สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

24 ม.ค. 54

แคทริน ออโรรา เกรย์ เด็กหญิงชาวแคนาดาวัย 10 ขวบ ได้ค้นพบซูเปอร์โนวา เอสเอ็น 2010 แอลที ในภาพดาราจักรยูจีซี 3378 ที่ถ่ายโดย เดวิน เลน เมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมา นับเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ค้นพบซูเปอร์โนวา

21 ธ.ค. 53

นักวิทยาศาสตร์กาตาร์ ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นเป็นครั้งแรก ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อ กาตาร์-1 บี (Qatar-1b) เป็นบริวารของดาวฤกษ์ชนิดเคที่อยู่ห่างจากโลก 550 ปีแสง จัดเป็นประเภท "พฤหัสร้อน" ของแท้ มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 10 เปอร์เซ็นต์ โคจรรอบดาวฤกษ์ภายในเวลาเพียง 1.4 วัน  

21 ธ.ค. 53

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ยานมาร์สโอดิสซีย์ ได้ทำลายสถิติของการเป็นยานสำรวจดาวอังคารที่ปฏิบัติภารกิจยาวนานที่สุด ยานลำนี้ได้โคจรรอบดาวอังคารเป็นวันที่ 3,340 แล้ว ลบสถิติแชมป์เก่าอย่างยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์ที่ปฏิบัตหน้าที่ระหว่างปี 2540-2549

16 ธ.ค. 53


ยานวอยเจอร์ 1 ของนาซา ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 17,400 ล้านกิโลเมตร ได้ตรวจพบว่า ความเร็วตามแนวรัศมีของพลาสมาที่พัดมาจากดวงอาทิตย์ได้ลดลงจนเหลือศูนย์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า ยานได้พ้นเขตอิทธิพลของลมสุริยะแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่บริเวณอวกาศระหว่างดาว (interstellar space) ภายใน 4 ปีข้างหน้า ปัจจุบันยานวอยเอเจอร์ 1 มีอายุถึง 33 ปีแล้ว

7 ธ.ค. 53

กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราพบว่า ซูเปอร์โนวา เอสเอ็น 1979 ซี ในดาราจักรเอ็ม 100 ซึ่งค้นพบเมื่อราว 30 ปีก่อน กำลังกลายเป็นหลุมดำ นับเป็นหลุมดำที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยพบมา

2 ธ.ค. 53

ยานแคสซีนี-ไฮเกนส์ ตรวจพบออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เบาบางของดวงจันทร์เรียของดาวเสาร์ ออกซิเจนที่พบมีความหนาแน่นประมาณ 1 พันล้านโมเลกุลต่อลูกบาศก์ฟุต ซึ่งเบาบางกว่าที่พบบนโลกกว่าห้าล้านล้านเท่า สันนิษฐานว่าออกซิเจนบนเรียเกิดขึ้นจากน้ำแข็งบนดวงจันทร์ที่ถูกอนุภาคพลังงานสูงในสนามแม่เหล็กดาวเสาร์พุ่งชน

18 พ.ย. 53

อลัน แซนเดจ นักดาราศาสตร์อเมริกัน เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ด้วยโรคมะเร็งที่ตับอ่อน แซนเดจเคยเป็นผู้ช่วยสำรวจให้เอ็ดวิน ฮับเบิล และเป็นคนแรกที่คำนวณหาค่าคงตัวฮับเบิลได้อย่างแม่นยำ

10 พ.ย. 53

การศึกษาหนึ่งซึ่งมีรายงานตีพิมพ์ในวารสารซายนส์ฉบับวันที่ กรกฎาคม ระบุว่า โปรตอนมีขนาด 3x10-17 เมตร เล็กกว่าที่นักดาราศาสตร์เคยคาดไว้

14 ต.ค. 53

องค์การนาซาและเอตซี เว็บไซต์ซื้อขายงานฝีมือ ได้ร่วมกันจัดประกวดงานฝีมือที่มีแรงดลใจจากกระสวยอวกาศของนาซา เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่โครงการกระสวยอวกาศจะสิ้นสุดลง ผู้ชนะการประกวดอาจได้เป็นแขกพิเศษของนาซาในการไปชมการปล่อยกระสวยอวกาศ และผลงานของผู้ชนะก็อาจได้เดินทางไปในกระสวยด้วย อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.etsy.com/nasa

11 ต.ค. 53

นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ ชื่อ 2010 TD54 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเข้าเฉียดโลกในระยะเพียงประมาณ 46,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก ในวันที่ 12 ตุลาคม 2553 เวลา 18:14 น. ตามเวลาประเทศไทย คาดว่าวัตถุนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 7 เมตร

