้มี ช่วง ช่วงแรกอยู่ระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน โดยมีดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ดาวพุธ ช่วงถัดไปอยู่ในเดือนกลางกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม เป็นช่วงที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดาวศุกร์และดาวอังคาร ช่วงสุดท้ายอยู่ในกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางธันวาคม

ดาวศุกร์


ดาวศุกร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ หรือที่เรียกว่า “ดาวประจำเมือง” ต่อเนื่องมาจากปลายปี 2565 โดยอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล วันที่ 23 มกราคม ดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดาวเสาร์ ประเทศไทยไม่เห็นในช่วงที่ใกล้กันที่สุด แต่สามารถสังเกตได้ในค่ำวันที่ 22 และ 23 มกราคม ขณะที่ทั้งคู่อยู่ห่างกัน 0.6°-0.7°

วันที่ 25 มกราคม ดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ดาวศุกร์ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนห่างที่สุดในวันที่ มิถุนายน ระหว่างนั้น ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ผ่านใกล้ดาวเนปจูนในค่ำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ระยะเพียง 0.01°) กลุ่มดาวปลา และกลุ่มดาวซีตัส (ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในค่ำวันที่ มีนาคม ที่ระยะ 0.5°)

ขณะผ่านกลุ่มดาวแกะ ประเทศไทยจะเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวยูเรนัสในค่ำวันที่ 30 มีนาคม ที่ระยะ 1.3° ต้นเดือนเมษายน ดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาววัว ช่วงใกล้สงกรานต์จะเห็นกระจุกดาวลูกไก่อยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ ทั้งคู่อยู่ใกล้กันที่สุดในค่ำวันที่ 11 เมษายน ห่างกัน 2.6°

ต้นเดือนพฤษภาคม ดาวศุกร์ย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ เดือนมิถุนายนเข้าสู่กลุ่มดาวปู เช้ามืดวันที่ 13-14 มิถุนายน ดาวศุกร์จะผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งที่ระยะเกือบ 1° ปลายเดือนดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต อยู่ใกล้ดาวอังคารในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นเริ่มเคลื่อนที่ถอยหลังไปทางทิศตะวันตกเมื่อเทียบตำแหน่งกับดาวฤกษ์

ปลายเดือนกรกฎาคม ดาวพุธจะผ่านมาอยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ หลังจากนั้นเริ่มสังเกตดาวศุกร์ได้ยากขึ้นเนื่องจากเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ปลายเดือนสิงหาคม ดาวศุกร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในกลุ่มดาวปู ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน ปลายเดือนกันยายน กลับเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโตอีกครั้ง ทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 24 ตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายนเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาว และกลางเดือนธันวาคมย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง

ภาพวาดแสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดาวอังคาร


ดาวอังคารมีวงโคจรอยู่ถัดไปจากโลกตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ ช่วงที่สังเกตดาวอังคารได้ดีที่สุดคือขณะที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลก ตรงกับช่วงที่ดาวอังคารอยู่ที่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นเฉลี่ยทุกประมาณ ปีเศษ วงโคจรของดาวอังคารที่เป็นวงรี ทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง หากวันที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับวันที่ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่และสว่างมากเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ดาวอังคารที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถสังเกตเห็นร่องรอยบนพื้นผิวได้ มีเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้นที่ดาวอังคารจะใกล้โลกจนใหญ่พอสำหรับการสังเกตรายละเอียดบนพื้นผิว

ดาวอังคารผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ทำให้ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2566 ดาวอังคารยังคงมีความสว่างมากพอสมควร และมีขนาดปรากฏใหญ่พอที่จะสังเกตพื้นผิวได้เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง ความสว่างของดาวอังคารลดลงจากโชติมาตร -1.2 ในวันที่ มกราคม 2566 ไปอยู่ที่โชติมาตร ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีขนาดปรากฏเล็กลงเรื่อย ๆ จาก 14.6 พิลิปดา จนต่ำกว่า 10 พิลิปดาในต้นเดือนกุมภาพันธ์

ช่วงแรกของปี ดาวอังคารอยู่บนท้องฟ้าให้สังเกตได้ตั้งแต่เวลาหัวค่ำทางทิศตะวันออกในกลุ่มดาววัว ดาวอังคารมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ลดลงจนกระทั่งตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนมีนาคม ช่วงนั้นเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด ดาวอังคารจะอยู่สูงใกล้จุดเหนือศีรษะ ปลายเดือนดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ กลางเดือนพฤษภาคมเข้าสู่กลุ่มดาวปู คืนวันที่ 2-3 มิถุนายน ดาวอังคารผ่านเข้าไปอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์ในกระจุกดาวรังผึ้ง ปลายเดือนมิถุนายนย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในค่ำวันที่ 10 กรกฎาคม

กลางเดือนสิงหาคม ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาว อาจสังเกตได้ถึงราวปลายเดือนกันยายน หลังจากนั้นดาวอังคารจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตได้ยาก

ดาวอังคารขณะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปีต่าง ๆ (เวลาประเทศไทย) ตัวเลขที่ระบุไว้ข้างเส้นซึ่งเชื่อมระหว่างโลกกับดาวอังคารคือระยะห่างขณะใกล้กันที่สุด มีหน่วยเป็นล้านกิโลเมตร ในวงเล็บคือวันที่ใกล้กันที่สุด ซึ่งมักไม่ตรงกับวันที่ดาวอังคารทำมุม 180° กับดวงอาทิตย์ (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดาวพฤหัสบดี


ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวปลา ผ่านเข้าไปในพื้นที่ของกลุ่มซีตัสในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีได้ในเวลาหัวค่ำของทุกวันจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม โดยผ่านใกล้ดาวศุกร์ในค่ำวันที่ มีนาคม หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตได้ 

ดาวพฤหัสบดีอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 12 เมษายน ราวต้นเดือนพฤษภาคม ดาวพฤหัสบดีจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอจนเริ่มสังเกตได้ในเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออก ปลายเดือนเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ ต้นเดือนสิงหาคม ดาวพฤหัสบดีทำมุม 90° โดยอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ จึงเห็นอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลาเช้ามืด

ต้นเดือนกันยายน ดาวพฤหัสบดีเริ่มหยุดนิ่งแล้วเคลื่อนที่ถอยหลังในมุมมองจากโลก วันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดีผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในรอบปี สว่างที่โชติมาตร –2.9 เป็นช่วงที่สามารถสังเกตได้ตลอดทั้งคืน สิ้นปี ดาวพฤหัสบดีเริ่มหยุดนิ่งแล้วกลับมาเคลื่อนที่เดินหน้าเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลัง

บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีแบ่งได้เป็นหลายส่วนตามริ้วที่พาดในแนวขนานกับเส้นศูนย์สูตร ริ้วคล้ำเรียกว่าแถบ (belt) ริ้วสว่างเรียกว่าเขต (zone) ซ้อนกับบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ เขตศูนย์สูตร (equatorial) เขตร้อน (tropical) เขตอบอุ่น (temperate) และเขตขั้วดาว (polar) ทั้งซีกเหนือและใต้ 

วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2566
ดาวเคราะห์ วันที่ โชติมาตร (อันดับความสว่าง)
ดาวเสาร์ 27 สิงหาคม+0.4
ดาวเนปจูน 19 กันยายน+7.8
ดาวพฤหัสบดี พฤศจิกายน-2.9
ดาวยูเรนัส 14 พฤศจิกายน+5.6
ดาวอังคาร --


ดาวเสาร์


ช่วงแรกดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล มองเห็นอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ วันที่ 22 มกราคม ดาวศุกร์ผ่านมาอยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 0.6° ปลายเดือนดาวเสาร์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนเริ่มสังเกตได้ยาก ดาวเสาร์ผ่านตำแหน่งร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นช่วงที่ย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

ต้นเดือนมีนาคม ดาวเสาร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ปลายเดือนพฤษภาคม ดาวเสาร์ทำมุม 90° โดยอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ จึงเห็นอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลาเช้ามืด

วันที่ 27 สิงหาคม 2566 ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในรอบปี สว่างที่โชติมาตร +0.4 ปลายเดือนพฤศจิกายน ดาวเสาร์ทำมุมตั้งฉากโดยห่างไปทางทิศตะวันออกของดวงอาทิตย์ จึงเห็นอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลาพลบค่ำ

กราฟความสว่างของดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 5 ดวง (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดาวยูเรนัส


ตลอดปีนี้ดาวยูเรนัสอยู่ในกลุ่มดาวแกะ มีดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตก สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำตลอดช่วง เดือนแรกของปี ดาวยูเรนัสห่างดวงอาทิตย์เป็นมุม 90° ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดาวศุกร์ผ่านมาอยู่ใกล้ในวันที่ 31 มีนาคม เมื่อถึงกลางเดือนเมษายน ดาวยูเรนัสเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนเริ่มสังเกตได้ยาก อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในเดือนพฤษภาคม

ต้นเดือนมิถุนายน ดาวยูเรนัสเริ่มมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอให้สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวยูเรนัสมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจนกระทั่งตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนสิงหาคม และอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2566 สว่างที่โชติมาตร +5.6 มีขนาดเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตร 3.8 พิลิปดา

ดาวเนปจูน


ช่วงแรกดาวเนปจูนอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ มีความสว่างน้อย จำเป็นต้องสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ โดยปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตก ค่ำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ดาวศุกร์ผ่านมาอยู่ใกล้กันที่ระยะห่างเพียง ลิปดา แต่สังเกตได้ยากเนื่องจากความความสว่างที่ต่างกันมาก หลังจากนั้นดาวเนปจูนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนหายลับไปจากท้องฟ้าเวลาเช้ามืด

ดาวเนปจูนอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในเดือนมีนาคม เริ่มสังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออกในราวกลางเดือนเมษายน โดยเข้าสู่กลุ่มดาวปลา และมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนมิถุนายน

ปีนี้ดาวเนปจูนอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 18-19 กันยายน 2566 สว่างที่โชติมาตร +7.8 มีขนาดเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตร 2.4 พิลิปดา หลังจากนั้นเริ่มสังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนธันวาคม

แผนที่แสดงตำแหน่งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน โดยมีเส้นบอกตำแหน่งทุกวันแรกของเดือน (1 = มกราคม 2566, 2 = กุมภาพันธ์ 2566,... , 13 = มกราคม 2567, 14 = กุมภาพันธ์ 2567) ขนาดของดาวในภาพสอดคล้องกับความสว่าง ดาวดวงเล็กที่สุดในแผนที่สำหรับดาวเนปจูนมีโชติมาตร 9 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)