สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคาเต็มดวง : 4/5 พฤษภาคม 2547

จันทรุปราคาเต็มดวง : 4/5 พฤษภาคม 2547

13 เมษายน 2547
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 23 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
คืนวันอังคารที่ พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ หากไม่มีฝนตกและท้องฟ้าโปร่ง เราจะมีโอกาสมองเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่าจันทรุปราคา หรือที่ชาวบ้านทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อ "ราหูอมจันทร์" หรือ "จันทรคราส" สามารถมองเห็นได้ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน (วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ พ.ค.) นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในรอบ ปีสำหรับคนไทยในประเทศ และเป็นอุปราคาครั้งเดียวของปี 2547 ที่คนไทยจะได้เห็น (ปีนี้มีจันทรุปราคาอีก ครั้ง และสุริยุปราคาอีก ครั้ง แต่ไม่สามารถมองเห็นได้จากประเทศไทย)

โลกและดวงจันทร์เป็นวัตถุที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แสงอาทิตย์ที่ส่องมาถึงโลก ทำให้เกิดเงาทอดออกไปในอวกาศในทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาโลก จะทำให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ดวงจันทร์ที่เคยสว่างเต็มดวงจะแหว่งเว้าเนื่องจากถูกบดบังด้วยเงาของโลก จันทรุปราคามีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในคืนวันเพ็ญที่ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง

"ภาพจำลอง" ดวงจันทร์ขณะผ่านเข้าไปในเงาของโลกในคืนวันที่ 4/5 พฤษภาคม 2547 

แม้ว่าดวงจันทร์จะเพ็ญเดือนละครั้งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจันทรุปราคาได้ทุกเดือน สาเหตุเนื่องจากในคืนวันเพ็ญ ส่วนใหญ่แล้วดวงจันทร์ไม่ได้มีเส้นทางผ่านเข้าไปในเงาของโลก ซึ่งเป็นผลจากการที่ระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ไม่ได้ซ้อนทับกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์

จันทรุปราคามีอยู่ด้วยกัน ประเภท คือ จันทรุปราคาเต็มดวง จันทรุปราคาบางส่วน และจันทรุปราคาแบบเงามัว จันทรุปราคาเต็มดวงหมายถึงจันทรุปราคาที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดหมดทั้งดวง ดวงจันทร์มืดสลัวลงมาก และมีสีส้มหรือน้ำตาล ส่วนจันทรุปราคาบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกเงามืดของโลกบดบังไปเพียงบางส่วนของตัวดวง จันทรุปราคาแบบเงามัวจะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงามัวเท่านั้น จันทรุปราคาชนิดสุดท้ายนี้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ได้ยาก

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง คืนวันที่ 4/5 พฤษภาคม 2547
เหตุการณ์เวลามุมเงยของดวงจันทร์
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)00.51 น.58°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่ง)01.48 น.51°
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง)02.52 น.40°
4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ (ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด)03.30 น.32°
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์ออกจากเงามืด)04.08 น.24°
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง)05.12 น.10°
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก06.09 น.-3°


จันทรุปราคาครั้งนี้คล้ายกับจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่แล้วที่มองเห็นเมื่อคืนวันที่ มกราคม 2544 คือ เริ่มเกิดในขณะที่ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตก แม้ว่าดวงจันทร์จะเริ่มเข้าไปในเงามัวตั้งแต่เวลา 0.51 น. แต่เราจะเริ่มสังเกตเห็นความสว่างของดวงจันทร์ที่ลดลงได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 1.30 น. หลังจากเวลานี้ ขอบด้านบนค่อนไปทางซ้ายมือของดวงจันทร์จะเริ่มคล้ำลงมากขึ้น จนเวลา 1.48 น. จึงจะเห็นว่าขอบดวงจันทร์ด้านดังกล่าวถูกเงาโลกกินลึกเข้าไปเล็กน้อยเป็นจังหวะที่เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน เมื่อเวลาผ่านไป เงาโลกที่ทอดตกลงบนดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนมาทางขวามืออย่างช้าๆ กระทั่งเวลา 2.45 น. จะเห็นดวงจันทร์เหลือส่วนสว่างอยู่ทางด้านล่าง ณ เวลานี้ ดวงจันทร์ส่วนที่เงาโลกบังอยู่จะเริ่มสว่างขึ้นเล็กน้อย

คนที่ดูดวงจันทร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาอาจมองเห็นว่าส่วนของดวงจันทร์ที่อยู่ในเงามืดแลดูสว่างขึ้น จนเวลา 2.52 น. เงามืดจะเริ่มบังดวงจันทร์ไว้หมดทั้งดวง แสงอาทิตย์ที่หักเหในบรรยากาศโลกและไปตกลงบนดวงจันทร์ จะทำให้ดวงจันทร์มีสีน้ำตาล สีแดงอิฐ หรือสีส้ม เป็นจังหวะที่เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะผ่านใกล้จุดศูนย์กลางของเงามืดของโลกมากที่สุดในเวลา 3.30 น. หลังจากที่เงามืดบดบังดวงจันทร์อยู่นาน ชั่วโมง 16 นาที จันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 4.08 น. หลังจากนั้นจะกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน เราจะเห็นเงามืดเคลื่อนออกจากดวงจันทร์จนเวลา 5.12 น. จึงสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เกือบจะตกและท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นแล้ว

ประมาณค่าความสว่างของดวงจันทร์

เราสามารถคะเนความสว่างและสีของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงได้โดยการสังเกตดวงจันทร์ด้วยตาเปล่า ความสว่างของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงแบ่งได้ตามมาตราดองชง (Danjon's scale) ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้ริเริ่มกำหนดมาตรานี้ เรียกย่อ ๆ ว่าค่าแอล (L) มีค่าจาก ถึง และสามารถประมาณค่าเป็นทศนิยมได้ สีและความสว่างของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับศูนย์กลางเงา ปริมาณเมฆและฝุ่นละอองในบรรยากาศโลก โดยมีเกณฑ์กำหนดดังที่แสดงในตาราง ถ้าจะให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดที่สุด อาจทำการประมาณค่าแอลทุก ๆ 10-20 นาที นับตั้งแต่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง

   ความสว่างและสีของดวงจันทร์
0ดวงจันทร์มืดมาก เกือบมองไม่เห็น
1ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก
2ดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม หรือสีสนิมเหล็ก บริเวณใกล้ใจกลางมืดมาก แต่ขอบดวงจันทร์สว่าง
3ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ ขอบเงามืดมีสีเหลืองหรือสว่าง
4ดวงจันทร์มีสีทองแดงหรือสีส้ม ดวงจันทร์สว่างมาก ขอบเงามีสีฟ้าและสว่างมาก


สำหรับจันทรุปราคาครั้งนี้ ขณะดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุดในเวลา 3.30 น. น่าจะเห็นว่าด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ซึ่งอยู่ทางด้านล่างค่อนมาทางซ้ายมือเมื่อเทียบกับขอบฟ้ามีความสว่างมากกว่าด้านตรงข้าม หลังจากปีนี้ ประเทศไทยจะเห็นจันทรุปราคาบางส่วนในปี พ.ศ. 2548-49 และจันทรุปราคาเต็มดวงในปี พ.ศ. 2550