ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)
หมายเหตุ : 4 ธันวาคม 2556 - ขณะนี้ดาวหางไอซอนได้แตกสลายไปแล้ว ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกต่อไป คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ปลายปีนี้เป็นช่วงที่ดาวหางไอซอนจะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดโดยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปลายเดือนพฤศจิกายน และใกล้โลกที่สุดในปลายเดือนธันวาคม 2556 นักดาราศาสตร์คาดหมายว่าไอซอนอาจสว่างถึงระดับที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าจากสถานที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ส่วนจะสว่างมากน้อยเพียงใด เห็นได้ในเมืองใหญ่หรือไม่ ขณะนี้ยังคงไม่สามารถบอกได้แน่ชัด
ผลการวัดความสว่างของดาวหางตั้งแต่ค้นพบจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี2556 ก่อนที่ดาวหางไอซอนจะหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ และเมื่อดาวหางเริ่มปรากฏในเวลาเช้ามืดตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าดาวหางไอซอนอาจไม่สว่างถึงระดับที่คาดไว้ในตอนแรก และอาจถึงขั้นทำให้หลายคนที่เฝ้ารอต้องพบกับความผิดหวัง ยกเว้นจะเกิดการปะทุความสว่างขึ้นมาอย่างมาก ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดาวหางไอซอนอย่างใกล้ชิดต่อไป
การค้นพบ
วีตาลีเนฟสกี (Виталия Невского) ในเบลารุส และอาร์ตีออม โนวีโชนอค (Артем Новичонок) ในรัสเซีย เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นสองคนที่ร่วมกันค้นพบดาวหางไอซอนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ด้วยกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 0.4 เมตร ที่หอดูดาวคิสโลวอดสค์ (Kislovodsk Observatory) ในรัสเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้เครือข่ายไอซอน (ISON ย่อมาจาก International Scientific Optical Network) เป็นเครือข่ายสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในความร่วมมือกันจากหลายประเทศ อันเป็นที่มาของชื่อดาวหาง
ดาวหางไอซอนมีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลาระนาบวงโคจรเอียงทำมุม 62° กับระนาบวงโคจรโลก วงโคจรของดาวหางไอซอนที่เป็นวงโคจรแบบเปิด แสดงว่ามันเดินทางมาจากเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของดาวหางจำนวนมาก และนับเป็นซากที่หลงเหลือมาตั้งแต่ระบบสุริยะก่อตัว คาดว่าภายในเมฆออร์ตมีดาวหางกระจัดกระจายเป็นทรงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ ไม่ทราบขอบเขตที่แน่ชัด คาดว่าขอบเขตด้านในอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 2,000 หน่วยดาราศาสตร์ ขอบเขตด้านนอกอาจไกลในระดับหลายพันหน่วยดาราศาสตร์
ช่วงแรกๆ หลังการค้นพบไม่นาน นักดาราศาสตร์พยากรณ์ความสว่างของดาวหางโดยใช้ความสว่างที่วัดได้ในขณะนั้น ร่วมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหางโดยเฉลี่ยทั่ว ๆ ไป ผลการคำนวณพบว่าขณะสว่างที่สุดเมื่อใกล้ดวงอาทิตย์ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 ดาวหางไอซอนอาจมีความสว่างอยู่ระหว่างโชติมาตร -6 ถึง -16 จึงมีความหวังว่ามันอาจสว่างพอจะเห็นได้จาง ๆ บนท้องฟ้าเวลากลางวัน และนำมาซึ่งฉายาที่มีผู้ตั้งให้ล่วงหน้าว่ามันอาจเป็น "ดาวหางแห่งศตวรรษ" และ "ดาวหางที่สว่างกว่าดวงจันทร์"
ทว่าการวัดความสว่างในเวลาต่อมาประกอบกับวงโคจรที่มีความแน่นอนมากขึ้น พบว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ดาวหางไอซอนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จึงมีความเป็นไปได้ที่มันจะมีพฤติกรรมแบบ "ดาวหางน้องใหม่" ที่มีความตื่นตัวสูงเกินระดับปกติแม้ยังอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ แต่เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ดาวหางกลุ่มนี้จะมีอัตราการเพิ่มความสว่างน้อยกว่าในช่วงแรก และต่ำกว่าความคาดหมาย
