สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารัน 14 มีนาคม 2559

ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารัน 14 มีนาคม 2559

11 มีนาคม 2559
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 1 สิงหาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
คืนวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 4-5 ทุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ จะมีโอกาสสังเกตดวงจันทร์เคลื่อนเข้าบังดาวอัลเดบารันหรือดาวตาวัว ซึ่งนับเป็นดาวที่สว่างดวงหนึ่งบนท้องฟ้า กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยึดมั่นคงจะสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ดี

การบัง

การบัง (occultation) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าบังกัน ส่วนใหญ่ใช้กับวัตถุที่มีขนาดปรากฏใหญ่มาบังวัตถุที่มีขนาดปรากฏเล็ก ดวงจันทร์บังดาวเกิดขึ้นบ่อย ๆ สำหรับดาวที่มีความสว่างน้อย แต่สำหรับดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ที่สว่างมาก นาน ๆ เราจึงจะมีโอกาสเห็นได้สักครั้งหนึ่ง

การสังเกตดวงจันทร์บังดาวทำได้ดีสำหรับดวงจันทร์ข้างขึ้น เนื่องจากดวงจันทร์จะหันขอบด้านมืดเข้าบังดาวก่อน ดาวฤกษ์จะหายวับไปทันทีเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์ หลังจากนั้นดาวดวงเดิมจะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านสว่าง แต่ถ้าเป็นข้างแรมจะกลับกัน

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารันที่จะเกิดในคืนวันที่ 14 มีนาคม ดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างขึ้น มีพื้นที่สว่างร้อยละ 38 มองเห็นเป็นเสี้ยว ด้านมืดของดวงจันทร์จึงเคลื่อนเข้าบังดาวก่อน

ดาวอัลเดบารัน

ดาวอัลเดบารันเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว ชื่อดาวมาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า "ผู้ติดตาม" เข้าใจว่าหมายถึงนักล่าที่ติดตามฝูงนก ซึ่งแทนด้วยกระจุกดาวลูกไก่ ดาวอัลเดบารันมีสีส้ม เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ อายุมาก อยู่ห่างโลกประมาณ 65 ปีแสง ช่วง พ.ศ. 2558-2561 มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารันเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งหมด 49 ครั้ง (นับรวมทุกครั้ง โดยไม่สนใจว่าเห็นได้ที่ใดและเป็นเวลากลางคืนหรือไม่) ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2559 เป็นครั้งแรกที่สามารถสังเกตได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืนของประเทศไทย

เมื่อสังเกตจากประเทศไทย

การบังครั้งนี้สามารถสังเกตได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ ทุ่มเศษ ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ต่ำทางทิศตะวันตก เวลาหัวค่ำ ก่อนการบัง ดาวอัลเดบารันจะปรากฏอยู่ห่างไปทางด้านบนของดวงจันทร์ เมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์จะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวมากขึ้น พร้อมกับมีมุมเงยลดต่ำลง


ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารัน 14 มีนาคม 2559
สถานที่เริ่มสิ้นสุด
เวลามุมเงยเวลามุมเงย
กรุงเทพฯ22:2717°23:01
ขอนแก่น22:2017°23:06
จันทบุรี22:3115°23:00
เชียงใหม่22:1523°23:0611°
นครราชสีมา22:2417°23:04
นครพนม22:1916°23:08
ประจวบคีรีขันธ์22:3615°22:5411°
สุโขทัย22:1921°23:0510°
อุบลราชธานี22:2314°23:06


ตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวอัลเดบารันเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ในคืนวันที่ 14 มีนาคม 2559 เวลาที่แสดงในภาพเป็นเวลาเริ่มและสิ้นสุดการบัง  


คืนนั้นดวงจันทร์ควรจะสว่างพอสมควร แต่คาดว่าตาเปล่าอาจพอจะสังเกตเห็นได้ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มบัง การสังเกตจะทำได้ดียิ่งขึ้นเมื่อใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยึดและขาตั้ง ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ในลักษณะนี้ทำให้เราเห็นการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เทียบกับดาวฤกษ์ได้ชัดเจน

หลังจากครั้งนี้ ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารันที่เห็นได้ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2559 โดยเห็นได้เฉพาะภาคเหนือในช่วงที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งสังเกตได้ แต่ช่วงที่เริ่มบัง ท้องฟ้าจะสว่างขึ้นจนอาจกลบแสงของดาวอัลเดบารัน

แผนภาพแสดงเวลาเริ่มและสิ้นสุดการบัง จากแผนภาพจะเห็นว่าภาคเหนือเริ่มเห็นการบังก่อนภาคอื่น ๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดการบังช้าที่สุด จังหวัดที่อยู่ทางใต้ของประจวบคีรีขันธ์ลงไปไม่เห็นการบัง