สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางโฮมส์ (17P/Holmes)

ดาวหางโฮมส์ (17P/Holmes)

27 พฤศจิกายน 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 23 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
วันที่ 24 ตุลาคม 2550 ดาวหางโฮมส์ (17P/Holmes) ซึ่งโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ได้สว่างขึ้นอย่างฉับพลันจากความสว่างเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมถึงเกือบล้านเท่า สามารถมองเห็นดาวหางได้ด้วยตาเปล่าโดยอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส มีลักษณะเป็นดวงกลมฝ้ามัว แตกต่างจากดาวฤกษ์ทั่วไปบนท้องฟ้า กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์สามารถส่องเห็นหัวดาวหางที่มีขนาดราวครึ่งหนึ่งของดวงจันทร์ หางเริ่มปรากฏให้เห็นแต่สั้นและจางกว่าหัวดาวหางมาก นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางโฮมส์จะยังคงสว่างเช่นนี้ต่อไปอีกถึงอย่างน้อยกลางเดือนพฤศจิกายน

ลำดับเหตุการณ์

จดหมายข่าวจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลฉบับที่ 8886 ระบุว่าควน อันโตเนียว เอนริเกซ ซันตานา (Juan Antonio Henriquez Santana) นักดาราศาสตร์บนเกาะเตเนรีฟในหมู่เกาะคะเนรีของสเปน สังเกตพบความผิดปกตินี้เป็นคนแรกเมื่อหลังเที่ยงคืนก่อนเช้ามืดวันพุธที่ 24 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น

ดาวหางโฮมส์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2550 เวลา 8.30 น. ตามเวลาสากล (ภาพ Griffith Observatory Anthony Cook) 

ดาวหางโฮมส์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2550 เวลา 21.17 น. ตามเวลาประเทศไทย (ภาพ วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต) 

ขณะนั้นดาวหางมีโชติมาตร สว่างขึ้นจากเดิมที่โชติมาตร 17 จากนั้นไม่กี่นาที นักดาราศาสตร์ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของดาวหางดวงนี้โดยคะเนว่าดาวหางสว่างที่โชติมาตร 7.3 ดาวหางโฮมส์สว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา ซึ่งนักดาราศาสตร์ในญี่ปุ่นได้รายงานว่าสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่าแม้อยู่ในเมืองใหญ่

วันที่ 25 ตุลาคม 2550 เวลา 0.15 น. ตามเวลาประเทศไทย นักดาราศาสตร์ในญี่ปุ่นรายงานว่าดาวหางสว่างที่โชติมาตร 2.8 ลักษณะทั่วไปดูคล้ายดาวฤกษ์มากกว่าดาวหาง

วันที่ 28 ตุลาคม 2550 หัวดาวหางหรือโคม่าของดาวหางโฮมส์ขยายใหญ่ขึ้นอย่างมากจนมีขนาดราว 6-7 ลิปดา ความสว่างโดยรวมของดาวหางนับจากวันที่ 25 ตุลาคม ค่อนข้างคงที่ที่โชติมาตร 2.3-2.8 ดาวหางเริ่มมีลักษณะเป็นหมอกฝ้าทรงกลม ไม่เหมือนก่อนหน้านั้นที่เป็นจุดคล้ายดาว

วันที่ 31 ตุลาคม 2550 นักดาราศาสตร์เริ่มถ่ายภาพติดหางของดาวหาง โคม่ามีขนาดราว 10 ลิปดาหรือหนึ่งในสามของขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะที่ความสว่างยังคงที่ สามารถสังเกตเห็นได้ว่ามันมีลักษณะเป็นดวงกลมฝ้า รายงานจากที่ต่าง ๆ ระบุว่ากล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงส่องเห็นนิวเคลียสซึ่งเป็นจุดที่สว่างที่สุด พื้นที่ที่สว่างที่สุดของหัวดาวหางเบี่ยงเบนจากตำแหน่งของนิวเคลียส ขอบรอบหัวดาวหางสว่างกว่าด้านในเล็กน้อย

