สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)

ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)

3 ตุลาคม 2556
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 27 กันยายน 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
หมายเหตุ ธันวาคม 2556 ขณะนี้ดาวหางไอซอนได้แตกสลายไปแล้ว ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกต่อไป คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปลายปีนี้เป็นช่วงที่ดาวหางไอซอนจะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด โดยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปลายเดือนพฤศจิกายน และใกล้โลกที่สุดในปลายเดือนธันวาคม 2556 นักดาราศาสตร์คาดหมายว่าไอซอนอาจสว่างถึงระดับที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าจากสถานที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ส่วนจะสว่างมากน้อยเพียงใด เห็นได้ในเมืองใหญ่หรือไม่ ขณะนี้ยังคงไม่สามารถบอกได้แน่ชัด

ดาวหางไอซอน ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ พฤษภาคม 2556 (จาก NASA/ESA/Hubble Heritage Team (STScI/AURA))

ผลการวัดความสว่างของดาวหางตั้งแต่ค้นพบจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ก่อนที่ดาวหางไอซอนจะหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ และเมื่อดาวหางเริ่มปรากฏในเวลาเช้ามืดตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าดาวหางไอซอนอาจไม่สว่างถึงระดับที่คาดไว้ในตอนแรก และอาจถึงขั้นทำให้หลายคนที่เฝ้ารอต้องพบกับความผิดหวัง ยกเว้นจะเกิดการปะทุความสว่างขึ้นมาอย่างมาก ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดาวหางไอซอนอย่างใกล้ชิดต่อไป

การค้นพบ วงโคจร และความคาดหมาย


วีตาลี เนฟสกี (Виталия Невского) ในเบลารุส และอาร์ตีออม โนวีโชนอค (Артем Новичонок) ในรัสเซีย เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นสองคนที่ร่วมกันค้นพบดาวหางไอซอนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ด้วยกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 0.4 เมตร ที่หอดูดาวคิสโลวอดสค์ (Kislovodsk Observatory) ในรัสเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้เครือข่ายไอซอน (ISON ย่อมาจาก International Scientific Optical Network) เป็นเครือข่ายสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในความร่วมมือกันจากหลายประเทศ อันเป็นที่มาของชื่อดาวหาง

นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบดาวหางไอซอน (จาก Vitali Nevski Artyom Novichonok)

ดาวหางไอซอนมีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา ระนาบวงโคจรเอียงทำมุม 62° กับระนาบวงโคจรโลก วงโคจรของดาวหางไอซอนที่เป็นวงโคจรแบบเปิด แสดงว่ามันเดินทางมาจากเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของดาวหางจำนวนมาก และนับเป็นซากที่หลงเหลือมาตั้งแต่ระบบสุริยะก่อตัว คาดว่าภายในเมฆออร์ตมีดาวหางกระจัดกระจายเป็นทรงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ ไม่ทราบขอบเขตที่แน่ชัด คาดว่าขอบเขตด้านในอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 2,000 หน่วยดาราศาสตร์ ขอบเขตด้านนอกอาจไกลในระดับหลายพันหน่วยดาราศาสตร์

ช่วงแรก ๆ หลังการค้นพบไม่นาน นักดาราศาสตร์พยากรณ์ความสว่างของดาวหางโดยใช้ความสว่างที่วัดได้ในขณะนั้น ร่วมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหางโดยเฉลี่ยทั่ว ๆ ไป ผลการคำนวณพบว่าขณะสว่างที่สุดเมื่อใกล้ดวงอาทิตย์ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 ดาวหางไอซอนอาจมีความสว่างอยู่ระหว่างโชติมาตร -6 ถึง -16 จึงมีความหวังว่ามันอาจสว่างพอจะเห็นได้จาง ๆ บนท้องฟ้าเวลากลางวัน และนำมาซึ่งฉายาที่มีผู้ตั้งให้ล่วงหน้าว่ามันอาจเป็น "ดาวหางแห่งศตวรรษ" และ "ดาวหางที่สว่างกว่าดวงจันทร์"

ทว่าการวัดความสว่างในเวลาต่อมา ประกอบกับวงโคจรที่มีความแน่นอนมากขึ้น พบว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ดาวหางไอซอนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จึงมีความเป็นไปได้ที่มันจะมีพฤติกรรมแบบ "ดาวหางน้องใหม่" ที่มีความตื่นตัวสูงเกินระดับปกติแม้ยังอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ แต่เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ดาวหางกลุ่มนี้จะมีอัตราการเพิ่มความสว่างน้อยกว่าในช่วงแรก และต่ำกว่าความคาดหมาย

