สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อีซาเดินหน้าภารกิจเบพิโคลอมโบ

อีซาเดินหน้าภารกิจเบพิโคลอมโบ

16 มี.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานเบพิโคลอมโบ ภารกิจสำรวจดาวพุธขององค์การอีซาได้รับไฟเขียวให้เริ่มดำเนินการได้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้การก่อสร้างยานได้เริ่มขึ้นแล้ว และมีกำหนดการจะปล่อยสู่อวกาศในเดือนสิงหาคมปี 2556

ดาวพุธเคยมียานไปสำรวจเพียงลำเดียวเท่านั้น คือ ยานมาริเนอร์ 10 ของนาซา ซึ่งไปสำรวจตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 และหลังจากนั้นก็ไม่มียานลำไหนไปอีกเลย ยานเบพิโคลอมโบจึงเป็นยานลำแรกในรอบสามทศวรรษที่จะไปเยือนดาวเคราะห์ดวงแรกในระบบสุริยะนี้อีกครั้ง

ภารกิจจะประกอบด้วยดาวเทียมสองดวง ดวงแรกคือ เมอร์คิวรีพลาเนทารีออร์บิเตอร์ (MPO--Mercury Planetary Orbiter) ทำหน้าที่สำรวจสภาพทั่วไปของดาวเคราะห์ อีกดวงหนึ่งคือ เมอร์คิวรีแมกนีโตสเฟียริกออร์บิเตอร์ (MMO--Mercury Magnetospheric Orbiter) สำรวจสนามแม่เหล็กรอบดาว 

การสร้างยานลำนี้ได้รับความร่วมมือจากญี่ปุ่น ยานเอ็มพีโออยู่ในความรับผิดชอบขององค์การอีซา ส่วนเอ็มเอ็มโออยู่ในความรับผิดชอบขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือจาซา (JAXA) อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนขับเคลื่อนและพลังงาน เรียกว่าเอ็มทีเอ็ม (MTM--Mercury Transfer Module) มีหน้าที่จ่ายพลังงานเชื้อเพลิงและขับเคลื่อนยานก็อยู่ในความรับผิดชอบของอีซาเช่นกัน

หลังจากปล่อยขึ้นสู่อวกาศแล้ว ยานจะใช้เวลาถึง ปีจึงไปถึงดาวพุธ  การเดินทางไปถึงดาวพุธและปรับเส้นทางเข้าสู่วงโคจรเสถียรรอบดาวพุธเป็นขั้นตอนยาก เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ ระหว่างการเดินทาง ยานมีวิธีที่ชาญฉลาดในการใช้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ โลก ดาวศุกร์ และดาวพุธเอง ร่วมกับแรงขับเคลื่อนของเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า-สุริยะ วิธีใช้พลังงานผสมจากหลายแหล่งแบบนี้เคยได้ประสบผลสำเร็จมาแล้วกับภารกิจสมาร์ต-1 ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอีซา 

เมื่อยานไปถึงดาวพุธ ส่วนขับเคลื่อนจะแยกออกไป ส่วนดาวเทียมสองดวงที่ยังเกาะติดกันอยู่จะใช้เครื่องยนต์จรวดที่ติดอยู่บนดาวเทียมปรับเส้นทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธในแนวข้ามขั้ว หลังจากนั้นเอ็มพีโอจะแยกออกไปแล้วลดระดับวงโคจรให้ต่ำลงโดยอาศัยแรงขับดันทางเคมี ยานจะมีอายุภารกิจการสำรวจนานไม่น้อยกว่า ปีโลก

การปฏิบัติการกับยานอวกาศที่อยู่ในสภาพแวดล้อมรอบดาวพุธเป็นงานที่ท้าทายเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก รังสีจากดวงอาทิตย์ที่กระทบบนตัวยานจะแรงกว่าที่กระทบบนดาวเทียมรอบโลกถึงสิบเท่า ยิ่งกว่านั้นพื้นผิวของดาวพุธที่มีอุณหภูมิสูงถึง 470 องศาเซลเซียสยังสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ขึ้นมา แถมยังแผ่รังสีความร้อนออกมาด้วย ดังนั้นยานจะต้องออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ทนความร้อนสุดขีดนี้ได้ 
เบพิโคลอมโบ จะเป็นยานสำรวจดาวพุธลำแรกในรอบ 3 ทศวรรษ

เบพิโคลอมโบ จะเป็นยานสำรวจดาวพุธลำแรกในรอบ 3 ทศวรรษ

บริเวณขั้วใต้ของดาวพุธ ถ่ายโดยยานมาริเนอร์ 10 (ภาพจาก NASA/JPL/Northwestern)

บริเวณขั้วใต้ของดาวพุธ ถ่ายโดยยานมาริเนอร์ 10 (ภาพจาก NASA/JPL/Northwestern)

ที่มา: