สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวอังคาร 17 เมษายน 2564

ดวงจันทร์บังดาวอังคาร 17 เมษายน 2564

7 เมษายน 2564 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
คืนวันเสาร์ที่ 17 เมษายน 2564 หากท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆมาก เราจะมีโอกาสสังเกตดวงจันทร์บังดาวอังคาร ซึ่งมองเห็นได้ทั่วประเทศ วันนั้นดวงจันทร์อยู่ในช่วงของการเป็นเสี้ยวข้างขึ้น ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาววัวบนท้องฟ้าทิศตะวันตก การบังเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ ทุ่มเศษ ดาวอังคารจะหายลับไปที่ขอบด้านมืดของดวงจันทร์ (ด้านบนเมื่อเทียบกับระนาบขอบฟ้า) ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าประมาณ 30° หลังจากนั้นราวหนึ่งชั่วโมง ดาวอังคารจะกลับมาปรากฏที่ขอบอีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านสว่างพร้อมกับมุมเงยที่ลดลงใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น

การบัง


การบัง (occultation) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าบังกัน ส่วนใหญ่ใช้กับวัตถุที่มีขนาดปรากฏใหญ่กว่ามาบังวัตถุที่มีขนาดปรากฏเล็กกว่า ดวงจันทร์บังดาวเกิดขึ้นบ่อยสำหรับดาวที่มีความสว่างน้อย แต่สำหรับดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ที่สว่างมาก นาน ๆ เราจึงจะมีโอกาสเห็นได้สักครั้งหนึ่ง

ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์เกิดขึ้นทุกปี ปีละหลายครั้ง แต่สำหรับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนโลก ไม่สามารถมองเห็นได้บ่อย ขึ้นอยู่กับแนวการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เทียบกับดาวเคราะห์ที่ถูกบัง บางครั้งการบังเกิดขึ้นในเวลากลางวัน ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ หรือสังเกตได้ยาก พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีโอกาสเห็นดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ได้ครั้งเดียวจากทั้งหมด ครั้ง

การสังเกตดวงจันทร์บังดาวทำได้ดีสำหรับดวงจันทร์ข้างขึ้น เนื่องจากดวงจันทร์จะหันขอบด้านมืดเข้าบังดาวก่อน ดาวจะหายไปเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์ หลังจากนั้นดาวดวงเดิมจะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านสว่าง แต่ถ้าเป็นข้างแรมจะกลับกัน

การสังเกตในประเทศไทย


ดวงจันทร์บังดาวอังคารในวันที่ 17 เมษายน 2564 แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยเห็นปรากฏการณ์ไม่พร้อมกัน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของดาวอังคารเบื้องหลังดวงจันทร์ก็แตกต่างกันเล็กน้อย  ตารางด้านล่างแสดงผลการคำนวณสำหรับกรุงเทพ และอำเภอเมืองของบางจังหวัด จังหวัดอื่น ๆ สามารถคาดคะเนได้จากจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน หรือหากทราบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (ละติจูด/ลองจิจูด) ของสถานที่ สามารถหาเวลาคร่าว ๆ ได้จากแผนที่ด้านล่าง

ดวงจันทร์บังดาวอังคาร 17 เมษายน 2564
สถานที่ เริ่มบังสิ้นสุดการบัง
เวลา มุมเงยมุมทิศเวลา มุมเงยมุมทิศ
กรุงเทพฯ20:13.834°291°21:25.318°292°
ขอนแก่น20:19.231°290°21:20.118°291°
เชียงใหม่20:13.937°288°21:15.523°290°
นครราชสีมา20:17.032°290°21:23.217°292°
นครศรีธรรมราช20:13.432°294°21:30.815°294°
ประจวบคีรีขันธ์20:12.434°292°21:27.717°293°
ภูเก็ต20:11.534°295°21:30.416°294°
ระยอง20:14.832°292°21:26.816°293°
สงขลา20:14.931°295°21:31.714°294°
อุดรธานี20:20.132°289°21:17.919°291°
อุบลราชธานี20:21.829°290°21:22.015°292°


ภาพจำลองแสดงตำแหน่งดาวอังคารเทียบกับดวงจันทร์ในคืนวันที่ 17 เมษายน 2564 เมื่อสังเกตจากกรุงเทพฯ ขณะใกล้จะเริ่มการบัง (ซ้าย) และหลังจากสิ้นสุดการบังไม่นาน (ขวา) (จาก Stellarium)

แผนที่แสดงเวลาเริ่มและสิ้นสุดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร จากภาพจะเห็นว่าด้านตะวันตกของประเทศเริ่มเห็นการบังก่อนบริเวณอื่น ภาคใต้ตอนล่างสิ้นสุดการบังช้าที่สุด หากทราบตำแหน่งของสถานที่สังเกตการณ์ (ละติจูด/ลองจิจูด) สามารถคาดคะเนเวลาเริ่มและสิ้นสุดการบังได้จากแผนภาพนี้ (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

การบังครั้งนี้คาดว่าจะสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อดูผ่านกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยึดและขาตั้งที่มั่นคง ดาวอังคารอยู่ใกล้มากพอที่เราจะเห็นเป็นดวงกลมในกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร ช่วงที่ดาวอังคารกำลังหายไปที่ขอบด้านมืดของดวงจันทร์ กล้องจะสามารถส่องเห็นดวงจันทร์ใช้เวลาประมาณ 15 วินาที นับตั้งแต่จังหวะที่ขอบดวงจันทร์เริ่มแตะขอบดาวอังคาร จนกระทั่งดวงจันทร์ค่อย ๆ บังดาวอังคารจนมิดหมดทั้งดวง ส่วนการสังเกตด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตาน่าจะพบว่าดาวอังคารหรี่แสงลงแล้วหายลับไปเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์

ช่วงสิ้นสุดปรากฏการณ์เมื่อดาวอังคารโผล่ออกมาจากด้านสว่างของดวงจันทร์ ตาเปล่าจะสังเกตได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์ที่สะท้อนแสงอาทิตย์ทำให้ดวงจันทร์สว่างจนแทบจะกลบแสงของดาวอังคาร อุปสรรคอีกประการหนึ่งก็คือดวงจันทร์กับดาวอังคารจะเคลื่อนลงต่ำเข้าใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น นอกจากประเทศไทยแล้ว หลายพื้นที่บริเวณใกล้เคียงก็มีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์ในวันนี้ เช่น อินเดีย เกือบทั้งหมดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะในทะเลอันดามัน และบางส่วนทางใต้ของจีน

การบังในอนาคต


หลังจากปีนี้ ต้องรออีกนานประเทศไทยจึงมีโอกาสสังเกตดวงจันทร์บังดาวอังคารบนท้องฟ้าเวลากลางคืนได้อีกครั้ง โดยครั้งถัดไปจะเกิดในวันที่ 22 มีนาคม 2583 เห็นได้เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างนั้นจะมีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ดวงอื่นให้เห็นได้หลายครั้ง ที่ใกล้ที่สุดคือดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในค่ำวันที่ พฤศจิกายน 2565 และดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในค่ำวันที่ 24 มีนาคม 2566

ดูเพิ่ม


 ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่เห็นได้ในประเทศไทย พ.ศ. 2555-2584