วงโคจรของดาวหางไอซอนเทียบกับโลกและดาวอังคาร ช่วงที่เข้ามา ดาวหางอยู่เหนือระนาบวงโคจรของโลกเล็กน้อย จากนั้นจะเคลื่อนผ่านระนาบวงโคจรของโลกในวันที่ พฤศจิกายน 2556 หลังจากผ่านช่วงที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวหางไอซอนจะเคลื่อนขึ้นไปอยู่เหนือระนาบวงโคจรของโลกอีกครั้ง 

ขณะค้นพบเมื่อเดือนกันยายน 2555 ดาวหางไอซอนมีโชติมาตร 18.8 ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2556 ความสว่างเกือบคงที่ราวโชติมาตร 16 หากไอซอนมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างแบบดาวหางโดยเฉลี่ยทั่ว ๆ ไป กลางเดือนมิถุนายน 2556 ควรจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นมาที่โชติมาตร 14 แต่ผลการสังเกตพบว่าอยู่ที่โชติมาตร 15.5

หลังจากอยู่ในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์คาดว่าจะเริ่มสังเกตไอซอนได้อีกครั้งราวปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน แต่ด้วยความพยายามของบรูซ แกรี (Bruce Gary) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่แอริโซนา ทำให้เขาสามารถถ่ายภาพดาวหางไอซอนได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 11 นิ้ว เมื่อเช้ามืดวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ขณะที่ดาวหางอยู่สูงจากขอบฟ้าเพียง 6° (หากรอให้ดาวหางเคลื่อนสูงกว่านั้น ท้องฟ้าจะสว่างมากขึ้นจนไม่สามารถถ่ายภาพได้) แกรีได้ประเมินความสว่างจากการวัดแสงว่าอยู่ที่โชติมาตร 14.3 (±0.2) ซึ่งหากเทียบกับผลการคำนวณในช่วงแรก ๆ ก็ยังคงจางกว่าที่ควรจะเป็นราว อันดับ

ความสว่างที่น้อยกว่าความคาดหมาย นับเป็นข่าวร้าย และอาจบอกถึงอนาคตของดาวหางดวงนี้ หากนำความสว่างที่วัดได้ล่าสุดนี้ไปคำนวณ จะต้องปรับตัวเลขในสมการ ซึ่งทำให้เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2556 ดาวหางไอซอนจะมีความสว่างน้อยลงมากเมื่อเทียบกับผลการพยากรณ์ในปลายปี 2555 และเมื่อเปรียบเทียบกับดาวหางอื่น ๆ ในอดีต มีความเป็นไปได้ที่นิวเคลียสของดาวหางไอซอนอาจแตกก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด หรือแตกขณะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังคงรอให้ดาวหางไอซอนมีตำแหน่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น เพื่อให้การวัดความสว่างทำได้ง่ายและมีความแน่นอนมากขึ้น ขณะนี้การพยากรณ์ความสว่างจึงยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ตามกำหนดการ ดาวหางไอซอนจะผ่านใกล้ดาวอังคารในต้นเดือนตุลาคม เฉียดใกล้ดาวอังคารที่สุดในวันที่ ตุลาคม 2556 เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง และใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 เวลาเกือบตี ตามเวลาประเทศไทย ครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่สามารถสังเกตดาวหางได้ในเวลาเช้ามืด อย่างน้อยก็ด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ส่วนจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ และสว่างในระดับใด ขณะนี้เป็นเพียงการคาดหมายที่ยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้

ช่วงที่ดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวเทียมที่เฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์อยู่จะสามารถจับภาพดาวหางได้ และหากดาวหางไอซอนไม่แตกไปเสียก่อน มันจะกลับมาปรากฏอีกครั้งบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือนธันวาคม 2556 โดยเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น

อนาคตของดาวหางไอซอน


นักดาราศาสตร์ที่องค์การนาซาร่วมมือกับนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบัน เปิดเว็บไซต์ Comet ISON Observing Campaign เพื่อกระตุ้นให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกสังเกตการณ์ดาวหางไอซอน มีการเผยแพร่ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของดาวหาง และได้คาดหมายความเป็นไปได้ในอนาคตของดาวหางไอซอนออกเป็น แบบ

