สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคา 21 มิถุนายน 2563

สุริยุปราคา 21 มิถุนายน 2563

1 มิถุนายน 2563
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 มิถุนายน 2563
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
     วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 เกิดสุริยุปราคาวงแหวน ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ บังดวงอาทิตย์ไม่มิด มีลักษณะปรากฏคล้ายวงแหวน เราเห็นสุริยุปราคาชนิดนี้ได้เมื่ออยู่ในแนวเส้นทางแคบ ๆ ตามศูนย์กลางเงาดวงจันทร์ที่ลากผ่านผิวโลก สุริยุปราคาครั้งนี้แนวคราสวงแหวนเริ่มต้นที่สาธารณรัฐคองโกในทวีปแอฟริกา ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซูดานใต้ เอธิโอเปีย เอริเทรีย จากนั้นลงสู่ทะเลแดง ผ่านตะวันออกกลาง เยเมน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน 

     แนวคราสวงแหวนเคลื่อนผ่านปากอ่าวโอมานซึ่งเชื่อมกับอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดีย แล้วเข้าสู่ปากีสถาน  อินเดีย จีน และไต้หวัน แล้วไปสิ้นสุดในมหาสมุทรแปซิฟิก นอกชายฝั่งทางทิศใต้ของเกาะกวม จุดกลางคราสของสุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้อยู่ในรัฐอุตตราขัณฑ์ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 38 วินาที สำหรับที่จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของแนวคราสเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนานประมาณ นาทีเศษ

     สุริยุปราคาครั้งนี้เงามัวของดวงจันทร์สัมผัสผิวโลกระหว่างเวลา 10:46 16:34 น. ตามเวลาประเทศไทย ศูนย์กลางเงาที่ทำให้เกิดคราสวงแหวนสัมผัสผิวโลกระหว่างเวลา 11:48 15:32 น. บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ส่วนใหญ่ของแอฟริกา ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป เอเชีย ตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย บางส่วนทางเหนือของออสเตรเลีย ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก


ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 21 มิถุนายน 2563
เหตุการณ์เวลาพิกัด
1. เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลก10:45:59.9ละติจูด  1° 02.1′ ลองจิจูด  34° 24.7′ E
2. ศูนย์กลางเงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลก11:48:27.4ละติจูด  1° 16.1′ ลองจิจูด  17° 48.0′ E
3. กึ่งกลางคราส (ขนาดอุปราคา 0.99401)13:40:05.4ละติจูด 30° 31.2′ ลองจิจูด  79° 40.0′ E
4. ศูนย์กลางเงาคราสวงแหวนออกจากผิวโลก15:31:41.7ละติจูด 11° 28.2′ ลองจิจูด 147° 35.3′ E
5. เงามัวออกจากผิวโลก16:34:03.8ละติจูด  9° 10.5′ ลองจิจูด 130° 58.0′ E


     ประเทศไทยสามารถสังเกตสุริยุปราคาในวันนี้ได้โดยเห็นเป็นแบบบางส่วน คือ ดวงอาทิตย์แหว่งเนื่องจากถูกดวงจันทร์บังไปบางส่วน โดยต้องใช้แผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์ หรืออาศัยการฉายแสงอาทิตย์ลงบนฉากรับภาพ เส้นทางคราสวงแหวนอยู่ห่างไปทางทิศเหนือของประเทศไทย ภาคเหนือจึงเห็นดวงอาทิตย์แหว่งลึกมากกว่าภาคอื่น กรุงเทพฯ เกิดสุริยุปราคาบางส่วนระหว่างเวลา 13:11 – 16:10 น. โดยดวงอาทิตย์แหว่งลึกที่สุดเวลา 14:49 น. หากวัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์ไปครึ่งดวง หรือคิดเป็นพื้นที่ 39.5% ของวงกลมดวงอาทิตย์

ภาพจำลองสุริยุปราคาขณะดวงอาทิตย์ถูกบังลึกที่สุด (เวลาประเทศไทย) 

     ตารางต่อไปนี้แสดงผลการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเมื่อสังเกตที่กรุงเทพฯ และอำเภอเมืองของทุกจังหวัด

