สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝุ่นดวงจันทร์อันตราย โจทย์ใหญ่ของการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง

ฝุ่นดวงจันทร์อันตราย โจทย์ใหญ่ของการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง

8 พ.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลากว่าสี่สิบปีมาแล้วที่โครงการอะพอลโลสิ้นสุดไป ยานลำสุดท้ายที่นำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์คืออะพอลโล 17 จากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนไปเยือนดวงจันทร์อีกเลย แต่ดวงจันทร์กำลังจะกลายเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อองค์กรอวกาศกำลังดำเนินโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งในอนาคตอันใกล้ ไม่เพียงแต่องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น องค์การอวกาศยุโรป รวมถึงรัสเซียและจีนก็คิดจะส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน โดยเฉพาะทางองค์การอีซานั้นถึงกับวางแผนจะสร้าง "หมู่บ้าน" บนดวงจันทร์เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์เป็นเวลานานให้ดี โดยเฉพาะผลกระทบเมื่อต้องอยู่ในสภาพความโน้มถ่วงต่ำ แต่เมื่อไม่นานมานี้นักเภสัชวิทยา นักพันธุกรรมศาสตร์ และนักธรณีศาสตร์ เริ่มกังวลในผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป นั่นคือผลจากการสัมผัสหรือสูดฝุ่นดวงจันทร์

บนดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ พื้นผิวของดวงจันทร์จึงถูกกระหน่ำด้วยอุกกาบาตน้อยใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลานับพันล้านปี ทำให้พื้นผิวชั้นบนของดวงจันทร์ป่นเป็นผงละเอียด นอกจากนี้อนุภาคประจุไฟฟ้าที่พัดมากับลมสุริยะก็ปะทะพื้นผิวได้โดยตรง ทำให้ฝุ่นดวงจันทร์เป็นฝุ่นที่มีประจุไฟฟ้าซึ่งทำให้เกาะติดสิ่งต่าง ๆ ได้ดีรวมถึงชุดมนุษย์อวกาศ

แม้ในขณะที่เดินบนดวงจันทร์ นักบินอวกาศจะสวมชุดอวกาศมิดชิด ไม่สัมผัสถูกฝุ่น แต่เมื่อกลับเข้าสู่ยานและถอดชุดอวกาศออก จะมีโอกาสสัมผัสและสูดฝุ่นดวงจันทร์ที่ติดมากับชุดได้ ในอดีตเคยมีนักบินอวกาศที่มีประสบการณ์จากกรณีเช่นนี้มาแล้ว บันทึกของ แฮร์ริสัน ชมิตต์ นักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโล 17 เขียนไว้ว่าตนมีอาการคล้ายกับเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จาม น้ำตาไหล และเจ็บคอ หลังจากที่สูดเอาฝุ่นดวงจันทร์ที่ติดมากับชุดเข้าไป

แม้อาการดังกล่าวจะเป็นเพียงอาการระยะสั้น แต่นักวิจัยต้องการทราบว่าฝุ่นดวงจันทร์จะส่งผลระยะยาวอย่างไรบ้าง โดยเทียบกับการศึกษาผลจากการสูดฝุ่นภูเขาไฟและฝุ่นจากเหมืองถ่านหินซึ่งมีความละเอียดคล้ายฝุ่นดวงจันทร์ พบว่าทำให้มีอาการหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงฮืดฮาด ระคายเคืองตา และเนื้อเยื่อปอดเป็นแผล นอกจากนี้งานวิจัยบางฉบับยังแสดงว่าฝุ่นยังทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์เสียหาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกลายพันธุ์หรือจนถึงเป็นมะเร็งปอดได้ 

การศึกษาในห้องทดลองพบว่าฝุ่นบนโลกที่ถูกป่นจนเป็นแป้งจนคล้ายฝุ่นดวงจันทร์เมื่อสัมผัสถูกเซลล์ปอดของมนุษย์และเซลล์ประสาทของหนู เซลล์ดังกล่าวจะตายไปเป็นส่วนใหญ่ และดีเอ็นเอก็ถูกทำลายไปเป็นอย่างมาก 

ผลการวิจัยเหล่านี้ย่อมแสดงว่าฝุ่นบนดวงจันทร์เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ไปเหยียบดวงจันทร์ ผลเหล่านี้อาจเกิดขึ้นบนดาวเคราะห์หินดวงอื่นอย่างดาวอังคารและดาวพุธด้วยเช่นกัน 

หนทางหนึ่งที่จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงดังกล่าวคือ ในยานหรือที่พักอาศัยบนดวงจันทร์ต้องมีห้องคั่นกลางระหว่างประตูชั้นนอกกับห้องภายใน เมื่อมนุษย์อวกาศกลับเข้ามาในยานแล้ว ก็จะต้องมาเป่าล้างฝุ่นออกจากชุดด้วยน้ำหรือสารประกอบอื่นที่จะลบประจุที่อยู่ในฝุ่นออกให้หมดก่อนที่จะเข้าสู่ห้องชั้นใน มิเช่นนั้นมนุษย์อวกาศก็คงต้องคาดหน้ากากป้องกันตลอดเวลาที่ไม่ได้สวมชุดอวกาศ

รอยเท้านักบินอวกาศจากโครงการอะพอลโล

รอยเท้านักบินอวกาศจากโครงการอะพอลโล (จาก NASA)

แฮร์ริสัน ชมิตต์ นักบินยานลงดวงจันทร์ของภารกิจอะพอลโล 17 ขณะกำลังตักตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ภาพถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2515

แฮร์ริสัน ชมิตต์ นักบินยานลงดวงจันทร์ของภารกิจอะพอลโล 17 ขณะกำลังตักตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ภาพถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2515 (จาก NASA)

เท้าของบัซ อัลดริน จากภารกิจอะพอลโล แสดงพื้นของดวงจันทร์ที่ละเอียดจนเหมือนทะเลแป้ง

เท้าของบัซ อัลดริน จากภารกิจอะพอลโล แสดงพื้นของดวงจันทร์ที่ละเอียดจนเหมือนทะเลแป้ง (จาก NASA)

ฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์เช่นนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีระบบป้องกันที่ดีมิให้มนุษย์สูดเอาฝุ่นดวงจันทร์เข้าไป

ฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์เช่นนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีระบบป้องกันที่ดีมิให้มนุษย์สูดเอาฝุ่นดวงจันทร์เข้าไป (จาก ESA/Foster + Partners)

ที่มา: