สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ยานมาร์สริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์พบน้ำไหลบนดาวอังคาร

ยานมาร์สริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์พบน้ำไหลบนดาวอังคาร

6 ต.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลังจากที่เป็นปริศนาลึกลับมานาน และใช้ยานสำรวจไปหลายลำ ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบสิ่งที่ค้นหามานาน นั่นคือ หลักฐานของน้ำที่ยังไหลรินอยู่บนดาวอังคาร

น้ำบนดาวอังคารไม่ใช่เรื่องใหม่ นับจากที่เริ่มมีการสำรวจภูมิประเทศของดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่แสดงถึงการกระทำของน้ำมากมาย เช่น ลำธารแห้ง หุบผา ร่องธาร แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงร่องรอยน้ำในอดีตกาลของดาวอังคารที่ได้เหือดแห้งไปนานแล้ว สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดเป็นเพียงน้ำแข็งใต้พื้นดินและที่บริเวณใกล้ขั้วดาวเท่านั้น 

แต่สิ่งที่ยานพบในครั้งนี้ คือน้ำที่เป็นของเหลวที่ไหลรินให้เห็นได้บนพื้นผิวในปัจจุบันจริง ๆ จึงต้องถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดบนดาวอังคารในรอบหลายปี แม้น้ำที่พบนี้อยู่ในรูปของสารประกอบไฮเดรตไม่ใช่น้ำบริสุทธิ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม

ในปี 2553 ยานมาร์สริคอนนิเซนส์ออร์บิเตอร์ได้พบเส้นปริศนาบนบนที่ลาดชันหลายแห่งบนดาวอังคาร เส้นเหล่านี้ลักษณะเป็นเส้นค่อนข้างตรงพาดตามแนวจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ มีหลายเส้นขนานกัน นักวิทยาศาสตร์เรียกเส้นเหล่านี้ว่า เส้นบนที่ลาดชันปรากฏซ้ำ หรือ อาร์เอสแอล (Recurrent Slope Linnae) เพราะไม่ใช่สิ่งปรากฏอย่างถาวร แต่มีการเปลี่ยนแปลงและปรากฏซ้ำตามฤดูกาล โดยมักคล้ำขึ้นและเหมือนไหลลงสู่เบื้องล่างในฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูที่อากาศหนาวเย็นลง เส้นเหล่านี้ก็ซีดจางไป เส้นอาร์เอสแอลปรากฏขึ้นในหลายแห่งเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า -23 องศาเซลเซียส 

แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่แน่ใจว่าเส้นเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำของน้ำ เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สเปกโทรมิเตอร์ของยานมาร์สริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์ตรวจพบเอกลักษณ์ของสารประกอบไฮเดรตที่บริเวณที่ลาดชันที่เคยพบริ้วลึกลับมาก่อนหน้านี้

แม้อุณหภูมิของดาวอังคารจะต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ แต่น้ำในดาวอังคารไม่ใช่น้ำจืด หากเป็นเกลือไฮเดรต เกลือทำให้จุดเยือกแข็งของน้ำลดต่ำลง ด้วยหลักการนี้ทำให้ในเมืองที่มีหิมะตกหนักมักใช้เกลือโรยบนหิมะที่คลุมถนนเพื่อเร่งให้หิมะละลายเร็วขึ้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำที่พบในดาวอังคารครั้งนี้เป็นน้ำที่ไหลอยู่ใต้ผิวดินลึกลงไปไม่มากนัก ซึ่งบางครั้งน้ำมีมากก็อาจซึมขึ้นมาถึงผิวดิน ทำให้มองเห็นว่าพื้นดินสีคล้ำขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยานมาร์สริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์ตรวจพบสเปกตรัมของเกลือไฮเดรตเฉพาะบริเวณที่มีเส้นอาร์เอสแอลเป็นจำนวนมากและกินพื้นที่ค่อนข้างกว้างเท่านั้น แต่ในบริเวณที่มีเส้นพวกนี้เพียงไม่กี่เส้นกลับไม่พบ

จากสเปกตรัมที่ปรากฏ เกลือไฮเดรตนี้น่าจะเป็นเกลือจำพวกแมกนีเซียมเพอร์คลอเรต แมกนีเซียมคลอเรต และโซเดียมเพอร์คลอเรตผสมกัน สารประกอบจำพวกเพอร์คลอเรตบางชนิดอาจมีจุดเยือกแข็งต่ำมากถึง -70 องศาเซลเซียส บนโลก สารประกอบเพอร์คลอเรตพบได้ตามธรรมชาติบริเวณทะเลทราย สารประกอบเพอร์คลอเรตบางชนิดอาจใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่จรวดได้ด้วย

