คณะผู้ควบคุมภารกิจของจันทรยาน 3 ต่างไชโยโห่ร้องเมื่อยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ (จาก ISRO webcast) วันนี้ (23 สิงหาคม 2566) อินเดียกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ส่งยานไปลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ "ความสำเร็จในครั้งนี้ไม่ใช่ของอินเดียเท่านั้น แต่เป็นของมนุษยชาติทั้งมวล" นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวหลังจากทราบข่าวความสำเร็จ จันทรยาน 3 เป็นยานอวกาศในโครงการจันทรยาน ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย ดำเนินการโดยองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยจรวดวีแอลเอ็ม 3 การเดินทางของจันทรยาน 3 ใช้วิธีที่ประหยัดพลังงาน ใช้จรวดที่มีกำลังขับปานกลางก็เพียงพอที่จะพาไปดวงจันทร์ได้แล้ว เพียงแต่จะต้องเลือกใช้เส้นทางที่ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย เมื่อขึ้นสู่อวกาศได้ ยานได้โคจรรอบโลกเพื่อปรับวงโคจรห้าครั้ง เพื่อให้รีขึ้นและมีความเร็วมากขึ้น จนกระทั่งถึงวันที่ 25 กรกฎาคม ยานก็เข้าสู่วงโคจรที่มีจุดไกลโลกที่สุดถึง 120,000 กิโลเมตร ในวันที่ 1 สิงหาคม ยานได้จุดจรวดอีกครั้งเพื่อเบี่ยงออกจากวงโคจรรอบโลกและมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ เมื่อยานไปถึงดวงจันทร์ในวันที่ 9 สิงหาคม ก็เข้าโคจรอบดวงจันทร์ด้วยวงโคจรเริ่มต้นที่รีมาก ยานโคจรรอบดวงจันทร์พร้อมกับปรับวงโคจรห้าครั้งเพื่อให้เล็กลงและกลมขึ้นทีละน้อย จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม วงโคจรของจันทรยาน 3 มีความสูงจากพื้นผิว 153x163 กิโลเมตร ซึ่งเกือบเป็นวงกลมแล้ว ในขั้นตอนต่อมา ยานได้จุดจรวดอีกหลายครั้งเพื่อปรับวงโคจรให้รีขึ้นและเล็กลงโดยมีจุดใกล้ดวงจันทร์ที่สุดลงมาต่ำถึง 30 กิโลเมตรเหนือพื้นดินและมีจุดไกลสุดอยู่ที่ 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นวงโคจรสุดท้ายก่อนที่การแยกตัวเพื่อลงจอดจะเริ่มขึ้น แนววิถีของจันทรยาน 3 (จาก Vani Gupta/India Today) จันทรยาน 3 ประกอบด้วยส่วนประกอบหลักสามส่วน ได้แก่ มอดูลขับดัน ยานลงจอดชื่อ วิกรม (Vikram) และรถสำรวจคันเล็กอีกคันหนึ่งที่เกาะยานวิกรมเพื่อลงไปวิ่งบนดวงจันทร์ ชื่อว่า ปรัชญาน (Pragyan) น้ำหนักรวมทั้งสามส่วน 3,900 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ยานวิกรมได้จุดจรวดเพื่อแยกตัวออกจากมอดูลขับดัน ยานค่อย ๆ ลดระดับลงต่ำลงจนกระทั่งสัมผัสพื้นดินเมื่อเวลาประมาณ 19:34 น. ของวันที่23 สิงหาคมตามเวลาประเทศไทย ที่ตำแหน่งละติจูด 69.367 องศาใต้ ลองจิจูด 32.3481 องศาตะวันออก ขณะนี้ยานวิกรมอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์เรียบร้อยแล้ว ยานทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จะปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์เป็นเวลาสองสัปดาห์ ส่วนมอดูลขับดันจะยังอยู่บนวงโคจรและยังปฏิบัติภารกิจอยู่ได้ราวสามเดือน อินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนากิจการอวกาศในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้อินเดียยังสามารถทำได้ด้วยงบที่ต่ำกว่าที่ชาติตะวันตกใช้หลายเท่า ภารกิจจันทรยาน 3 นี้ใช้งบเพียง 75 ล้านดอลลาร์เท่านั้น (ภาพยนตร์เรื่องอินเตอร์สเตลลาร์ใช้งบสร้างประมาณ 165 ล้านดอลลาร์ ภาพยนตร์เรื่องไททานิกใช้งบสร้างประมาณ 200 ล้านดอลลาร์) ในปี 2557 อินเดียเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ และในปีหน้า อินเดียจะส่งมนุษย์อวกาศของตนเองไปโคจรรอบโลก ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะเป็นชาติที่สี่ในโลกที่นำมนุษย์ของตนเองขึ้นสู่อวกาศได้ต่อจากโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน ในปี 2562 อินเดียได้ส่งยานจันทรยาน 2 ไปลงจอดบนดวงจันทร์ แต่ภารกิจล้มเหลว ยานลงจอดได้ขาดการติดต่อไปเพียงไม่นานก่อนจะถึงเวลาลงสัมผัสพื้น