10 ต.ค. 53

นักดาราศาสตร์จากโครงการวิจัยดาวเคราะห์ระบบสุริยะอื่นลิก-คาร์เนกี ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ของดาวกลีส 581 (Gliese 581) ที่มีมวลมากกว่าโลกเพียงเล็กน้อยและโคจรอยู่ในระยะที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การดำรงชีวิตพอดี

2 ต.ค. 53

จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยยานฉางเอ๋อ-2 ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ยานลำนี้มีภารกิจทดลองเทคโนโลยีอวกาศต่าง ๆ จะเข้าเฉียดดวงจันทร์ในระยะใกล้มากเพื่อสำรวจพื้นที่สำหรับการลงจอดดวงจันทร์ของยานรุ่นถัดไป ได้แก่ฉางเอ๋อ-3 และ ฉางเอ๋อ-4

29 ก.ย. 53

แมเรียน ไฮดา นักวิทยาศาสตร์จากเนเทอร์แลนด์ สำรวจดาราจักรชนิดก้นหอยแห่งหนึ่ง หลุมดำยักษ์ของดาราจักรนี้อยู่ห่างจากบริเวณศูนย์กลางของดาราจักรถึง 10,000 ปีแสง นักดาราศาสตร์คณะนี้สัณนิษฐานว่าหลุมดำนี้เกิดจากหลุมดำขนาดเล็กกว่าสองหลุมชนกัน อันตรกิริยาที่เกิดขึ้นได้ผลักให้หลุมดำเคลื่อนหนีออกจากศูนย์กลางด้วยความเร็วสูง

22 ก.ย. 53

นักวิทยาศาสตร์จีนรายงานว่า การค้นพบไอไฮดร็อกซีลบนดวงจันทร์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ต้องมีการทบทวนภารกิจฉางเอ๋อ-3 ที่จะนำกล้องโทรทรรศน์อัลตราไวโอเลตไปวางบนพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 2558 เนื่องจากไฮดร็อกซีลทำให้แสงอัลตราไวโอเลตบางความถี่มีการกระเจิง ซึ่งลดทอนประสิทธิภาพของกล้องลงอย่างมาก

21 ก.ย. 53

องค์การนาซาได้ต่ออายุสัญญากับบริษัทโบอิ้งเพื่อให้เป็นผู้สนับสนุนด้านวิศวกรรมให้สถานีอวกาศนานาชาติไปอีก ปี หรือจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 สัญญานี้มีมูลค่า 1,240 ล้านดอลลาร์

18 ก.ย. 53

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเจนีวาได้ค้นพบระบบสุริยะใหม่อีกแห่งหนึ่งโดยการใช้สเปกโทรกราฟฮาร์ปของหอดูดาวอีเอสโอ ระบบสุริยะนี้เป็นของดาวเอชดี 10180 (HD 10180) อยู่ห่างออกไป 137 ปีแสงในกลุ่มดาวงูไฮดรัส มีดาวเคราะห์ที่ยืนยันแน่ชัดแล้ว 5 ดวง และอาจมีมากถึง 7 ดวง นอกจากนี้หนึ่งในจำนวนนี้อาจมีมวลใกล้เคียงโลกมากอีกด้วย

16 ก.ย. 53

เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา มีดาวเคราะห์น้อยสองดวงเฉียดผ่านโลกไป คือ ดาวเคราะห์น้อย 2010 RX30 และ 2010 RF12 ทั้งสองดวงมีขนาด 10-20 เมตร และ 6-14 เมตร เฉียดผ่านโลกไปด้วยระยะ 248,000 กม. และ 79,000 กิโลเมตร ตามลำดับ ดาวเคราะน้อยสองดวงนี้ค้นพบโดยโครงการสำรวจท้องฟ้าแคทาลีนา

19 ส.ค. 53

นักดาราศาสตร์พบดาวแม่เหล็กหรือแมกนิตาร์ดวงใหม่ในกระจุกดาวเวสเตอร์ลันด์ 1 ในกลุ่มดาวแท่นบูชาที่มีมวลมากถึง 40 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งท้าทายทฤษฎีวิวัฒนาการดาวฤกษ์ปัจจุบันที่กล่าวว่า ดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่า 25 เท่าของดวงอาทิตย์จะต้องสิ้นอายุขัยไปเป็นหลุมดำเท่านั้น

8 ส.ค. 53

นักดาราศาสตร์พบว่า แสงเหนือใต้ของดาวเสาร์ มีการผันแปรความเข้มขึ้นลงตามจังหวะของพัลส์คลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาจากดาวเสาร์เอง

3 มิ.ย. 53

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียค้นพบว่า ดาวฤกษ์ในกระจุกดาวเอ็นจีซี 3603 เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเป็นอิสระต่อมวลของดาว มิได้เป็นอัตราส่วนผกผันกับมวลของดาวดังเช่นที่เคยเชื่อกัน