ในอดีต เคยมีการพบสารประกอบเพอร์คลอเรตมาแล้ว เช่น ยานฟีนิกซ์ของนาซาและรถคิวริโอซิตีเคยพบเพอร์คลอเรตปะปนอยู่ในดินของดาวอังคาร แม้แต่ยานไวกิงที่เคยไปจอดบนดาวอังคารเมื่อสี่ทศวรรษก่อนก็พบสิ่งที่คล้ายกับจะเป็นเกลือจำพวกนี้เหมือนกัน แต่การค้นพบครั้งนี้พิเศษยิ่งกว่า เพราะพบเกลือที่อยู่ในรูปของของเหลว และยังเป็นการพบโดยการสำรวจจากวงโคจรอีกด้วย

การค้นพบครั้งนี้ทำให้ความเชื่อว่าดาวอังคารคือดาวที่แห้งแล้งต้องเปลี่ยนไป การพบสารจำพวกน้ำที่เป็นของเหลวบนพื้นผิว ทำให้เพิ่มความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงอยู่ได้ในบริเวณดังกล่าว แน่นอนว่าบริเวณเส้นอาร์เอสแอลนี้จะต้องเป็นพื้นที่หลักของภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคตที่ต้องการค้นหาจุลชีพบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้

ติดตามภารกิจของยานมารส์ริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์ได้ที่ http://www.nasa.gov/mro

บริเวณส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาตชื่อ <wbr>เฮล <wbr>แนวเส้นแคบ <wbr>ๆ <wbr>สีดำ <wbr>พาดไปตามการไหลของน้ำผ่านพื้นที่ลาดบนดาวอังคาร <wbr>แต่ละเส้นยาวประมาณ <wbr>100 <wbr>เมตร <wbr>เรียกว่า <wbr>เส้นบนที่ลาดชันปรากฏซ้ำ <wbr>นักวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานว่าเส้นเหล่านี้น่าจะเกิดจากการกระทำของน้ำ <wbr> <wbr>จนกระทั่งเมื่อเร็ว <wbr>ๆ <wbr>นี้ <wbr>ยานมาร์สริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์ตรวจพบน้ำจริง <wbr>ๆ <wbr>ในบริเวณดังกล่าว <wbr>เป็นน้ำที่อยู่ในรูปน้ำเกลือเหลว <wbr> <wbr>บริเวณสีน้ำเงินบนที่สูงในภาพคือบริเวณที่มีแร่ไพร็อกซีน <wbr> <wbr>ภาพนี้เป็นภาพสีแปลงที่มีการยืดภาพในแนวตั้ง <wbr>1.5 <wbr>เท่า<br />

บริเวณส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาตชื่อ เฮล แนวเส้นแคบ ๆ สีดำ พาดไปตามการไหลของน้ำผ่านพื้นที่ลาดบนดาวอังคาร แต่ละเส้นยาวประมาณ 100 เมตร เรียกว่า เส้นบนที่ลาดชันปรากฏซ้ำ นักวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานว่าเส้นเหล่านี้น่าจะเกิดจากการกระทำของน้ำ  จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยานมาร์สริคอนนิเซนซ์ออร์บิเตอร์ตรวจพบน้ำจริง ๆ ในบริเวณดังกล่าว เป็นน้ำที่อยู่ในรูปน้ำเกลือเหลว  บริเวณสีน้ำเงินบนที่สูงในภาพคือบริเวณที่มีแร่ไพร็อกซีน  ภาพนี้เป็นภาพสีแปลงที่มีการยืดภาพในแนวตั้ง 1.5 เท่า
(จาก NASA/JPL/University of Arizona)

บริเวณขอบหลุมการ์นี <wbr>(Garni) <wbr>บนดาวอังคาร <wbr>มีเส้นสีคล้ำแคบ <wbr>ๆ <wbr>พาดตามแนวดิ่งที่บริเวณผนังของหลุมอยู่เป็นจำนวนมาก <wbr>เส้นในภาพนี้มีความยาวหลายร้อยเมตร <wbr>เส้นเหล่านี้เกิดจากการไหลของน้ำเกลือบนดาวอังคาร <wbr>ภาพนี้มีการยืดภาพในแนวตั้ง <wbr>1.5 <wbr>เท่า<br />

บริเวณขอบหลุมการ์นี (Garni) บนดาวอังคาร มีเส้นสีคล้ำแคบ ๆ พาดตามแนวดิ่งที่บริเวณผนังของหลุมอยู่เป็นจำนวนมาก เส้นในภาพนี้มีความยาวหลายร้อยเมตร เส้นเหล่านี้เกิดจากการไหลของน้ำเกลือบนดาวอังคาร ภาพนี้มีการยืดภาพในแนวตั้ง 1.5 เท่า
(จาก NASA/JPL/University of Arizona)

ที่มา: