สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคาบางส่วน : 5 กรกฎาคม 2544

จันทรุปราคาบางส่วน : 5 กรกฎาคม 2544

13 มิถุนายน 2544
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 29 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เรามักพบว่ามีจันทรุปราคาเกิดขึ้นใกล้กับวันที่เกิดสุริยุปราคา ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน

สองสัปดาห์หลังจากการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่มองเห็นได้ในแอฟริกาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน หากว่าท้องฟ้าในค่ำของวันพฤหัสบดีที่ กรกฎาคม 2544 ปลอดโปร่งเพียงพอ คนไทยจะสามารถมองเห็นจันทรุปราคาบางส่วนได้ โดยที่ดวงจันทร์จะผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกโดยเงาโลกไม่ได้บดบังดวงจันทร์ทั้งดวง ทำให้ดวงจันทร์เหลือส่วนสว่างมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นผิวด้านที่หันเข้าหาโลก

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ผ่านเงาโลก 

แผนที่แสดงบริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้
 


ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน กรกฎาคม 2544
เหตุการณ์เวลามุมเงยของดวงจันทร์
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก19.11 น.
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่ง)20.35 น.23°
3. กึ่งกลางของการเกิด (บังลึกที่สุด)21.55 น.38°
4. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง)23.15 น.49°
5. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก00.40 น.52°


จันทรุปราคาบางส่วนจะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 20.35 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เริ่มถูกกินลึกเข้าไปโดยเงามืดของโลก แต่ก็สามารถสังเกตเห็นความสว่างที่ลดลงของดวงจันทร์ได้ตั้งแต่เวลาก่อนหน้านี้ ดวงจันทร์จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนี้ดวงจันทร์จะเหลือส่วนสว่างลดลงเรื่อยๆ จนถูกบังลึกที่สุดในเวลา 21.55 น. ในช่วงเวลานี้จะสังเกตได้ว่าเงามืดของโลกบังดวงจันทร์อยู่ครึ่งหนึ่งพอดีเมื่อวัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลาง แต่เราจะเห็นว่าดวงจันทร์มีพื้นที่สว่างมากกว่าครึ่งดวงเนื่องจากเงาของโลกมีขอบโค้งตามรูปร่างที่เกือบเป็นทรงกลมของโลก จากนั้นดวงจันทร์จึงเคลื่อนออกจากเงามืดจนกลับมาสว่างเต็มดวงในเวลา 23.15 น. ดวงจันทร์จะยังไม่สว่างเต็มที่จนกว่าจะออกจากเงามัวในเวลา 00.40 น. นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีส่วนอื่นของโลกที่เห็นปรากฏการณ์นี้พร้อมกันด้วย คือ ด้านตะวันออกของอาฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวาย และแอนตาร์กติก

สำหรับลักษณะโดยทั่วไปของดวงจันทร์ขณะถูกบังลึกที่สุดนั้น น่าจะพอมองเห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ในส่วนที่เงาของโลกบดบังอยู่ได้คล้ายกับที่เห็นขณะเกิดจันทรุปราคาเมื่อต้นปีนี้ จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญขณะที่โลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ดวงจันทร์เพ็ญเต็มดวงเนื่องจากส่วนใหญ่ดวงจันทร์จะอยู่เหนือหรือใต้เงาของโลกซึ่งเป็นผลจากวงโคจรของดวงจันทร์ที่ไม่ได้ซ้อนทับกับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์