กรณีที่ 1 เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ดาวหางไอซอนอาจแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ คล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวหางเอเลนิน การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งแรก ทำให้น้ำแข็งบนดาวหางระเหิดไปเกือบหมด แม้ยังอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ความไร้เสถียรภาพของนิวเคลียสที่เปราะบาง นำไปสู่การแตกสลาย ทำให้ดาวหางมีความสว่างลดลง และกลายเป็นดาวหางที่น่าผิดหวังอีกดวงหนึ่ง

กรณีที่ 2 ดาวหางไอซอนกลายเป็นดาวหางที่สว่างดวงหนึ่ง โดยมีความสว่างเพิ่มขึ้นและสังเกตได้ดีเกือบตลอดเดือนพฤศจิกายน แต่เมื่อผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดไปแล้ว ความร้อนสูงกับแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ ฉีกดาวหางให้แตกออก โดยอาจปะทุความสว่างขึ้นเล็กน้อยหลังเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ แต่ก็จางลงอย่างรวดเร็ว

กรณีที่ 3 ดาวหางไอซอนเป็นดาวหางที่น่าจดจำ สว่างที่สุดในรอบหลายสิบปี ในกรณีนี้ ดาวหางไอซอนจะสว่างขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายนอาจเริ่มเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนกระทั่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งอาจมีความสว่างมากพอจะเห็นได้จาง ๆ ในเวลากลางวันเป็นเวลาสั้น ๆ ขณะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ เมื่อเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ในเดือนธันวาคม ดาวหางยังคงสว่างและมีหางยาว ก่อนจะจางลง และสังเกตได้ต่อไปถึงต้นเดือนมกราคม 2557

การแตกกระจายของชิ้นส่วนจี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของดาวหางชวาสมันน์-วัคมันน์ (73P/Schwassmann-Wachmann 3) ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อกลางเดือนเมษายน 2549 (ภาพ – NASA, ESA, H. Weaver (JHU/APL), M. Mutchler and Z. Levay (STScI)) 

ทุกคนคงตั้งความหวังว่าดาวหางไอซอนจะดำเนินไปตามเส้นทางในกรณีที่ แต่ต้องกล่าวว่าข้อมูลถึงต้นเดือนกันยายน 2556 ยังมีความเป็นไปได้อยู่น้อย อย่างไรก็ตาม อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าดาวหางไอซอนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในกรณีใด อย่างน้อยควรต้องรอผลการสังเกตการณ์ตลอดช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ดาวหางไอซอนจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น จนเริ่มสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ก่อนท้องฟ้าสว่างในเวลาเช้ามืด ความสว่างที่วัดได้ในช่วงดังกล่าวน่าจะช่วยให้การคาดหมายอนาคตของไอซอนมีความแน่นอนมากขึ้น

นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางเลิฟจอย (C/2011 W3 Lovejoy) อาจแตกสลายไปหมดขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2554 แต่ในช่วงหลายวันถัดมา ดาวหางเลิฟจอยกลับออกมาอีกครั้ง โดยเกิดการปะทุความสว่างขึ้น ปรากฏหางยาว สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากซีกโลกใต้ ภาพนี้ถ่ายจากหอดูดาวยุโรปในซีกโลกใต้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 (ภาพ – ESO/G. Blanchard) 

แผนการสังเกตการณ์จากอวกาศ


นอกจากการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ตามหอดูดาวต่าง ๆ องค์การนาซาวางแผนจะใช้ยานอวกาศหลายลำในการสังเกตดาวหางไอซอนด้วย

เมื่อดาวหางผ่านใกล้ดาวอังคารในวันที่ 1-2 ตุลาคม 2556 ที่ระยะห่างประมาณ 11 ล้านกิโลเมตร จะมียานสำรวจดาวอังคารหันอุปกรณ์ไปหาดาวหาง โดยหลักคือยานมาร์สรีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter หรือ MRO) ซึ่งโคจรรอบดาวอังคารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 มีกล้องถ่ายภาพและสเปกโทรมิเตอร์ สามารถถ่ายภาพและวัดสเปกตรัมของดาวหาง

