สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ

ดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ

8 ก.ย. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่นี้มีชื่อว่า 2021 พีเอช 27 (2021 PH27) โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบเพียง 113 วัน ยาวนานกว่าดาวพุธเพียงเล็กน้อย (ดาวพุธมีคาบการโคจร 88 วัน) แต่มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดมากกว่าดาวพุธ หรือกล่าวอีกอย่างว่า เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากกว่าดาวพุธนั่นเอง เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีวงโคจรรีมาก มีจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างมากกว่าของดาวศุกร์เสียอีก เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด จะมีอุณหภูมิสูงถึง 480 องศาเซลเซียส 

ดาวเคราะห์น้อย 2021 พีเอช 27 ตามจินตนาการของศิลปิน (จาก (Katherine Cain/Carnegie Institution for Science))

นอกจาก 2021 พีเอช 27 มีวงโคจรจะรีมากแล้วยังไม่เสถียรอีกด้วย นั่นหมายความว่า ภายในเวลาอีกไม่กี่ล้านปี ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจถูกเหวี่ยงออกไปภายนอก หรือไม่ก็ชนเข้ากับดาวพุธ หรือดาวศุกร์ หรืออาจจะพุ่งเข้าใส่ดวงอาทิตย์

วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2021 พีเอช 27   (จาก Katherine Cain and Scott Sheppard/Carnegie Institution for Science)


"เชื่อว่าเดิม 2021 พีเอช 27 เคยเป็นดาวเคราะห์น้อยแถบหลักมาก่อน แต่ต่อมาถูกรบกวนโดยความโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์วงใน จึงหลุดออกจากวงโคจรเดิมมาอยู่ในวงโคจรปัจจุบัน" สก็อตต์ เชปเพิร์ด จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกีอธิบาย

"แต่การที่วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีระนาบเอียงถึง 32 องศา ก็ชวนให้คิดว่าอาจมีต้นกำเนิดมาจากส่วนนอกของระบบสุริยะก็เป็นได้ เช่นเป็นดาวหางที่ตายแล้วที่เคยโคจรผ่านเข้ามาใกล้ดาวเคราะห์บางดวงแล้วถูกรบกวนให้วงโคจรเปลี่ยนมาโคจรใกล้ดวงอาทิตย์เช่นในปัจจุบัน" 

ดาวเคราะห์น้อย 2021 พีเอช 27 เป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอะทีรา ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรเล็กกว่าโลก การสังเกตดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้ยากมาก เพราะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ช่วงเวลาที่พอจะสังเกตได้มีเพียงช่วงสั้น ๆ ก่อนอาทิตย์ขึ้นและหลังอาทิตย์ตกเท่านั้น 

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ถ่ายภาพแรกได้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ด้วยกล้องบลังโก เมตรของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐในชิลี และใช้เวลาอีกสองวันต่อมาถ่ายภาพวัตถุดวงใหม่นี้เพิ่มเติม เพื่อส่งต่อให้ เดวิด ทอเลน จากมหาวิทยาลัยฮาวายคำนวณหาวงโคจร

ภาพที่ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2021 พีเอช 27 (2021 PH27)  (จาก Ian Dell'Antonio and Shenming Fu/Brown University)

นอกจากจะทราบวงโคจรแล้ว ยังประเมินได้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดราว กิโลเมตร นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่วัตถุใหญ่ขนาดนี้หลงหูหลงตานักดาราศาสตร์มาได้เป็นเวลานานก่อนจะถูกพบในครั้งนี้

ขณะนี้ดาวเคราะห์น้อย 2021 พีเอช 27 กำลังอ้อมหลังดวงอาทิตย์อยู่ จึงมองไม่เห็นในช่วงนี้ จะต้องรอให้ถึงต้นปี 2565 จึงจะปรากฏโฉมอีกครั้ง เมื่อถึงเวลานั้นนักดาราศาสตร์จะติดตามสังเกตวัตถุดวงนี้ต่อไปเพื่อค้นหาความเร้นลับที่อาจซุกซ่อนอยู่