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 21 มิถุนายน 2563
สถานที่ เริ่ม บังเต็มที่ สิ้นสุด
เวลามุมเงยเวลามุมเงยมุมทิศขนาดพื้นที่เวลามุมเงย
กระบี่13:21 70°14:47 53° 299° 0.321  20.7%15:59 37°
กรุงเทพมหานคร13:11 74°14:49 54° 291° 0.505  39.5%16:10 35°
กาญจนบุรี13:07 76°14:46 55° 291° 0.506  39.6%16:08 36°
กาฬสินธุ์13:16 73°14:54 50° 287° 0.612  51.7%16:16 32°
กำแพงเพชร13:02 79°14:44 56° 288° 0.580  48.0%16:09 37°
ขอนแก่น13:13 74°14:53 51° 287° 0.606  51.0%16:15 33°
จันทบุรี13:19 71°14:54 50° 292° 0.485  37.3%16:12 33°
ฉะเชิงเทรา13:13 74°14:50 53° 291° 0.509  39.9%16:11 34°
ชลบุรี13:13 73°14:50 53° 291° 0.498  38.7%16:10 34°
ชัยนาท13:07 76°14:47 55° 289° 0.546  44.1%16:10 36°
ชัยภูมิ13:12 74°14:51 52° 288° 0.580  48.0%16:14 33°
ชุมพร13:14 72°14:47 54° 296° 0.396  28.0%16:04 36°
เชียงราย12:58 81°14:43 57° 283° 0.687  60.7%16:10 37°
เชียงใหม่12:57 81°14:41 58° 285° 0.647  55.9%16:09 38°
ตรัง13:25 68°14:49 52° 299° 0.311  19.8%16:00 36°
ตราด13:21 70°14:55 50° 292° 0.477  36.5%16:12 32°
ตาก13:00 79°14:43 57° 287° 0.590  49.1%16:09 37°
นครนายก13:12 74°14:50 53° 290° 0.525  41.7%16:11 34°
นครปฐม13:09 75°14:47 54° 291° 0.504  39.4%16:09 36°
นครพนม13:18 71°14:57 49° 286° 0.653  56.5%16:18 30°
นครราชสีมา13:14 73°14:52 52° 289° 0.556  45.2%16:13 33°
นครศรีธรรมราช13:24 69°14:50 52° 297° 0.341  22.6%16:02 35°
นครสวรรค์13:06 77°14:46 55° 289° 0.561  45.8%16:10 36°
นนทบุรี13:11 75°14:49 54° 291° 0.508  39.8%16:10 35°
นราธิวาส13:37 64°14:56 48° 298° 0.298  18.6%16:03 33°
น่าน13:03 79°14:46 55° 284° 0.660  57.5%16:12 36°
บึงกาฬ13:13 74°14:53 51° 285° 0.671  58.7%16:16 32°
บุรีรัมย์13:17 72°14:55 50° 289° 0.565  46.3%16:15 32°
ปทุมธานี13:10 75°14:49 54° 291° 0.514  40.5%16:10 35°
ประจวบคีรีขันธ์13:13 73°14:48 54° 294° 0.441  32.7%16:07 36°
ปราจีนบุรี13:13 74°14:51 52° 290° 0.522  41.4%16:12 34°
ปัตตานี13:33 65°14:55 49° 298° 0.305  19.3%16:03 33°
พระนครศรีอยุธยา13:10 75°14:48 54° 290° 0.524  41.6%16:10 35°
พะเยา12:59 80°14:43 57° 284° 0.666  58.1%16:11 37°
พังงา13:18 71°14:46 54° 299° 0.330  21.6%15:59 37°
พัทลุง13:27 68°14:51 51° 298° 0.317  20.4%16:01 35°
พิจิตร13:05 77°14:47 55° 288° 0.586  48.7%16:11 36°
