อุปราคาในปี 2545
ในปี 2545 มีอุปราคาเกิดขึ้นรวมทั้งหมด 5 ครั้ง เป็นสุริยุปราคาสองครั้งและจันทรุปราคาสามครั้งเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่จันทรุปราคาทั้งสามครั้งในปีนี้เป็นแบบเงามัว คือ ดวงจันทร์ไม่ได้ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกเลย ทำให้ปีนี้ไม่ว่าที่ใดในโลกก็ไม่สามารถมองเห็นจันทรุปราคาแบบบางส่วนและเต็มดวงได้ สำหรับปีนี้บางพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจมีโอกาสมองเห็นสุริยุปราคาบางส่วนได้ในเช้ามืดของวันที่ 11 มิถุนายน 2545
1.จันทรุปราคาเงามัว วันที่ 26 พฤษภาคม 2545 มองเห็นได้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย ฮาวาย แม้ว่าบริเวณที่มองเห็นการเกิดจันทรุปราคาแบบเงามัวครั้งนี้จะรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่จะสังเกตการณ์ได้ยากเพราะดวงจันทร์จะอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าขณะที่เข้าไปใกล้เงามัวมากที่สุดในเวลา 19.03 น.
2.สุริยุปราคาวงแหวน วันที่ 11 มิถุนายน 2545 เส้นทางสุริยุปราคาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเกาะเล็กๆ บางแห่งของอินโดนีเซียและบางส่วนของหมู่เกาะในครอบครองของสหรัฐฯ ที่สามารถมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนได้ เส้นทางสุริยุปราคาวงแหวนเริ่มต้นขึ้นที่ชายฝั่งทางตอนเหนือของสุลาเวสี จากนั้นพาดผ่านเกาะเล็ก ๆ ของอินโดนีเซีย หมู่เกาะพาลอและหมู่เกาะมาเรียนา ทางเหนือของเกาะกวม จากนั้นเงาของดวงจันทร์เคลื่อนขึ้นไปผ่านทางเหนือห่างออกไปจากฮาวาย แล้ววกกลับลงมาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของเม็กซิโก พร้อมกับหลุดออกจากพื้นผิวโลก เป็นการสิ้นสุดการเกิดสุริยุปราคาวงแหวน บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมไปถึงเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย ฮาวาย อเมริกาเหนือ และบางส่วนของอเมริกากลาง
3.จันทรุปราคาเงามัว วันที่ 25 มิถุนายน 2545 มองเห็นได้ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง
4.จันทรุปราคาเงามัว วันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 มองเห็นได้ในทวีปอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา
5.สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 4 ธันวาคม 2545 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาเป็นปีที่สองติดต่อกัน เงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก ขึ้นฝั่งที่แองโกลา พาดผ่านชายแดนรอยต่อของแซมเบีย นามิเบีย บอตสวานา และซิมบับเว ตอนเหนือของแอฟริกาใต้และตอนใต้ของโมซัมบิก แล้วลงสู่มหาสมุทรอินเดีย ก่อนที่จะขึ้นฝั่งอีกครั้งที่บริเวณตอนใต้ของออสเตรเลีย สุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา บางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกา อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์ จุดที่มองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน 2 นาที 4 วินาที
1.
2.
3.
4.
5.