สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ : 7 ตุลาคม 2544

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ : 7 ตุลาคม 2544

1 ตุลาคม 2544
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 20 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
คืนวันอาทิตย์ที่ ตุลาคม 2544 ชาวไทยในหลายจังหวัดของภาคเหนือมีโอกาสจะมองเห็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ได้พร้อมๆ กับนักดาราศาสตร์เกือบทั้งทวีป ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองและเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้สำหรับประเทศไทย ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งก่อนเป็นการบังดาวพฤหัสบดีซึ่งมองเห็นได้จากภาคใต้ แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน คือ บริเวณที่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้เป็นบริเวณภาคเหนือ โดยที่ส่วนอื่นของประเทศจะมองเห็นเพียงแค่การที่ดวงจันทร์ปรากฏอยู่ใกล้กับดาวเสาร์เท่านั้น

แนวการเคลื่อนที่ของดาวเสาร์เทียบกับดวงจันทร์ที่มองเห็นได้จากเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต แสดงให้เห็นว่าบริเวณใต้เขตที่มองเห็นการบังกันจะมองเห็นดาวเสาร์ปรากฏอยู่ห่างจากดวงจันทร์ไปทางขวามือ 

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ครั้งล่าสุดที่มองเห็นในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ มกราคม 2541 ครั้งนั้นมองเห็นการบังได้เกือบทั่วประเทศยกเว้นบางส่วนของภาคเหนือ สำหรับปรากฏการณ์ในวันที่ ตุลาคมนี้ ยังสามารถมองเห็นได้จากอินเดีย จีน ด้านตะวันออกของรัสเซีย เอเชียตะวันออก และตอนเหนือของญี่ปุ่น ดวงจันทร์ในคืนที่เกิดปรากฏการณ์นี้มีความสว่างมาก ส่วนสว่างของดวงจันทร์ที่มากถึง 76 เปอร์เซนต์อาจทำให้สว่างจนกลบแสงสว่างของดาวเสาร์ลงไปบ้าง

แผนที่แสดงบริเวณ จังหวัดภาคเหนือที่สามารถมองเห็นดวงจันทร์บังดาวเสาร์ในคืนวันที่ ตุลาคม 2544 เส้นประในแนวเฉียงแสดงเขตใต้สุดที่สามารถเห็นดวงจันทร์บังดาวเสาร์แบบบางส่วน เส้นทึบแสดงเขตที่มองเห็นการบังกันทั้งดวง บริเวณที่อยู่เหนือเส้นทึบ คือบริเวณที่สามารถมองเห็นดาวเสาร์หายลับไปเบื้องหลังดวงจันทร์ได้ ผู้สังเกตที่อยู่บริเวณระหว่างเส้นประกับเส้นทึบ จะเห็นดาวเสาร์ถูกบังบางส่วน ขณะที่ผู้สังเกตใต้เส้นประจะไม่สามารถมองเห็นการบังกันได้ แผนที่นี้ลงตำแหน่งอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด จะเห็นว่าที่อำเภอเมืองในจังหวัดน่านและแพร่จะไม่เห็นการบังกัน แต่จะเห็นได้ในเขตอำเภออื่นที่อยู่เหนือเส้นประ 

ดวงจันทร์และดาวเสาร์จะขึ้นเหนือท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 21.30 น. จากนั้นจึงเคลื่อนสูงห่างจากขอบฟ้าพร้อมกับระยะห่างระหว่างกันที่ลดลง พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมองเห็นดาวเสาร์และดวงจันทร์เข้าใกล้กันมากที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ หากว่าอยู่ในพื้นที่ของประเทศที่มีโอกาสมองเห็นการบังกัน คือ จังหวัดภาคเหนือ กล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายปานกลางถึงสูงจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถมองเห็นดาวเสาร์ค่อยๆ หายลับไปเบื้องหลังดวงจันทร์ในเวลาประมาณเที่ยงคืนและกลับมาปรากฏอีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์ในอีกราว 20 นาทีถัดมา สำหรับช่วงเวลาที่ดวงจันทร์บังดาวเสาร์นั้นขึ้นอยู่กับระยะห่างของสถานที่สังเกตการณ์กับแนวขอบเขตของการมองเห็น (ดูแผนที่) คือยิ่งอยู่ใกล้แนวขอบเขตมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้ช่วงเวลาของการบดบังลดลง

เวลาที่เกิดปรากฏการณ์


สำหรับบริเวณเขตที่มองเห็นการบังกันในคืนวันนี้ จะเห็นดาวเสาร์หายลับไปเบื้องหลังดวงจันทร์ในเวลาประมาณเที่ยงคืน โดยเวลาจะแตกต่างจากนี้อยู่ไม่กี่นาที ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่สังเกตการณ์ ขณะที่เกิดการบังกันนั้นดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 30-40 องศาทางทิศตะวันออก เวลาและลักษณะของการเกิดใน อำเภอเมือง ของ จังหวัดภาคเหนือเป็นไปตามตาราง

เวลาของการเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ คืนวันที่ ตุลาคม 2544
จังหวัดลักษณะที่เห็นเวลา
เชียงใหม่ดาวเสาร์ถูกบังทั้งดวง00:07:26-00:27:00 น.
แม่ฮ่องสอนดาวเสาร์ถูกบังทั้งดวง00:02:55-00:31:55 น.
เชียงรายดาวเสาร์ถูกบังทั้งดวง00:06:49-00:32:33 น.
ลำพูนดาวเสาร์ถูกบังทั้งดวง00:08:21-00:25:22 น.
พะเยาดาวเสาร์ถูกบังทั้งดวง00:09:36-00:27:20 น.
ลำปางดาวเสาร์ถูกบังบางส่วนบังลึกที่สุดเวลา 00:16:51 น.
น่านดวงจันทร์เฉียดใกล้ดาวเสาร์ใกล้กันมากที่สุดเวลา 00:18:27 น.
แพร่ดวงจันทร์เฉียดใกล้ดาวเสาร์ใกล้กันมากที่สุดเวลา 00:17:04 น.


หมายเหตุ เนื่องจากดาวเสาร์มีวงแหวนผู้เขียนจึงใช้ผลคำนวณที่แสดงเวลาที่ขอบดวงจันทร์อยู่ตรงกึ่งกลางของดาวเสาร์เสมือนดาวเสาร์เป็นจุด แทนการใช้เวลาที่ขอบดวงจันทร์สัมผัสขอบดาวเสาร์ ดังนั้นผู้ที่ดูปรากฏการณ์จากอำเภอเมืองของจังหวัดเหล่านี้ จะเห็นดาวเสาร์ถูกบังครึ่งดวง ณ เวลาที่แสดงในตาราง ผลคำนวณจากโปรแกรม WinOccult 1.4 ของ International Occultation Timing Association (IOTA) สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.lunar-occultations.com/iota