พิษณุโลก13:04 78°14:46 55° 287° 0.597  50.0%16:11 36°
เพชรบุรี13:10 74°14:48 54° 292° 0.481  36.9%16:08 36°
เพชรบูรณ์13:08 76°14:49 54° 288° 0.591  49.3%16:12 35°
แพร่13:01 79°14:45 56° 285° 0.636  54.6%16:11 36°
ภูเก็ต13:20 70°14:45 54° 299° 0.312  19.8%15:57 38°
มหาสารคาม13:15 73°14:54 50° 288° 0.603  50.6%16:16 32°
มุกดาหาร13:19 71°14:57 49° 287° 0.626  53.4%16:18 30°
แม่ฮ่องสอน12:52 83°14:38 60° 284° 0.655  56.8%16:07 40°
ยโสธร13:19 71°14:56 49° 288° 0.599  50.2%16:17 31°
ยะลา13:35 65°14:55 48° 298° 0.296  18.4%16:02 33°
ร้อยเอ็ด13:17 72°14:55 50° 288° 0.602  50.6%16:16 31°
ระนอง13:14 72°14:45 54° 297° 0.376  26.0%16:02 37°
ระยอง13:16 72°14:52 52° 292° 0.479  36.7%16:11 34°
ราชบุรี13:09 75°14:47 54° 292° 0.493  38.2%16:08 36°
ลพบุรี13:09 75°14:48 54° 290° 0.538  43.2%16:11 35°
ลำปาง12:59 80°14:43 57° 285° 0.636  54.6%16:10 37°
ลำพูน12:57 81°14:41 58° 285° 0.641  55.2%16:09 38°
เลย13:08 76°14:49 53° 286° 0.628  53.6%16:13 34°
ศรีสะเกษ13:21 70°14:57 48° 289° 0.580  48.0%16:17 30°
สกลนคร13:16 72°14:55 50° 286° 0.640  55.0%16:17 31°
สงขลา13:30 66°14:52 50° 298° 0.309  19.6%16:02 34°
สตูล13:30 66°14:51 50° 299° 0.287  17.6%15:59 35°
สมุทรปราการ13:12 74°14:49 53° 291° 0.502  39.2%16:10 35°
สมุทรสงคราม13:10 75°14:47 54° 292° 0.491  38.0%16:09 36°
สมุทรสาคร13:11 75°14:48 54° 291° 0.497  38.7%16:09 35°
สระแก้ว13:16 72°14:53 51° 290° 0.521  41.3%16:13 33°
สระบุรี13:11 75°14:49 53° 290° 0.532  42.6%16:11 35°
สิงห์บุรี13:08 76°14:48 54° 290° 0.539  43.3%16:10 35°
สุโขทัย13:02 79°14:45 56° 287° 0.599  50.2%16:10 37°
สุพรรณบุรี13:08 76°14:47 54° 290° 0.524  41.7%16:10 36°
สุราษฎร์ธานี13:19 71°14:48 53° 297° 0.356  24.1%16:02 36°
สุรินทร์13:19 71°14:56 50° 289° 0.565  46.3%16:16 31°
หนองคาย13:11 75°14:52 52° 286° 0.649  56.1%16:15 33°
หนองบัวลำภู13:11 75°14:51 52° 286° 0.625  53.3%16:14 33°
อ่างทอง13:09 75°14:48 54° 290° 0.530  42.3%16:10 35°
อำนาจเจริญ13:20 70°14:58 48° 288° 0.605  50.9%16:18 30°
อุดรธานี13:12 74°14:52 52° 286° 0.635  54.4%16:15 33°
อุตรดิตถ์13:02 79°14:45 56° 286° 0.620  52.7%16:11 36°
อุทัยธานี13:06 77°14:46 55° 289° 0.551  44.7%16:10 36°
อุบลราชธานี13:22 69°14:59 48° 288° 0.589  49.0%16:18 30°