ขณะค้นพบเมื่อเดือนกันยายน2555 ดาวหางไอซอนมีโชติมาตร 18.8 ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2556 ความสว่างเกือบคงที่ราวโชติมาตร 16 หากไอซอนมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างแบบดาวหางโดยเฉลี่ยทั่ว ๆ ไป กลางเดือนมิถุนายน 2556 ควรจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นมาที่โชติมาตร 14 แต่ผลการสังเกตพบว่าอยู่ที่โชติมาตร 15.5
หลังจากอยู่ในแสงจ้าของดวงอาทิตย์นักดาราศาสตร์คาดว่าจะเริ่มสังเกตไอซอนได้อีกครั้งราวปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน แต่ด้วยความพยายามของบรูซ แกรี (Bruce Gary) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่แอริโซนา ทำให้เขาสามารถถ่ายภาพดาวหางไอซอนได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 11 นิ้ว เมื่อเช้ามืดวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ขณะที่ดาวหางอยู่สูงจากขอบฟ้าเพียง 6° (หากรอให้ดาวหางเคลื่อนสูงกว่านั้น ท้องฟ้าจะสว่างมากขึ้นจนไม่สามารถถ่ายภาพได้) แกรีได้ประเมินความสว่างจากการวัดแสงว่าอยู่ที่โชติมาตร 14.3 (±0.2) ซึ่งหากเทียบกับผลการคำนวณในช่วงแรก ๆ ก็ยังคงจางกว่าที่ควรจะเป็นราว 2 อันดับ
ความสว่างที่น้อยกว่าความคาดหมายนับเป็นข่าวร้าย และอาจบอกถึงอนาคตของดาวหางดวงนี้ หากนำความสว่างที่วัดได้ล่าสุดนี้ไปคำนวณ จะต้องปรับตัวเลขในสมการ ซึ่งทำให้เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2556 ดาวหางไอซอนจะมีความสว่างน้อยลงมากเมื่อเทียบกับผลการพยากรณ์ในปลายปี 2555 และเมื่อเปรียบเทียบกับดาวหางอื่น ๆ ในอดีต มีความเป็นไปได้ที่นิวเคลียสของดาวหางไอซอนอาจแตกก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด หรือแตกขณะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังคงรอให้ดาวหางไอซอนมีตำแหน่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น เพื่อให้การวัดความสว่างทำได้ง่ายและมีความแน่นอนมากขึ้น ขณะนี้การพยากรณ์ความสว่างจึงยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
ตามกำหนดการดาวหางไอซอนจะผ่านใกล้ดาวอังคารในต้นเดือนตุลาคม เฉียดใกล้ดาวอังคารที่สุดในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง และใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 เวลาเกือบตี 2 ตามเวลาประเทศไทย ครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่สามารถสังเกตดาวหางได้ในเวลาเช้ามืด อย่างน้อยก็ด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ส่วนจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ และสว่างในระดับใด ขณะนี้เป็นเพียงการคาดหมายที่ยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้
ช่วงที่ดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดดาวเทียมที่เฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์อยู่จะสามารถจับภาพดาวหางได้ และหากดาวหางไอซอนไม่แตกไปเสียก่อน มันจะกลับมาปรากฏอีกครั้งบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือนธันวาคม 2556 โดยเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น
นักดาราศาสตร์ที่องค์การนาซาร่วมมือกับนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันเปิดเว็บไซต์ Comet ISON Observing Campaign เพื่อกระตุ้นให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกสังเกตการณ์ดาวหางไอซอน มีการเผยแพร่ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของดาวหาง และได้คาดหมายความเป็นไปได้ในอนาคตของดาวหางไอซอนออกเป็น 3 แบบ
กรณีที่1 เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ดาวหางไอซอนอาจแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ คล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวหางเอเลนิน การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งแรก ทำให้น้ำแข็งบนดาวหางระเหิดไปเกือบหมด แม้ยังอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ความไร้เสถียรภาพของนิวเคลียสที่เปราะบาง นำไปสู่การแตกสลาย ทำให้ดาวหางมีความสว่างลดลง และกลายเป็นดาวหางที่น่าผิดหวังอีกดวงหนึ่ง
กรณีที่2 ดาวหางไอซอนกลายเป็นดาวหางที่สว่างดวงหนึ่ง โดยมีความสว่างเพิ่มขึ้นและสังเกตได้ดีเกือบตลอดเดือนพฤศจิกายน แต่เมื่อผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดไปแล้ว ความร้อนสูงกับแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ ฉีกดาวหางให้แตกออก โดยอาจปะทุความสว่างขึ้นเล็กน้อยหลังเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ แต่ก็จางลงอย่างรวดเร็ว
กรณีที่3 ดาวหางไอซอนเป็นดาวหางที่น่าจดจำ สว่างที่สุดในรอบหลายสิบปี ในกรณีนี้ ดาวหางไอซอนจะสว่างขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายนอาจเริ่มเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนกระทั่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งอาจมีความสว่างมากพอจะเห็นได้จาง ๆ ในเวลากลางวันเป็นเวลาสั้น ๆ ขณะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ เมื่อเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ในเดือนธันวาคม ดาวหางยังคงสว่างและมีหางยาว ก่อนจะจางลง และสังเกตได้ต่อไปถึงต้นเดือนมกราคม 2557
ทุกคนคงตั้งความหวังว่าดาวหางไอซอนจะดำเนินไปตามเส้นทางในกรณีที่3 แต่ต้องกล่าวว่าข้อมูลถึงต้นเดือนกันยายน 2556 ยังมีความเป็นไปได้อยู่น้อย อย่างไรก็ตาม อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าดาวหางไอซอนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในกรณีใด อย่างน้อยควรต้องรอผลการสังเกตการณ์ตลอดช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ดาวหางไอซอนจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น จนเริ่มสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ก่อนท้องฟ้าสว่างในเวลาเช้ามืด ความสว่างที่วัดได้ในช่วงดังกล่าวน่าจะช่วยให้การคาดหมายอนาคตของไอซอนมีความแน่นอนมากขึ้น
นอกจากการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ตามหอดูดาวต่างๆ องค์การนาซาวางแผนจะใช้ยานอวกาศหลายลำในการสังเกตดาวหางไอซอนด้วย
เมื่อดาวหางผ่านใกล้ดาวอังคารในวันที่1-2 ตุลาคม 2556 ที่ระยะห่างประมาณ 11 ล้านกิโลเมตร จะมียานสำรวจดาวอังคารหันอุปกรณ์ไปหาดาวหาง โดยหลักคือยานมาร์สรีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter หรือ MRO) ซึ่งโคจรรอบดาวอังคารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 มีกล้องถ่ายภาพและสเปกโทรมิเตอร์ สามารถถ่ายภาพและวัดสเปกตรัมของดาวหาง
หากดาวหางสว่างมากพอออปพอร์ทูนิตี (Opportunity) และคิวรีออสซิตี
ปลายปีนี้เป็นช่วงที่ดาวหางไอซอนจะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด
ผลการวัดความสว่างของดาวหางตั้งแต่ค้นพบจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี
การค้นพบ วงโคจร และความคาดหมาย
วีตาลี
ดาวหางไอซอนมีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา
ช่วงแรก
ทว่าการวัดความสว่างในเวลาต่อมา
ขณะค้นพบเมื่อเดือนกันยายน
หลังจากอยู่ในแสงจ้าของดวงอาทิตย์
ความสว่างที่น้อยกว่าความคาดหมาย
ตามกำหนดการ
ช่วงที่ดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
อนาคตของดาวหางไอซอน
นักดาราศาสตร์ที่องค์การนาซาร่วมมือกับนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบัน
กรณีที่
กรณีที่
กรณีที่
ทุกคนคงตั้งความหวังว่าดาวหางไอซอนจะดำเนินไปตามเส้นทางในกรณีที่
แผนการสังเกตการณ์จากอวกาศ
นอกจากการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ตามหอดูดาวต่าง
เมื่อดาวหางผ่านใกล้ดาวอังคารในวันที่
หากดาวหางสว่างมากพอ