ดาวหางโฮมส์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2550 โดยใช้แผ่นกรองแสงสีน้ำเงิน ได้จากการรวมภาพที่เปิดหน้ากล้องนาน 180 วินาที จำนวนสามภาพ เห็นหางจาง ๆ ซึ่งชี้ออกไปด้านหลังในแนวสายตา (Copyright © 2007 Michael Jäger) 

ภาพสีเป็นภาพดาวหางโฮมส์เมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2550 แสดงให้เห็นโครงสร้างอันซับซ้อนของโคม่าและหางแก๊สจาง ๆ ภาพขวาเป็นภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ถ่ายเมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2550 (ภาพ NASA, ESA, H. Weaver (The Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory))
 


วันที่ พฤศจิกายน 2550 เมื่อส่องดูดาวหางด้วยกล้องโทรทรรศน์เริ่มสังเกตเห็นหางได้จาง ๆ โคม่าขยายใหญ่จนมีขนาดราวครึ่งหนึ่งของขนาดปรากฎดวงจันทร์ แต่ความสว่างโดยรวมยังคงที่ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าแม้อยู่ในเมืองที่มีมลพิษทางแสง (แต่ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอน)

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ความสว่างของดาวหางโฮมส์ยังคงที่ ส่วนโคม่าได้ขยายใหญ่ขึ้นจนใกล้เคียงกับขนาดปรากฎของดวงจันทร์ นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวายอาศัยกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย (Canada-France-Hawaii Telescope -- CFHT) ที่สามารถถ่ายภาพมุมกว้างได้พบว่าโคม่าของดาวหางโฮมส์มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4 ล้านกิโลเมตร นับได้ว่าใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 มีการเผยแพร่ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลซึ่งถ่ายไว้ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 ภาพเมื่อวันที่ พฤศจิกายน แสดงให้เห็นการกระจายตัวของฝุ่นที่ไม่สม่ำเสมอรอบนิวเคลียส โดยฝุ่นมีปริมาณมากในแนวตะวันออก-ตะวันตก

ดาวหางโฮมส์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2550 เวลา 1.22 น. ตามเวลาประเทศไทย (ภาพ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา) 

ตำแหน่งดาวหางโฮมส์ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงต้นเดือนเมษายน 2551 เวลาประมาณ 20.00 น. ดาวหางมีลักษณะเป็นดวงกลมฝ้า ใจกลางสว่าง 

วงโคจรของดาวหางโฮมส์ มองจากทิศเหนือของระบบสุริยะ สังเกตตำแหน่งดาวหางเทียบกับโลกและดวงอาทิตย์ 

สันนิษฐานกันว่าการปะทุความสว่างครั้งนี้อาจเกิดจากบางส่วนของดาวหางได้หลุดออกแล้วแตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้หวังว่าการสังเกตด้วยกล้องฮับเบิลอาจช่วยยืนยันแนวคิดดังกล่าว ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยคาดคะเนขนาดนิวเคลียสของดาวหางโฮมส์จากความสว่างว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.4 กิโลเมตร การวัดขนาดของดาวหางในปัจจุบันหรืออนาคตอาจบอกได้ว่าดาวหางสูญเสียมวลสารออกไปมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม การสังเกตในช่วงที่ผ่านมายังไม่แสดงให้เห็นถึงชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบบที่เคยพบในดาวหางชวาสมานน์-วัคมานน์ 3 ปัจจุบันดาวหางอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1.6 หน่วยดาราศาสตร์ (240 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งทำให้การสังเกตชิ้นส่วนที่เชื่อว่าแตกออกจากดาวหางด้วยกล้องฮับเบิลเป็นไปได้ยาก

นักดาราศาสตร์คาดหมายว่าดาวหางโฮมส์จะยังคงสว่างเช่นนี้และมีขนาดของโคม่าขยายใหญ่ขึ้นได้อีกจนถึงจุดหนึ่งที่ความสว่างพื้นผิวจางลงจนกลืนไปกับท้องฟ้า สีขาว-เหลืองของดาวหางที่สังเกตได้ในขณะนี้เกิดจากฝุ่นดาวหางสะท้อนกับแสงอาทิตย์ หางของดาวหางโฮมส์ซึ่งไม่น่าจะยาวมากนักกำลังชี้ออกไปข้างหลังในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และโลก เราจึงแทบไม่สังเกตเห็นหรือเห็นได้ยาก