หมายเหตุ :
    มุมเงย คือ มุมที่วัดจากขอบฟ้า จุดจอมฟ้าหรือจุดเหนือศีรษะมีมุมเงย 90°
    มุมทิศ คือ มุมที่วัดจากทิศเหนือ กวาดไปทางขวามือ ทิศเหนือ 0° ทิศตะวันออก 90° ทิศใต้ 180° และทิศตะวันตก 270°
    ขนาด คือ ขนาดความลึกของสุริยุปราคา แสดงสัดส่วนที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์โดยวัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าดวงอาทิตย์ยิ่งแหว่งเว้ามาก (0.5 หมายถึงดวงอาทิตย์ถูกบังครึ่งดวง เป็นต้น)
    พื้นที่ คือ พื้นที่วงกลมของดวงอาทิตย์ในส่วนที่ถูกดวงจันทร์บัง


การสังเกตสุริยุปราคา


โดยทั่วไป ไม่ว่าในยามปรกติ ขณะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน หรือสุริยุปราคาวงแหวน ห้ามดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เนื่องจากแสงอาทิตย์ที่สว่างเจิดจ้าสามารถทำอันตรายต่อดวงตาของเราได้ แต่บางครั้งเราอาจสังเกตดวงอาทิตย์ได้เป็นเวลาสั้น ๆ ขณะที่ดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้นเหนือขอบฟ้าหรือใกล้ตกลับขอบฟ้า ซึ่งเป็นช่วงที่แสงอาทิตย์ต้องเดินทางผ่านบรรยากาศเป็นระยะทางไกลกว่าเมื่ออยู่สูงบนท้องฟ้า

สุริยุปราคาบางส่วน 26 ธันวาคม 2562 (จาก วิมุติ วสะหลาย)

สุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ประเทศไทยเกิดสุริยุปราคาขณะดวงอาทิตย์อยู่สูงจากขอบฟ้า มีความสว่างมาก จึงห้ามดูด้วยตาเปล่า และอย่าดูผ่านกล้องที่ไม่มีแผ่นกรองแสงปิดหน้ากล้อง หากมีเมฆเป็นม่านมาบังให้ดูเหมือนจะสังเกตได้ก็ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยง เนื่องจากเมฆมีความหนาไม่คงที่ เมื่อลมพัดเมฆผ่านไป แสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอันตรายต่อดวงตา

วิธีการสังเกตที่ปลอดภัยคือใช้แผ่นกรองแสง ได้แก่ แว่นสุริยะ หน้ากากหรือแว่นตาที่ช่างเชื่อมโลหะใช้ (ต้องทึบมากพอ ดูแล้วสบายตา ที่แนะนำคือเบอร์ 14 ขึ้นไป) ฟิล์มเอกซ์เรย์ซ้อนกันหลายชั้น (ใช้ได้เฉพาะส่วนมืดที่ไม่มีภาพเท่านั้น) และอย่าดูต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรดูครั้งละไม่เกิน นาที แล้วหยุดพัก

แว่นสุริยะของสมาคมดาราศาสตร์ไทย 

วัสดุกรองแสงที่ไม่ปลอดภัยและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กระจกรมควัน (เป็นวิธีหนึ่งที่แนะนำกันในอดีต แต่ในทางปฏิบัติ การรมควันอาจไม่สม่ำเสมอ อาจเกิดรอยขีดข่วน หรือเสี่ยงต่อการแตก) แว่นกันแดด กระดาษห่อลูกอม แผ่นดิสเก็ตต์ แผ่นซีดี ฟิล์มเอกซ์เรย์ส่วนที่มีภาพ ฟิล์มถ่ายรูป ฯลฯ อย่านำมาใช้ดูดวงอาทิตย์ แม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะมีความสามารถในการกรองแสงย่านแสงขาว แต่รังสีอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านได้ ไม่ปลอดภัยต่อดวงตา รวมทั้งให้ภาพที่ไม่คมชัด


นอกจากการสังเกตทางตรง ยังมีวิธีสังเกตทางอ้อม คือการให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาไปตกที่ฉากรับภาพ หากไม่มีกล้องโทรทรรศน์ สามารถสังเกตได้ด้วยหลักการของกล้องรูเข็ม โดยนำกระดาษมาเจาะเป็นรูขนาด เซนติเมตร แล้วเอาไปประกบกับกระจกเงาด้วยเทปกาว จากนั้นนำกระจกที่ปิดให้เหลือช่องขนาดเล็กนี้ไปรับแสงอาทิตย์ ให้แสงสะท้อนไปที่ผนัง ดวงกลมที่ปรากฏบนผนังคือภาพดวงอาทิตย์ มีลักษณะแหว่งเว้าตามสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า


ขนาดของภาพดวงอาทิตย์บนฉากแปรผันตามระยะห่างระหว่างกระจกกับฉากรับภาพ โดยที่ระยะ เมตรจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาดประมาณ มิลลิเมตร ดังนั้นที่ระยะห่าง 10 เมตร จะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาด เซนติเมตร วิธีนี้ทำให้เราสามารถสังเกตสุริยุปราคาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อดวงตา แต่พึงระวังอย่าให้ใครที่เดินผ่านไปมามีโอกาสหันมามองแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมาจากกระจก

