สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวหัวใจสิงห์ : 1 ธันวาคม 2550

ดวงจันทร์บังดาวหัวใจสิงห์ : 1 ธันวาคม 2550

25 พฤศจิกายน 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
บนท้องฟ้ามีดาวฤกษ์อยู่มากมายกับดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีก ดวง และยังมีดวงจันทร์เป็นบริวารเคลื่อนที่รอบโลก ดังนั้นจึงมีบ่อยครั้งที่ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ ทำให้คนบนพื้นโลกมองเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการบังกัน (occultation) ซึ่งอาจเปรียบได้กับการเกิดสุริยุปราคา แต่คราวนี้วัตถุที่ถูกดวงจันทร์บังไม่ใช่ดวงอาทิตย์ เป็นดาวที่อยู่ไกลออกไปมากจนเห็นเป็นเพียงจุดสว่าง และการสังเกตปรากฏการณ์นี้ก็ต้องกระทำในเวลากลางคืน

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวหัวใจสิงห์ขณะผ่านเบื้องหลังดวงจันทร์สำหรับบางจังหวัด ดาวหายไปเบื้องหลังดวงจันทร์ที่ด้านสว่าง หลังจากนั้นจะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ด้านมืดในอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง 

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวหัวใจสิงห์ที่จะเกิดในช่วงหลังเที่ยงคืนของคืนวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน หรือถ้าให้ถูกตามหลักการเปลี่ยนวันในเวลาเที่ยงคืนก็จะตรงกับวันที่ ธันวาคม 2550 ดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างแรมโดยพื้นผิวดวงจันทร์มีพื้นที่สว่างมากกว่าครึ่งดวง ทำให้ด้านสว่างของดวงจันทร์เคลื่อนเข้าบังดาวก่อน ดาวที่จะถูกดวงจันทร์บังในวันนี้มีชื่อว่าดาวหัวใจสิงห์หรือเรกูลัส (Regulus) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวสิงโต การบังเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งโดยขณะนั้นจะเห็นดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก รออีกประมาณหนึ่งชั่วโมงดาวหัวใจสิงห์จะโผล่ออกมาที่ขอบด้านมืดของดวงจันทร์

แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยเห็นปรากฏการณ์ได้ไม่พร้อมกัน เช่น

กรุงเทพฯ เวลา 0.27 1.33 น.
เชียงใหม่ เวลา 0.30 1.24 น.
นครราชสีมา เวลา 0.28 1.33 น.
นครศรีธรรมราช เวลา 0.28 1.36 น.
ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 0.26 1.34 น.
ระยอง เวลา 0.27 1.35 น.
อุบลราชธานี เวลา 0.29 1.36 น.

สำหรับจังหวัดอื่นสามารถคะเนเวลาได้จากจังหวัดในภูมิภาคเดียวกัน

อุปกรณ์ที่แนะนำสำหรับการสังเกตการบังกันคือกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยึดและขาตั้ง ตาเปล่าจะสังเกตปรากฏการณ์ชนิดนี้ได้ไม่ชัดเจนนักเนื่องจากพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์ที่สะท้อนแสงอาทิตย์ทำให้ดวงจันทร์สว่างมากจนอาจกลบแสงของดาวหัวใจสิงห์ที่อยู่เคียงข้าง

นักดาราศาสตร์มักอาศัยปรากฏการณ์ลักษณะนี้สำหรับช่วยวัดระยะห่างระหว่างดาวหากดาวที่ถูกดวงจันทร์บังนั้นเป็นดาวคู่ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการศึกษาความสูงต่ำของหลุมและภูเขาบริเวณขั้วดวงจันทร์ในกรณีที่เป็นการบังแบบเฉียดซึ่งแสงดาวจะไม่ได้หายไปเฉย ๆ แต่กะพริบไปตามลักษณะขอบดวงจันทร์ที่ไม่ราบเรียบ

ปีหน้าเราจะมีโอกาสสังเกตดวงจันทร์บังดาวอังคารโดยเกิดในเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 ซึ่งขณะนั้นดาวอังคารจะสว่างน้อยกว่าปัจจุบันแต่ใกล้เคียงกับดาวหัวใจสิงห์และนับเป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีโอกาสสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดวงจันทร์บังดาวเสาร์เมื่อปี 2545