ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดวงจันทร์ของโลกเราเริ่มคึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ มียานอวกาศมากมายจากหลายชาติเดินทางไปสำรวจทั้งลงจอดและโคจรรอบ ในเดือนมกราคมนี้ยิ่งน่าสนใจ เพราะมียานอวกาศเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ถึงสองลำ ลำหนึ่งเป็นยานสัญชาติอเมริกัน อีกลำหนึ่งสัญชาติญี่ปุ่น มีเป้าหมายเดียวกันคือไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์
ยานเพเรกรินเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ของแอสโทรโบติก ยานได้ขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดวัลแคนของยูไนเต็ตลอนช์อัลไลอันซ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม นับเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ของเอกชนสหรัฐลำแรก เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซากับเอกชน ซึ่งจะเป็นการเปิดมิติใหม่ของการสำรวจอวกาศของนาซาโดยดึงเอกชนมาร่วมด้วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายและยังเป็นการปูทางไปสู่การทำธุรกิจอวกาศในอนาคต
บนยานเพเรกรินนอกจากจะมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีแคปซูลที่บรรจุเถ้าอัฐิของลูกค้าบริษัทราว 70 ราย ในจำนวนนี้รวมถึง จีน รอดเดินเบอรี ผู้สร้างภาพยนต์เรื่องสตาร์เทร็ก เจมส์ ดูฮัน และ นิเชล นิโคลส์ นักแสดง และ อาร์เทอร์ ซี คลาร์ก นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง
หากทำสำเร็จเพเรกรินจะเป็นยานอเมริกันลำแรกที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้นับจากยุคอะพอลโล
แต่หนทางของเพเรกรินไม่ราบรื่นเพียงไม่นานหลังจากแยกตัวออกจากจรวด วิศวกรเริ่มพบว่ายานไม่หันไปในทิศทางที่กำหนด แผงเซลสุริยะจึงไม่หันเข้าหาดวงอาทิตย์อย่างถูกต้อง ต่อมาจึงพบว่าเกิดการรั่วไหลของเชื้อเพลิงและถังออกซิไดเซอร์ทะลุ แก๊สที่รั่วออกมาเป็นเหตุให้เกิดแรงผลักจนทำให้ยานหันทิศไปในทิศทางอื่น แม้วิศวกรจะสั่งให้ยานปรับทิศทางให้กลับมาถูกต้องได้ แต่ยานก็ได้เสียเชื้อเพลิงไปมากจนไม่เพียงพอในการใช้ควบคุมการลงจอดบนดวงจันทร์ นั่นหมายความว่าภารกิจของยานไม่อาจลุล่วงได้
แอสโทรโบติกจึงตัดสินใจให้ยานเพเรกรินกลับมาตกใส่โลกหลังจากที่ยานเข้าอ้อมหลังดวงจันทร์แล้ว ก็มุ่งหน้ากลับโลกโดยมีเป้าหมายคือมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ซึ่งเป็นจุดยอดนิยมสำหรับการให้ยานหรือดาวเทียมที่ไม่ใช้แล้วพุ่งใส่เพราะเป็นจุดที่ห่างไกลชุมชนที่สุด
การติดต่อระหว่างยานกับศูนย์ควบคุมขาดหายไปในเวลาตีสี่เศษของวันที่19 มกราคม แสดงว่ายานได้ตกลงสู่บริเวณที่ต้องการอย่างถูกต้องและมอดไหม้ไปในบรรยากาศ
ทางด้านญี่ปุ่นผลลัพธ์เป็นสิ่งตรงข้าม องค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา ได้ส่งยานชื่อ ยานมีชื่อว่า สลิม (SLIM--The Smart Lander for Investigating the Moon) โดยยานได้ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนปีที่แล้ว ยานได้เข้าโคจรรอบดวงจันทร์มาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 โดยมีวงโคจรเริ่มต้นเป็นวงรี มีจุดใกล้พื้นผิวดวงจันทร์ที่สุด 600 กิโลเมตร และมีจุดไกลดวงจันทร์ที่สุด 4,000 กิโลเมตร จากนั้นจึงค่อยปรับวงโคจรให้เล็กลงและกลมมากขึ้น จนถึงวันที่ 14 มกราคม วงโคจรของยานก็เป็นวงกลมที่มีระยะห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ 600 กิโลเมตร
