อุปราคาในปี 2544
8 มกราคม 2544
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 29 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปีนี้มีสุริยุปราคาสองครั้งและจันทรุปราคาสามครั้ง
สุริยุปราคาทั้งสองครั้งไม่สามารถมองเห็นได้ในประเทศไทย แต่คนไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาได้สองครั้ง คือ จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ 9/10 มกราคม และจันทรุปราคาบางส่วนในวันที่ 5 กรกฎาคม อุปราคา 5 ครั้งประกอบด้วย
จันทรุปราคาเต็มดวง 9/10 มกราคม 2544
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 10 มกราคม 2544เหตุการณ์ | เวลา |
---|
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก | 00.43 น. |
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่ง) | 01.42 น. |
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง) | 02.49 น. |
4. กึ่งกลางของการเกิด | 03.20 น. |
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์ออกจากเงามืด) | 03.51 น. |
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง) | 04.59 น. |
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก | 05.58 น. |
บริเวณที่มองเห็นการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ได้แก่ ด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ กรีนแลนด์ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย รายละเอียดของจันทรุปราคาครั้งนี้ อ่านได้จากทางช้างเผือกฉบับธันวาคม 2543
สุริยุปราคาเต็มดวง 21 มิถุนายน 2544
สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 21 มิถุนายน 2544 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในรอบ 4 ปีของทวีปแอฟริกา เงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก ขึ้นฝั่งที่แองโกลา พาดผ่านซิมบับเว แซมเบีย โมซัมบิก และมาดากัสการ์ สุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมถึงบางส่วนของอเมริกาใต้ และส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา จุดที่มองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา ด้วยระยะเวลานาน 4 นาที 57 วินาที
จันทรุปราคาบางส่วน 5 กรกฎาคม 2544
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 5 กรกฎาคม 2544เหตุการณ์ | เวลา |
---|
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก | 19.11 น. |
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่ง) | 20.35 น. |
4. กึ่งกลางของการเกิด | 21.55 น. |
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง) | 23.15 น. |
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก | 00.40 น. |
ณ เวลากึ่งกลางของการเกิด ดวงจันทร์จะถูกบังครึ่งดวงพอดี บริเวณที่มองเห็นการเกิดจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ด้านตะวันออกของแอฟริกาและตะวันออกกลาง เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวาย และแอนตาร์กติกา
สุริยุปราคาวงแหวน 15 ธันวาคม 2544
เส้นทางอุปราคาส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยพื้นดินส่วนที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนคือบางส่วนของนิการากัวและคอสตาริกาในอเมริกากลาง บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมไปถึงอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และบางส่วนของอเมริกาใต้
จันทรุปราคาเงามัว 30 ธันวาคม 2544
วันที่ 30 ธันวาคม 2544 มีจันทรุปราคาเงามัวซึ่งสังเกตได้ยากเนื่องจากดวงจันทร์เพียงผ่านเข้าไปในเงามัวเท่านั้น