สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โลกเคยมีวงแหวนเมื่อ 466 ล้านปีก่อน

โลกเคยมีวงแหวนเมื่อ 466 ล้านปีก่อน

11 ธ.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในระบบสุริยะของเรา มีดาวเคราะห์หลายดวงที่มีวงแหวน ดวงที่โดดเด่นที่สุดก็คือดาวเสาร์ นอกจากดาวเสาร์แล้ว ดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ก็มีวงแหวนเหมือนกัน แม้แต่ดาวอังคารก็มีหลักฐานว่าอาจเคยมีวงแหวนมาก่อน 

ล่าสุด นักดาราศาสตร์พบว่าโลกเราก็อาจเคยมีวงแหวนกับเขาด้วย 

นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งนำโดย แอนดี ทอมคินส์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียได้ศึกษาหลุมอุกกาบาตหลายแห่งทั่วโลก และพบว่ามี 21 แห่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็นชิ้นส่วนที่แตกมาจากดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ดวงหนึ่งในช่วง 488 ล้านถึง 443 ล้านปีก่อน เป็นยุคที่เรียกว่า ยุคออร์โดวิเชียน ซึ่งเป็นยุคที่ทราบกันว่ามีดาวเคราะห์น้อยชนโลกมากขึ้นกว่าปกติ

จากการศึกษาด้านการเลื่อนของแผ่นธรณีภาคด้วยแบบจำลองที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่าในยุคที่เกิดการชนจนทำให้เกิดหลุมดังกล่าว หลุมทั้ง 21 หลุมนี้เรียงกันอยู่ในแนวเขตศูนย์สูตรของโลก

ภาพในจินตนาการของศิลปิน แสดงโลกที่มีวงแหวนที่เกิดจากเศษซากของดาวเคราะห์น้อยที่แตกออกแล้วโคจรล้อมรอบโลก  (จาก Oliver Hull/Monash University)

ปกติโลกมีโอกาสถูกดาวเคราะห์น้อยชนได้ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตศูนย์สูตรหรือใกล้ขั้วโลกก็มีโอกาสไม่ต่างกัน ดังจะเห็นตัวอย่างได้ที่ดวงจันทร์ ดาวพุธ และดาวอังคาร ซึ่งพรุนไปด้วยหลุมอุกกาบาตทั่วทั้งดวง การที่หลุมอุกกาบาต 21 แห่งจะเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันเฉพาะเขตศูนย์สูตรโดยความบังเอิญมีเพียงหนึ่งใน 25 ล้านเท่านั้น ดังนั้นจึงน่าจะเชื่อได้ว่าหลุมทั้ง 21 หลุมจะต้องมีบางอย่างเกี่ยวข้องกัน

นักดาราศาสตร์คณะของทอมคินส์เสนอทฤษฎีว่า ในช่วงนั้น มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งเข้ามาเฉียดใกล้โลกแต่ไม่ถึงกับชน  ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นได้แตกออกเป็นเสี่ยงและทิ้งเศษซากจะกระจายไปเป็นแนวโคจรรอบโลกในแนวศูนย์สูตร ทำให้โลกกลายเป็นดาวเคราะห์มีวงแหวน

วงแหวนที่เกิดขึ้นคงอยู่ได้ไม่นานนัก หลังจากนั้นอีกไม่กี่ล้านปี เศษหินน้อยใหญ่ที่ประกอบกันเป็นวงแหวนทยอยตกลงสู่โลก เรื่องนี้มีหลักฐานสนับสนุนคือ พบชั้นของหินตะกอนที่เกิดขึ้นในยุคดังกล่าวมีมีเศษอุกกาบาตปะปนอยู่มากเป็นพิเศษ

นักดาราศาสตร์คณะดังกล่าวประเมินว่า ดาวเคราะห์น้อยที่มาทำให้เกิดวงแหวนของโลกมีขนาดราว 12.5 กิโลเมตรหากมีโครงสร้างแบบกองหิน แต่ถ้ามีโครงสร้างเป็นหินตันก็อาจมีขนาดเล็กกว่านี้เล็กน้อย ส่วนช่วงเวลาที่เกิดวงแหวนที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือประมาณ 466 ล้านปีก่อน

หากโลกเคยมีวงแหวนจริง วงแหวนของโลกก็น่าจะมีผลต่อฤดูกาลบนโลกด้วย เนื่องจากแกนหมุนของโลกเอียงทำมุมกับระนาบวงโคจร เมื่อโลกเอียงวงแหวนเข้าหาดวงอาทิตย์ จะทอดเงาลงบนผิวโลกเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้เกิดภาวะหนาวเย็นทั่วโลก บางทีอาจเป็นวงแหวนของโลกนี่เองที่เป็นสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ยุคน้ำแข็งเฮอร์นัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 465 ล้านปีก่อน เป็นยุคที่โลกหนาวเย็นที่สุดในรอบ 500 ล้านปี

ถึงขณะนี้ แม้ข้อมูลที่มีอยู่อาจยังไม่หนักแน่นพอที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าโลกเราเคยมีวงแหวนจริง แต่อย่างน้อยทฤษฎีนี้ก็พาให้เราต้องจินตนาการว่าโลกเราจะเป็นอย่างไรในช่วงนั้น ลองหลับตานึกภาพดูดาวเคราะห์สีน้ำเงินแสนสวยที่มีวงแหวนล้อมรอบ คงเป็นดาวเคราะห์ที่น่าดูไม่ใช่น้อย