ยานสลิมไม่ใช่ยานลำแรกของญี่ปุ่นที่พยายามจะลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อปีที่แล้ว ยานอวกาศจากไอสเปซ บริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นได้ส่งยาน ฮะกุโตะ-อาร์ เอ็ม 1 (HAKUTO-R M1) ไปลงจอดบนดวงจันทร์ แต่ภารกิจล้มเหลว ยานได้พุ่งชนดวงจันทร์จนเสียหาย
สลิมมีเป้าหมายหลักสองอย่างข้อแรกคือ ลงจอดบนดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลที่ไม่เป็นแค่การลงจอดที่ไหนก็ได้ แต่มีการระบุเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าต้องลงจอดห่างจากจุดที่กำหนดไว้ไม่เกิน 100 เมตร เป้าหมายของสลิมในครั้งนี้อยู่ในทะเลแห่งน้ำอมฤต (Mare Nectaris)
เป้าหมายที่สองคือเพื่อทดสอบแนวคิดในการออกแบบยานชนิดเบา ยานสลิมเป็นยานที่ออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ มีความสูง 2 เมตร กว้าง 1.5 เมตร มีน้ำหนักเพียง 120 กิโลกรัม การที่ทำให้ยานมีน้ำหนักเบาได้ ย่อมหมายถึงการส่งจรวดทำได้ง่ายกว่าและบ่อยครั้งกว่า
ยานสลิมมีวิธีลงจอดที่พิสดารกว่ายานลำอื่นในช่วงที่ยานลดระดับลงจนสัมผัสพื้นดิน ยานจะลงมาในแบบตั้งตรงเหมือนยานทั่วไป แต่เมื่อใกล้ถึงพื้น ยานจะเอียงตัวลง 45 องศา เมื่อขาคู่แรกสัมผัสพื้นแล้วจึงค่อยพลิกลงไปจอดให้ตั้งอยู่ได้ด้วยขาสี่ขาในแบบเอนนอน วิธีนี้ทำให้ยานมีเสถียรภาพในการลงจอดดีขึ้น ลงจอดได้แม้แต่ในพื้นที่ที่มีความลาดชันถึง 15 องศา
ยานสลิมได้ลงจอดลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อเวลา22:20 นาฬิกาของวันที่ 19 มกราคมตามเวลาประเทศไทย แต่ ณ ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่า ยานได้ลงจอดลงตำแหน่งอย่างแม่นยำตามที่วางเป้าหมายไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังพบว่าแผงเซลสุริยะไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า นั่นทำให้ยานมีแหล่งพลังงานเพียงแหล่งเดียวคือแบตเตอรี ซึ่งจะหมดไปภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ห้าที่นำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จต่อจากสหภาพโซเวียตสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย
ยานเพเรกริน
บนยานเพเรกริน
หากทำสำเร็จ
แต่หนทางของเพเรกรินไม่ราบรื่น
แอสโทรโบติกจึงตัดสินใจให้ยานเพเรกรินกลับมาตกใส่โลก
การติดต่อระหว่างยานกับศูนย์ควบคุมขาดหายไปในเวลาตีสี่เศษของวันที่
ทางด้านญี่ปุ่น
ยานสลิมไม่ใช่ยานลำแรกของญี่ปุ่นที่พยายามจะลงจอดบนดวงจันทร์
สลิมมีเป้าหมายหลักสองอย่าง
เป้าหมายที่สองคือ
ยานสลิมมีวิธีลงจอดที่พิสดารกว่ายานลำอื่น
ยานสลิมได้ลงจอดลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อเวลา
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ห้าที่นำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จต่อจากสหภาพโซเวียต