ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะ (C/2002 X5 Kudo-Fujikawa)
เช้ามืดวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ขณะที่เทตุโอะ คุโดะ นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ของญี่ปุ่นกำลังเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้ เพื่อถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าอยู่นั้น เขาใช้เวลาขณะที่รอนี้กวาดกล้องสองตาขนาด 20×125 ไปบนท้องฟ้าในบริเวณกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส และได้ค้นพบสิ่งแปลกปลอมบริเวณใกล้รอยต่อกับกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ นั่นคือดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน คุโดะได้รับคำยืนยันการค้นพบนี้จากเค็นอิชิ คะโดะตะ นักดาราศาสตร์อีกคนหนึ่งในจังหวัดไซตะมะ
เช้ามืดวันถัดมาชิเกะฮิซะ ฟุจิกะวะ นักล่าดาวหางอีกคนหนึ่งของญี่ปุ่นก็ค้นพบดาวหางดวงเดียวกันโดยไม่ทราบถึงการค้นพบของคุโดะมาก่อน โทรเลขของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลฉบับที่ 8032 และ 8033 จึงประกาศการค้นพบโดยให้ดาวหางดวงนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะ (C/2002 X5 Kudo-Fujikawa) นับเป็นดาวหางดวงที่ 6 ที่มีชื่อของฟุจิกะวะปรากฏอยู่ด้วย นับตั้งแต่เขาค้นพบดาวหางเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นก็มีรายงานว่าดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะ ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายจากอุปกรณ์บนยานโซโฮ ซึ่งเป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ระหว่างวันที่ 6-13 พฤศจิกายนด้วย
ผลการคำนวณวงโคจรเบื้องต้นโดยไบรอันมาร์สเดนจากศูนย์ดาวเคราะห์น้อยในเคมบริดจ์ แมสซาชูเซตตส์ ได้ผลลัพธ์ว่าดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปลายเดือนมกราคม 2546 ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะปรากฏบนท้องฟ้าในเวลาเช้ามืดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งมองเห็นได้ดีในประเทศแถบละติจูดสูงๆ อย่างทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป รัสเซียและญี่ปุ่น แต่มองเห็นได้ค่อนข้างยากสำหรับประเทศในละติจูดต่ำใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย
ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะจะสว่างขึ้นอย่างมากเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์คาดว่าจะสว่างที่สุดที่อันดับความสว่าง 1-2 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จึงไม่สามารถมองเห็นได้จากพื้นโลก จากข้อมูลวงโคจรและอันดับความสว่างของดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะขณะที่เขียนบทความนี้ บอกได้ว่าดาวหางจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 29 มกราคม 2546 ที่ระยะห่างประมาณ 28 ล้านกิโลเมตร และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าวงโคจรของดาวพุธ จากนั้นจะกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมบริเวณกลุ่มดาวนกฟีนิกซ์ กลุ่มดาวเตาหลอม และกลุ่มดาวแม่น้ำ โดยที่ความสว่างของดาวหางดวงนี้จะลดลงเรื่อยๆ จากอันดับความสว่าง 8.2 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ไปอยู่ที่ 9.4 ในวันที่ 1 มีนาคม (ตัวเลขยิ่งมาก ความสว่างยิ่งน้อย) ซึ่งถือว่าดูด้วยกล้องสองตาได้ยาก
มกราคม 2546
รายงานความสว่างของดาวหางล่าสุดชี้ว่าคุโดะ-ฟุจิกะวะมีความสว่างน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ราว 0.5-1.0 อันดับ และยังไม่สามารถมองเห็นได้จากประเทศไทย ดาวหางปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวนกอินทรี ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถมองเห็นได้ อุปกรณ์บนยานโซโฮอาจจับภาพดาวหางได้ในราววันที่ 28-29 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางจะผ่านใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และค่อนข้างแน่นอนว่าเราจะไม่สามารถมองเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่าในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางออกห่างจากดวงอาทิตย์ เนื่องจากดาวหางมีความสว่างน้อยเกินไป แต่ยังมีโอกาสที่จะดูได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์
29มกราคม 2546
ขณะที่ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดนั้นดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากอัตราการระเหิดของนิวเคลียสที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็นดาวหางได้จากพื้นโลกในขณะนี้ เนื่องจากแสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ แต่อุปกรณ์คอโรนากราฟซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบันทึกความเปลี่ยนแปลงภายในบรรยากาศชั้นคอโรนาของดวงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนดาวเทียมโซโฮ ก็สามารถจับภาพของดาวหางไว้ได้
ครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ประเทศในซีกโลกใต้จะมีโอกาสมองเห็นดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะได้ดีที่สุด ข้อมูลในช่วงเวลานี้จะช่วยในการพยากรณ์ความสว่างของดาวหางดวงนี้ได้ในอนาคต ซึ่งคาดว่าคุโดะ-ฟุจิกะวะจะเริ่มมองเห็นได้ในประเทศไทยด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
14กุมภาพันธ์ 2546
ผลการสังเกตการณ์ของดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะหลังจากที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดนั้นปรากฏว่าดาวหางมีความสว่างลดลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตาตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ มีเพียงกล้องโทรทรรศน์เท่านั้นที่มีโอกาสมองเห็นดาวหางได้
เช้ามืดวันถัดมา
ผลการคำนวณวงโคจรเบื้องต้นโดยไบรอัน
ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะจะสว่างขึ้นอย่างมากเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
ความเคลื่อนไหวล่าสุด
8รายงานความสว่างของดาวหางล่าสุดชี้ว่า
29
ขณะที่ดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดนั้น
ครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์
14
ผลการสังเกตการณ์ของดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะหลังจากที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดนั้น