สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 24 มีนาคม 2566

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 24 มีนาคม 2566

17 มีนาคม 2566 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
ปีนี้มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยหนึ่งครั้ง เป็นดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในเวลาหัวค่ำของวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 สามารถสังเกตได้ทั่วประเทศ เมื่อเริ่มการบัง ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ด้วยแสงสนธยา ดวงจันทร์และดาวศุกร์อยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก การบังเริ่มขึ้นเมื่อดาวศุกร์อยู่ที่ขอบด้านบนซึ่งเป็นด้านมืดของดวงจันทร์ ช่วงสิ้นสุดการบัง ดาวศุกร์จะโผล่ออกมาจากหลังดวงจันทร์ที่ด้านล่างซึ่งเป็นด้านสว่าง

ดาวศุกร์สว่างมาก เราจึงสามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะในช่วงสิ้นสุดการบัง ชัดเจนยิ่งขึ้นหากดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ กล้องที่มีกำลังขยายสูงสามารถมองเห็นดาวศุกร์เป็นดวงสว่าง ใช้เวลาเกือบ นาที หรือนานกว่าเล็กน้อย นับตั้งแต่ขอบดวงจันทร์เริ่มสัมผัสขอบด้านหนึ่งไปถึงขอบอีกด้านหนึ่งของดาวศุกร์ ระยะเวลาดังกล่าวมีความยาวนานไม่เท่ากันสำหรับแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับแนวการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ที่สัมพัทธ์กับดวงจันทร์

ขณะเกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์มีส่วนสว่าง เปอร์เซ็นต์ ดาวศุกร์มีส่วนสว่าง 80 เปอร์เซ็นต์ ขนาดปรากฏ 13.5 พิลิปดา ขณะนั้นดาวศุกร์อยู่ห่างโลกประมาณ 1.239 หน่วยดาราศาสตร์ เวลาเริ่มและสิ้นสุดการบังแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ กรุงเทพฯ เริ่มเวลา 18:37 น. สิ้นสุดเวลา 19:43 น.

แนวการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ขณะเกิดการบังเมื่อมองจากสถานที่ต่าง ๆ ช่วงเริ่มการบัง ท้องฟ้ายังสว่างด้วยแสงสนธยา ช่วงสิ้นสุดการบัง ท้องฟ้ามืดลงแล้ว แต่ดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 24 มีนาคม 2566
สถานที่เริ่มบังมุมเงยสิ้นสุดการบังมุมเงย
กรุงเทพฯ18:3732°19:4316°
ขอนแก่น18:3830°19:4913°
เชียงใหม่18:3136°19:4818°
นครราชสีมา18:3831°19:4614°
นครศรีธรรมราช18:4636°19:2919°
ประจวบคีรีขันธ์18:3832°19:3918°
ระยอง18:3931°19:4216°
สงขลา18:5227°19:2419°
อุบลราชธานี18:4127°19:4911°


หมายเหตุ หากสามารถระบุพิกัดที่แน่นอนของผู้สังเกตบนแผนที่โลก นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณเวลาของการบังได้แม่นยำในระดับวินาที แต่ในทางปฏิบัติ ผู้สังเกตกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในที่เดียวกับพิกัดที่นำมาคำนวณ การแสดงเวลาถึงระดับวินาทีจึงอาจไม่สมเหตุสมผล ตารางนี้จึงระบุเวลาถึงแค่ระดับนาที เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการสังเกตปรากฏการณ์ ผู้สังเกตในจังหวัดอื่น ๆ สามารถคาดคะเนได้จากผลการคำนวณของจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง

ภาคเหนือเริ่มปรากฏการณ์ก่อนภาคอื่น ๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดปรากฏการณ์ช้าที่สุด นอกเหนือจากประเทศไทย หลายประเทศก็มีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์นี้ในวันเดียวกัน เช่น บางส่วนของแอฟริกาและตะวันออกกลาง (เกิดในเวลากลางวัน) รวมทั้งบางส่วนของทวีปเอเชีย ประเทศไทยสามารถสังเกตได้ทั่วประเทศ ภาคใต้ตอนล่างมีระยะเวลาของการบังสั้นที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้ขอบเขตด้านทิศใต้ของแนวที่เงาของดวงจันทร์พาดผ่าน

แผนที่บริเวณที่เห็นการบังกัน (ภายในพื้นที่ล้อมรอบด้วยเส้นสีน้ำเงิน) (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งถัดไปที่สังเกตได้ในประเทศไทยเป็นดวงจันทร์บังดาวเสาร์ในเช้ามืดวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ส่วนดวงจันทร์บังดาวศุกร์ครั้งถัดไปที่สังเกตได้ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในหัวค่ำวันที่ 14 กันยายน 2569

ดูเพิ่ม


 ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่เห็นได้ในประเทศไทย พ.ศ. 2555-2584