สถิติการเกิดสุริยุปราคาวงแหวน


สุริยุปราคาวงแหวนมีโอกาสเกิดได้มากกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง สถิติสุริยุปราคาในระยะเวลา 5,000 ปี นับตั้งแต่ 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 3000 มีสุริยุปราคาเกิดขึ้นทั้งหมด 11,898 ครั้ง เป็นสุริยุปราคาบางส่วน 35.3% สุริยุปราคาวงแหวน 33.2% สุริยุปราคาเต็มดวง 26.7% และแบบผสม (พื้นที่บางส่วนในแนวเส้นทางสุริยุปราคาเห็นเป็นแบบเต็มดวง ที่เหลือเห็นเป็นแบบวงแหวน) 4.8% ส่วนระยะเวลาที่เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนานที่สุดคือ 12.4 นาที

 
สุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 (จาก Brocken Inaglory)

สุริยุปราคาวงแหวนอาจไม่น่าสนใจเท่าสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้แผ่นกรองแสงช่วยลดทอนแสงอาทิตย์ ท้องฟ้าไม่มืดสลัวลงอย่างในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ อย่างในช่วงที่เริ่มและสิ้นสุดการเป็นวงแหวน ขณะที่ขอบดวงจันทร์แตะขอบดวงอาทิตย์ หลายครั้งเราจะสังเกตได้ว่าพื้นผิวที่ไม่เรียบบนดวงจันทร์ก่อให้เกิดแนวสว่างของขอบดวงอาทิตย์ที่ไม่ต่อเนื่อง ในสุริยุปราคาเต็มดวงรู้จักกันดีในชื่อลูกปัดเบลี โดยมองเห็นจุดสว่างหลายจุดตรงบริเวณแนวรอยต่อระหว่างขอบดวงจันทร์กับขอบดวงอาทิตย์เรียงต่อกันดูคล้ายลูกปัด

สุริยุปราคาวงแหวนในประเทศไทย


ประเทศไทยเห็นสุริยุปราคาวงแหวนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยแนวคราสวงแหวนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดสุริยุปราคาวงแหวนที่เส้นกลางแนวคราสในประเทศไทยนานประมาณ นาทีครึ่ง ครั้งถัดไปจะเห็นได้ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2574 โดยบริเวณที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนอยู่ทางภาคใต้ตอนล่าง ผ่านตอนล่างสุดของตรัง ส่วนใหญ่ของสตูลและสงขลา ทางใต้ของปัตตานี ยะลา และเกือบทั้งหมดของนราธิวาส เกิดสุริยุปราคาวงแหวนที่เส้นกลางแนวคราสในยะลานานประมาณ นาทีครึ่ง

แนวคราสวงแหวนผ่านประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2585 โดยแนวคราสเกือบจะซ้อนทับกับเมื่อปี 2574 แต่เห็นได้เป็นบริเวณกว้างกว่า เริ่มตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของสุราษฎร์ธานีลงไป และเกิดหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นไม่นาน ที่เส้นกลางแนวคราสบริเวณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนานประมาณ นาทีเศษ

แนวสุริยุปราคาวงแหวนที่ผ่านประเทศไทย เราจะเห็นสุริยุปราคาวงแหวนได้เมื่ออยู่ภายในแนวนี้ 

สุริยุปราคาครั้งถัดไป


หลังจากครั้งนี้ สุริยุปราคาที่เห็นได้ในประเทศไทยครั้งถัดไปเป็นสุริยุปราคาในวันที่ 20 เมษายน 2566 โดยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน มีเพียงส่วนน้อยของประเทศที่เห็นได้ เช่น ภาคใต้ตอนล่าง บางส่วนของตราด และด้านตะวันออกเฉียงใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถเห็นได้) และดวงอาทิตย์แหว่งไม่มาก หลังจากนั้นต้องรออีก ปี คนไทยทั่วประเทศจึงจะมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาอีกครั้งในวันที่ สิงหาคม 2570 จากข้อมูลนี้ แสดงว่าสุริยุปราคาในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 จะเป็นโอกาสสุดท้ายในรอบหลายปีสำหรับคนในกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะหลังจากนั้นต้องรอนานถึง ปี จึงจะมีโอกาสสังเกตสุริยุปราคาได้อีกครั้ง

ดูเพิ่ม


 สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2563
 เชิญชมสุริยุปราคาบางส่วน เหนือท้องฟ้าเมืองไทย จุดสูงสุดอาคาร คิง เพาเวอร์ มหานคร