สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวหางทิ้งฝุ่นเป็นตันใส่ดาวอังคาร

พบดาวหางทิ้งฝุ่นเป็นตันใส่ดาวอังคาร

18 ต.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ปีที่แล้ว ดาวหางไซดิงสปริง (C/2013 A1) ได้พุ่งเฉียดดาวอังคารด้วยระยะเพียง 135,000 กิโลเมตร นักดาราศาสตร์พบว่าการเฉียดที่เกือบจะเป็นการชนกันในครั้งนั้นทำให้บรรยากาศชั้นนอกของดาวอังคารได้รับสสารจากดาวหางได้โดยตรง โดยพบว่ามีฝุ่นจากดาวหางดวงนี้จำนวนมากถึง 1-2 ตันตกลงสู่บรรยากาศของดาวอังคาร 

ฝุ่นเหล่านี้ประกอบด้วยแมกนีเซียม ซิลิคอน แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งล้วนเป็นส่วนประกอบที่สร้างเป็นหิน นอกจากนี้ ดาวหางไซดิงสปริงยังทิ้งคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และน้ำจำนวนไม่น้อยไว้ด้วย แต่สารเหล่านี้ตรวจจับไม่ได้เนื่องจากในบรรยากาศของดาวอังคารมีสสารเหล่านี้อยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการปนเปื้อนนี้ส่งผลกระทบระยะยาวต่อดาวอังคารน้อยมาก 

เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของนักดาราศาสตร์ที่ดาวหางดวงนี้เข้ามาเยือนดาวอังคารในช่วงที่มียานสำรวจปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวอังคารหลายลำ เป็นโอกาสที่ยานเหล่านั้นได้สำรวจดาวหางได้ในระยะใกล้ชิด กรณีของไซดิงสปริงนี้เป็นการสำรวจดาวหางระยะใกล้ในขณะที่ยังอยู่ไกลจากโลกมาก ซึ่งเทคโนโลยีจรวดปัจจุบันยังไปสำรวจดาวหางไกลจากโลกขนาดนั้นไม่ได้

ยานมาร์สริคอนนิเซนส์ออร์บิเตอร์ได้สำรวจดาวหางดวงนี้และพบว่านิวเคลียสมีขนาด 0.7 กิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าวัตถุไคเปอร์ทั่วไป นับเป็นเรื่องแปลกที่ดาวหางดวงนี้ยังคงสภาาพเป็นดาวหางอยู่ เพราะเมื่อเทียบอายุ 4.5 พันล้านปีของระบบสุริยะแล้ว การถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์แผดเผาเป็นเวลานานน่าจะทำให้ดาวหางเล็กขนาดนี้สลายไปหมดแล้ว   

ยานมาเวน ดาวเทียมสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซาอีกลำหนึ่ง ซึ่งเดินทางไปถึงดาวอังคารปีที่แล้วในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเข้าใกล้ของดาวหาง ก็ได้มีโอกาสสังเกตว่าดาวหางไซดิงสปริงส่งผลกระทบอย่างไรต่อบรรยากาศของดาวอังคาร

ในขณะเดียวกัน ยานคิวริโอซิตีกับออปพอร์ทูนิตี ซึ่งเป็นรถสำรวจที่แล่นอยู่บนดาวอังคารมาหลายปีแล้วก็มีโอกาสได้แหงนหน้าขึ้นถ่ายภาพดาวหางดวงนี้จากภาคพื้นดินด้วย ทำให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นภาพดาวหางจากโลกใบอื่นเป็นครั้งแรก

นักดาราศาสตร์หลายคนเชื่อว่าน้ำบนโลกมาจากดาวหาง  ทฤษฎีนี้อธิบายว่า ตั้งแต่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้นมา มีดาวหางจำนวนมากแวะเวียนเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน บางดวงอาจชนหรือเฉียดโลกและได้ทิ้งน้ำเอาบนโลก น้ำจากดาวหางดวงแล้วดวงเล่าได้สะสมกันมากขึ้นจนกลายเป็นมหาสมุทรอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ กรณีของดาวหางไซดิงสปริงน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการดังกล่าวที่เคยเกิดขึ้นกับโลก
ดาวหางไซดิงสปริงขณะเข้าใกล้ดาวอังคารเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2557 ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

ดาวหางไซดิงสปริงขณะเข้าใกล้ดาวอังคารเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2557 ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (จาก NASA, ESA, J.-Y. Li (PSI), C.M. Lisse (JHU/APL), and the Hubble Heritage Team (STScI/AURA))

ที่มา: