สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

19 พ.ค. 53

พฤษภาคม 2553 เป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของการค้นพบแสงเลเซอร์

11 พ.ค. 53

องค์การอีซาได้ตัดสินใจเลือกทะเลทรายอาตากามาในชิลีเป็นสถานที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์อีแอลที (ELT-Extremely Large Telescope) กล้องนี้มีขนาดของกระจกปฐมภูมิใหญ่ถึง 42 เมตร ซึ่งใหญ่กว่ากล้องที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันถึงสี่เท่า คาดว่ากล้องนี้จะพร้อมใช้งานในปี 2561

11 พ.ค. 53

ริชาร์ด กรอส นักวิจัยจากนาซาได้คำนวณไว้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในชิลีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ อาจทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น 1.26 ไมโครวินาที และอาจทำให้แกนหมุนของโลกบิดไป 2.7 ไมโครพิลิปดา ซึ่งทำให้ตำแหน่งขั้วโลกขยับไปประมาณ 8 เซนติเมตร

11 พ.ค. 53

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล มีอายุครบ 20 ขวบเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา นับจากที่กล้องได้เข้าสู่วงโคจรโดยยานขนส่งอวกาศดิสคัฟเวอรีเมื่อปี 2533 ฮับเบิลได้สำรวจท้องฟ้ามากว่า 930,000 รายการ ถ่ายภาพท้องฟ้าประมาณ 570,000 ภาพของวัตถุท้องฟ้าประมาณ 30,000 แห่ง เทียบเท่ากับข้อมูลจำนวน 45 เทราไบต์ หรือเท่ากับแผ่นดีวีดี 5,800 แผ่น เป็นแหล่งอ้างอิงค้นคว้าในรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากว่า 8,700 ฉบับ

11 พ.ค. 53

นาซาประสบความสำเร็จในการทดลองระบบหนีภัยฉุกเฉินที่จะใช้ในโครงการโอไรอัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

10 พ.ค. 53

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์นพบว่า ราวหนึ่งในสี่ ของกระจุกดาวทรงกลมทั้งหมดที่มีอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือกไม่ได้มีต้น กำเนิดอยู่ในทางช้างเผือก แต่มาจากดาราจักรอื่น

28 เม.ย. 53

นักฟิสิกส์ธรณีจากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ได้เปิดเผยผลการวิจัยว่า โลกเริ่มเกิดกระบวนการไดนาโมซึ่งทำให้เกิดสนามแม่เหล็กคลุมโลกเมื่อราว 3.45 พันล้านปีก่อน หรือหลังจากที่โลกกำเนิดขึ้นเพียงหนึ่งพันล้านปีเท่านั้น และเป็นเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่สิ่งมีชีวิตเริ่มกำเนิดขึ้นบนโลก

25 เม.ย. 53

ลูซิเฟอร์ อุปกรณ์ใหม่ของกล้องแอลบีที ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ผ่านการทดสอบและพร้อมที่จะนำไปติดตั้งใช้งานในต้นปีหน้านี้แล้ว อุปกรณ์นี้เป็นกล้องถ่ายภาพและแยกสเปกตรัมในย่านรังสีอินฟราเรดใกล้ด้วยมุมกว้างและความละเอียดสูงมาก

23 เม.ย. 53

พอล สปูดิส จากสถาบันดวงจันทร์และดาวเคราะห์ในฮูสตัน ได้ประเมินว่าบนดวงจันทร์อาจมีน้ำมากถึงหลายพันล้านตัน

15 เม.ย. 53

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเจนีวา ได้สุ่มสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่ค้นพบด้วยการผ่านหน้าดาวแม่ จำนวน 26 ดวง พบว่าในจำนวนนี้มีถึง 9 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์สวนทางกับทิศทางการหมุนรอบตัวเองของดาวฤกษ์