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 รายงานระบุว่าความสว่างโดยรวมของดาวหางโฮมส์ลดลงไปที่โชติมาตร 3.4 ท่ามกลางแสงจันทร์

การสังเกตในประเทศไทย

ประเทศไทยสามารถมองเห็นดาวหางโฮมส์ได้โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มหรือสามทุ่มเป็นต้นไป แต่น่าจะเริ่มเห็นได้ดีในช่วงที่ดาวหางขึ้นสูงห่างจากขอบฟ้ามากกว่านั้น คือช่วงเวลาตั้งแต่ 4-5 ทุ่มเป็นต้นไป โดยสังเกตการณ์ได้ทั้งคืนจนถึงก่อนฟ้าสางซึ่งดาวหางจะเคลื่อนไปทางซ้ายมือตามการหมุนของโลก ดาวหางจะมีตำแหน่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ (ดูแผนที่ตำแหน่งดาวหาง) ปัจจุบันดาวหางดวงนี้มีลักษณะเป็นดวงกลมฝ้า ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ดูคล้ายดาวฤกษ์

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีแสงจันทร์รบกวนการดูดาวหาง แต่ไม่เป็นอุปสรรคมากนักเนื่องจากดาวหางค่อนข้างสว่าง ครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายนเป็นคืนเดือนมืด จึงสามารถสังเกตดาวหางได้ชัดเจนในกรณีที่ท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกรบกวน แต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน 2550 แสงจันทร์ได้กลับมารบกวนอีกครั้ง น่าจะสังเกตดาวหางได้ดีขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนห่างจากดาวหางมากขึ้น

วงโคจร

ดาวหางโฮมส์เป็นดาวหางคาบสั้น จึงมีชื่อเรียกเป็นรหัสว่า 17P/Holmes มันโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 6.88 ปี วงโคจรมีความรีสูงและเอียงทำมุมประมาณ 19 องศากับระนาบวงโคจรโลก เข้าใกล้ดวงอาทิตยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ พฤษภาคม 2550 ด้วยระยะห่าง 2.05 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณสองเท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ไกลเกือบถึงวงโคจรของดาวพฤหัสบดี

ดาวหางคืออะไร?

ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ดาวหางมี "นิวเคลียส" หรือใจกลางที่มีขนาดราว 1-10 กิโลเมตรเท่านั้น มักเรียกดาวหางกันว่าเป็น "ก้อนหิมะสกปรก" เนื่องจากดาวหางมีองค์ประกอบของน้ำแข็ง ฝุ่น และหิน ดาวหางมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยขณะที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ แต่เมื่อมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น รังสีจากดวงอาทิตย์ทำให้ดาวหางอุ่นขึ้น น้ำแข็งที่ปกคลุมดาวหางจะระเหิดนำพาฝุ่น แก๊ส และโมเลกุลต่าง ๆ พุ่งออกมาโดยรอบ เกิดเป็นหัวดาวหางหรือโคม่า (coma) ห่อหุ้มรอบนิวเคลียสไว้ นอกจากนี้แรงดันและกระแสอนุภาคมีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ เป็นตัวผลักดันให้แก๊สและฝุ่นพุ่งทอดยาวออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เกิดเป็นหางของดาวหาง

ในอดีตจนถึงเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ผู้คนค่อนข้างหวาดกลัวการปรากฏตัวของดาวหาง เพราะมันดูจะเป็นสิ่งแปลกประหลาดที่จู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาบนท้องฟ้า ความรู้สมัยใหม่บอกเราว่าแท้จริงดาวหางเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีดาวหางอยู่มากมายในอวกาศเพียงแต่แทบทั้งหมดอยู่ห่างจากโลกและไม่สว่างนัก จะสว่างขึ้นจนสังเกตพบได้เมื่อมันโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์