หากดาวหางสว่างมากพอ ออปพอร์ทูนิตี (Opportunity) และคิวรีออสซิตี (Curiosity) ซึ่งเป็นรถสำรวจ ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อ พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2555 ตามลำดับ ก็อาจได้รับคำสั่งให้ถ่ายภาพดาวหางด้วย การสำรวจดาวหางไอซอนด้วยยานอวกาศที่ดาวอังคาร จะเป็นการฝึกฝนสำหรับการสำรวจดาวหางไซดิงสปริง (C/2013 A1 Siding Spring) ซึ่งเป็นดาวหางอีกดวงหนึ่งที่มีกำหนดเฉียดใกล้ดาวอังคารในเดือนตุลาคม 2557

ยานโซโฮจับภาพดาวหางนีต (C/2002 V1 NEAT) ขณะผ่านใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 เป็นจังหวะที่ดวงอาทิตย์เกิดการพ่นมวลคอโรนาออกมาด้วย ที่เห็นเป็นวงกลมกลางภาพคือดวงอาทิตย์ซึ่งถูกบังไว้ (ภาพ – SOHO/ESA/NASA) 

นาซามีโครงการสำรวจดาวหางไอซอนด้วยบัลลูนในชื่อ BRRISON ย่อมาจาก Balloon Rapid Response for ISON โดยจะส่งบัลลูนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ ขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 38 กิโลเมตร ในช่วงกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม จากนั้นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ยานเมสเซนเจอร์ (MESSENGER) ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวพุธ จะร่วมสังเกตดาวหางไอซอนขณะผ่านใกล้ดาวพุธ

ครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน จะมีการส่งจรวดหยั่งอวกาศ (sounding rocket) ขึ้นไปสังเกตดาวหางในคลื่นอัลตราไวโอเลต จากนั้นในช่วงที่ดาวหางไอซอนผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ ยานสำรวจดวงอาทิตย์ ได้แก่ เอสดีโอ (SDO), โซโฮ (SOHO), และสเตอริโอ (STEREO) ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์ จะสามารถจับภาพดาวหางที่ผ่านเข้ามาในขอบเขตภาพได้ นอกจากนั้น ยานลูนาร์รีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter) ที่โคจรรอบดวงจันทร์ และนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติก็มีแผนในการสังเกตดาวหางดวงนี้เช่นกัน

นักดาราศาสตร์ไม่ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ถ่ายภาพดาวหางขณะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ เนื่องจากต้องหลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์ไม่ให้เข้าสู่ลำกล้อง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบบรับแสงภายในกล้อง จึงถ่ายภาพได้เฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม หากดาวหางไอซอนไม่แตกไปเสียก่อน กล้องฮับเบิลก็จะถ่ายภาพดาวหางได้อีกครั้งในเดือนธันวาคม 2556 พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์บนยานสวิฟต์ (Swift) ที่โคจรอยู่รอบโลก

ความสว่างและตำแหน่งบนท้องฟ้า


ขณะค้นพบเมื่อเดือนกันยายน 2555 ดาวหางไอซอนอยู่ในกลุ่มดาวปู ห่างดวงอาทิตย์ที่ระยะ 6.3 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นบริเวณระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสบดีกับวงโคจรของดาวเสาร์ และสว่างที่โชติมาตร 18.8 ดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ผ่านวงโคจรของดาวพฤหัสบดีในเดือนมกราคม 2556

ดาวหางผ่านใกล้ดาวอังคารในคืนวันที่ 1/2 ตุลาคม 2556 โดยใกล้ที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ ตุลาคม 2556 ตามเวลาประเทศไทย ที่ระยะ 0.0725 หน่วยดาราศาสตร์ (10.8 ล้านกิโลเมตร) เมื่อสังเกตจากโลก ดาวหางไอซอนและดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต คาดว่าไอซอนอาจมีโชติมาตร 11-12 ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ไอซอนยังปรากฏอยู่ใกล้ดาวอังคารต่อเนื่องไปเกือบตลอดเดือนตุลาคม กลางเดือนเป็นช่วงที่ดาวหางและดาวอังคารจะผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโต เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม ไอซอนจะสว่างเพิ่มขึ้นไปที่โชติมาตร 8-9 และเคลื่อนห่างดาวอังคารมากขึ้น

วันที่ พฤศจิกายน ดาวหางออกจากกลุ่มดาวสิงโต เข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาว ช่วงนั้นอาจสว่างที่โชติมาตร 7-9 และคาดหมายว่าความสว่างของไอซอนจะเพิ่มขึ้นไปที่โชติมาตร 6-8 ในกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นความสว่างที่สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท

วันที่ 18 พฤศจิกายน ดาวหางไอซอนจะผ่านใกล้ดาวสไปกาหรือดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว ห่างกันไม่ถึง 1° คาดว่าช่วงนั้นดาวหางอาจสว่างที่โชติมาตร 5-7.5 สามารถใช้ดาวรวงข้าวเป็นจุดสังเกต หลังจากนี้ ดาวหางไอซอนควรจะสว่างเพิ่มขึ้นอีก แต่การที่ดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน และมีตำแหน่งอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นด้วย อาจทำให้สังเกตได้ยากยิ่งขึ้น

ดาวหางไอซอนจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 พฤศจิกายน ตามเวลาสากล หรือตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ตามเวลาประเทศไทย ขณะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อยู่ห่างศูนย์กลางดวงอาทิตย์ 0.0125 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 1.9 ล้านกิโลเมตร โดยอยู่ห่างผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตร

ในทางทฤษฎี ขณะที่ดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน ควรเป็นเวลาที่ดาวหางสว่างที่สุด นักดาราศาสตร์คาดว่าช่วงที่ไอซอนสว่างที่สุดอาจมีความสว่างไม่เกินความสว่างของดาวศุกร์ โดยอาจจางกว่านั้นได้อีก ต่างจากผลการคำนวณในช่วงแรก ๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นดาวหางอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ไม่สามารถสังเกตได้จากพื้นโลก

ตำแหน่งดาวหางไอซอนผ่านกลุ่มดาวต่าง ๆ ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ถึงต้นเดือนมกราคม 2557 คำนวณที่เวลา 05:00 น. ของวัน ตามเวลาประเทศไทย 

หลังจากผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวหางไอซอนควรจะมีความสว่างลดลง หากมันยังไม่แตกสลายไปก่อนเนื่องจากแรงโน้มถ่วงและความร้อนสูงของดวงอาทิตย์ คาดว่าจะเริ่มสังเกตได้อีกครั้งเมื่อดาวหางทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควร ตรงกับปลายสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม 2556 โดยปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดเช่นเดียวกับช่วงก่อนใกล้ดวงอาทิตย์ แต่ดาวหางจะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ พร้อมกับห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน

วันที่ ธันวาคม ดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวงูในส่วนของหัวงู ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของกลุ่มดาวคันชั่ง ขณะนั้นอาจสว่างที่โชติมาตร 4-6.5 แต่ยังมีอุปสรรค เนื่องจากอยู่ใกล้ขอบฟ้าในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง จากนั้นดาวหางเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ของกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลางเดือนธันวาคม ความสว่างอาจลดลงไปที่โชติมาตร 5-7 วันที่ 20-23 ธันวาคม เป็นช่วงที่ดาวหางผ่านกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ

วันที่ 24-26 ธันวาคม ดาวหางไอซอนผ่านกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีสอีกครั้ง วันที่ 27 ธันวาคม ดาวหางเข้าสู่กลุ่มดาวมังกร เป็นวันที่ไอซอนจะผ่านใกล้โลกที่สุดที่ระยะห่าง 0.429 หน่วยดาราศาสตร์ (64 ล้านกิโลเมตร) คาดว่าอาจสว่างราวโชติมาตร 6-7.5 และจางลงเรื่อย 

วันที่ มกราคม 2557 ดาวหางไอซอนจะผ่านใกล้ดาวเหนือในกลุ่มดาวหมีเล็ก โดยใกล้ที่สุดราว 3° และเป็นช่วงที่ความสว่างของดาวหางอาจลดลงไปที่โชติมาตร 7-8.5

กราฟพยากรณ์ความสว่างของดาวหางไอซอน ตามข้อมูลจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (ดาวหางอาจมีความสว่างน้อยกว่าหรือมากกว่าที่คาดหมายก็ได้) และมุมเงยของดาวหางเหนือขอบฟ้าเมื่อเริ่มหรือสิ้นสุดแสงสนธยาดาราศาสตร์ (ท้องฟ้าเริ่มสว่างในเวลาเช้ามืด หรือเริ่มมืดสนิทในเวลาหัวค่ำ) ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 18° คำนวณที่ละติจูดตอนกลางของประเทศ ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับภาคอื่น ๆ 

โชติมาตรที่ระบุนี้คาดการณ์จากความสว่างของดาวหางที่วัดได้ล่าสุดถึงต้นเดือนกันยายน 2556 จึงยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ แม้ว่าดาวหางไอซอนจะมีแนวโน้มสว่างน้อยกว่าที่คาดไว้เมื่อปีที่แล้วอยู่มากพอสมควร แต่การที่ดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าในฤดูหนาว ซึ่งท้องฟ้าเปิดเป็นส่วนใหญ่ จะทำให้มีโอกาสสังเกตได้ดีด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์

สะเก็ดดาวจากดาวหางไอซอน


ฝนดาวตกที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเกิดจากดาวหางที่ทิ้งสะเก็ดดาวไว้ตามทางโคจร จากนั้นโลกก็เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเส้นทางของสะเก็ดดาว ดาวหางไอซอนก็ทิ้งสะเก็ดดาวไว้ในอวกาศ แต่นักดาราศาสตร์คาดว่าไม่น่าจะทำให้เกิดฝนดาวตก

ราววันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2556 ดาวหางไอซอนจะเคลื่อนผ่านบริเวณหนึ่งในอวกาศที่วงโคจรของโลกตัดผ่าน ดาวหางไอซอนจะทิ้งสะเก็ดดาวไว้เบื้องหลัง หลังจากนั้น ราวกลางเดือนมกราคม 2557 โลกจะเคลื่อนมาใกล้บริเวณจุดดังกล่าว แบบจำลองคอมพิวเตอร์ของ พอล ไวเกิร์ต (Paul Wiegert) นักวิจัยด้านดาวตกที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ระบุว่าสะเก็ดดาวขนาดเล็กที่หลุดมาจากดาวหางไอซอนอาจปะทะกับโลกในช่วงดังกล่าว โดยมีศูนย์กลางอยู่ราววันที่ 12 มกราคม 2557 แต่คาดว่าไม่น่าจะทำให้เกิดฝนดาวตกที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

เมฆสุกใสลอยอยู่เหนือท้องฟ้าในเมืองหนึ่งของประเทศเอสโตเนีย (ภาพ Martin Koitmae) 

ไวเกิร์ตอธิบายว่าแบบจำลองของเขาแสดงว่าฝุ่นสะเก็ดดาวที่มีขนาดเล็กในระดับไมครอน จะเข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงราว 56 กิโลเมตรต่อวินาที แต่ด้วยขนาดที่เล็ก จึงไม่เกิดการเสียดสีจนเผาไหม้ หรือไม่ทำให้โมเลกุลอากาศแตกตัวจนเห็นเป็นดาวตก เขาคาดว่าฝุ่นสะเก็ดดาวจะลดความเร็วลง แล้วเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ เข้าสู่บรรยากาศ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเมฆสว่างเห็นได้ในละติจูดสูง ๆ ที่เรียกว่าเมฆสุกใส (Noctilucent cloud) ซึ่งอยู่สูงกว่าเมฆทั่วไป

บิล คุก (Bill Cooke) นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวตกของนาซา กล่าวว่าสะเก็ดดาวขนาดเล็กจากดาวหางไอซอนไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อดาวเทียม อย่างไรก็ตาม จะมีการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องกับดาวเทียม

*** คลิกดูความเคลื่อนไหวล่าสุด ***

แหล่งข้อมูล


     NASA Comet ISON Observing Campaign (CIOC)
     Updates on Comet ISON Sky Telescope
     Comet ISON Comes to Life! Sky Telescope
     C/2012 S1 (ISON) JPL Small-Body Database Browser
     C/2012 S1 (ISON) Seiichi Yoshida
     Comet ISON Toolkit NASA
     Comet ISON Meteor Shower NASA
     C/2012 S1 (ISON) Gary W. Kronk
     C/2012 S1 (ISON) Andreas Kammerer
     Recent Comet Brightness Estimates International Comet Quarterly
     Comet C/ISON Details Emerge as it Races Toward the Sun Planetary Science Institute
     Brightness and Orbital Motion Peculiarities of Comet C/2012 S1 (ISON): Comparison with Two Very Different Comets Zdenek Sekanina
     Comet ISON is in Outburst Ignacio Ferrìn
     Comet ISON unfolds its wings Max Planck Institute for Solar System Research
     Comet ISON Becomes Nail-Biter Sky Telescope
     Anticipated STEREO observations of Comet ISON