26 มี.ค. 53

จนถึงวันที่ 26 มีนาคม ยานออปพอร์ทูนิตี ได้แล่นบนพื้นผิวดาวอังคารมาได้รวม 12 ไมล์ (19.3 กิโลเมตร) แล้ว ขณะนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายใหม่คือ หลุมเอนเดฟเวอร์ ซึ่งยังเหลือระยะทางอีก 11 กิโลเมตร ส่วนยานสหายร่วมเดินทางอีกลำหนึ่งคือยานสปิริตเส้นทางไม่สดใสเท่า เพราะติดหล่มทรายไปไหนไม่ได้มาเป็นเวลานานแล้ว ระยะทางที่สปิริตทำได้ก่อนที่จะติดหล่มคือ 5 กิโลเมตร

26 มี.ค. 53

จากการประมวลงานวิจัยต่าง ๆ ในระยะหลัง นักดาราศาสตร์ยืนยันว่า เอกภพขยายตัวด้วยอัตราเร่งจริง สัดส่วนขององค์ประกอบในเอกภพตามความเข้าใจปัจจุบันคือ มวลธรรมดา 5 เปอร์เซ็นต์ สสารมืด 22 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานมืด 73 เปอร์เซ็นต์

22 มี.ค. 53

นักดาราศาสตร์จากสหราชอาณาจักรพบว่า การเกิดแสงวาบรังสีแกมมา มีสนามแม่เหล็กเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การระเบิดชนิดนี้มีพลังงานสูงมาก

22 มี.ค. 53

นักดาราศาสตร์ค้นพบว่า ดาวอัลกอร์ ซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาวหมีใหญ่ มีดาวแคระแดงเป็นดาวสหายหนึ่งดวง มีชื่อว่า อัลกอร์บี

22 มี.ค. 53

โครงการเอ็มเอิร์ท ได้ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงใหม่ที่มีมวล 6.5 เท่าของโลก เป็นบริวารของดาวฤกษ์ชนิดเอ็ม ชื่อ จีเจ 1214 บี ความพิเศษของการค้นพบนี้คือ มันเกิดขึ้นโดยกล้องโทรทรรศน์ 8 กล้องที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 16 นิ้วเท่านั้น

19 มี.ค. 53

นักดาราศาสตร์จากสหราชอาณาจักรและสเปนพบว่า บรรยากาศของดาวอังคารไม่ได้หลุดลอยไปโดยอิทธิพลจากลมสุริยะอย่างต่อเนื่องอย่างเชื่องช้า หากแต่เกิดเป็นระลอกของคลื่นกระแทกที่เกิดจากลมสุริยะช้าปะทะกับลมสุริยะเร็ว ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นกระแทกนี้พัดบรรยากาศของดาวอังคารออกไปได้มากกว่าช่วงที่ไม่เกิดคลื่นกระแทกถึง 2.5 เท่า

22 ก.พ. 53

นักดาราศาสตร์นาซารายงานว่า แหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ในดาราจักรเอ็นจีซี 5408 อาจเป็นหลุมดำมวลปานกลาง ซึ่งเป็นชนิดที่หายากมาก

12 ก.พ. 53

คณะนักดาราศาสตร์นำโดยมะซะยุกิ ทะนะกะ จากหอดูดาวอีโซ ได้สร้างภาพสามมิติของของเอกภพที่มีความลึกที่สุดเท่าที่เคยมีการทำมา ภาพนี้แสดงกระจุกดาราจักรที่ระยะ 6.7 พันล้านปีแสงซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน

12 ก.พ. 53

กล้องวีแอลทีตรวจพบว่า ดาวคู่ วี 455 (V455) อยู่ในช่วงที่ใกล้ระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาชนิด 1 เอ เต็มทีแล้ว

12 ก.พ. 53

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ตั้งชื่อสามัญให้ดาวเคราะห์น้อย 84447 ว่า เจฟฟ์คาไนป์ ตามชื่อของนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน