สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี : 23 กุมภาพันธ์ 2552

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี : 23 กุมภาพันธ์ 2552

21 กุมภาพันธ์ 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เช้ามืดวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 นอกจากจะเป็นวันที่ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ท่ามกลางดาวเคราะห์ ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ยังจะเป็นวันที่ประเทศไทยและพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียจะมีโอกาสเห็นดาวพฤหัสบดีถูกดวงจันทร์บัง

แผนที่แสดงบริเวณที่มองเห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (ภายในขอบเขตเส้นสีแดง) เงาดวงจันทร์เคลื่อนจากซ้ายไปขวา แตะผิวโลกครั้งแรกที่จุด เมื่อเวลา 5.36 น. จากนั้นไปสิ้นสุดที่จุด ในเวลา 9.23 น. เส้นแบ่งด้านกลางวันกับกลางคืนแสดงเมื่อเวลา 7.30 น. เป็นจังหวะที่เงาดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางโลกมากที่สุด 

ลักษณะของปรากฏการณ์

ปรากฏการณ์ในเช้ามืดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เริ่มต้นขณะที่ดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก จึงอาจสังเกตได้ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีหมอกบดบังในบริเวณใกล้ขอบฟ้า แม้ว่ามีแนวโน้มที่ท้องฟ้าน่าจะปลอดโปร่งปราศจากเมฆก็ตาม

ดวงจันทร์จะเป็นเสี้ยวบาง ๆ มีส่วนสว่างอยู่เพียงร้อยละ ของพื้นผิว ดาวพฤหัสบดีหายลับไปที่ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์ จากนั้นปรากฏการณ์จะสิ้นสุดเมื่อดาวพฤหัสบดีโผล่พ้นขอบด้านมืดซึ่งอยู่ในซีกด้านตรงกันข้าม และเป็นเวลาที่ท้องฟ้าสว่างแล้ว

จังหวะที่ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัสบดีเป็นเวลาที่ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มาก หากไม่มีเมฆหมอกเป็นอุปสรรค ก็อาจพอสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตา แต่เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนตัวออกจากดาวพฤหัสบดี ท้องฟ้าจะสว่าง การสังเกตด้วยตาเปล่าทำได้ยากหรืออาจไม่ได้เลยเนื่องจากคาดว่าไม่น่าจะเห็นดาวพฤหัสบดี (ยกเว้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศ -- ดูหมายเหตุข้างล่าง) แต่กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงอาจช่วยให้พอมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ลาง ๆ หรืออาจมองไม่เห็น ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้า 


ขั้นตอนการเกิดดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี 23 กุมภาพันธ์ 2552
สถานที่ดวงจันทร์ขึ้นเริ่มบังดาวพฤหัสบดีสิ้นสุดการบังดวงอาทิตย์ขึ้น
เวลาม.ย.มุมเงยเวลาม.ย.มุมเงย
กรุงเทพฯ5.15 น.5:36.9 น.175°6:41.5 น.296°19°6.38 น.
ขอนแก่น5.09 น.5:38.7 น.161°6:49.9 น.300°21°6.30 น.
เชียงใหม่5.28 น.5:39.0 น.156°6:48.9 น.305°17°6.47 น.
นครราชสีมา5.10 น.5:37.6 น.168°6:46.1 น.298°20°6.32 น.
นครศรีธรรมราช5.10 น.5:39.0 น.201°6:27.6 น.283°17°6.36 น.
ประจวบคีรีขันธ์5.15 น.5:36.8 น.184°6:36.3 น.292°18°6.39 น.
พิษณุโลก5.20 น.5:38.0 น.162°6:47.1 น.301°18°6.41 น.
ระยอง5.10 น.5:36.9 น.178°6:40.3 น.294°19°6.34 น.
สงขลา5.05 น.5:40.5 น.207°6:24.6 น.279°17°6.33 น.
อุบลราชธานี4.59 น.5:38.9 น.163°6:50.7 น.298°24°6.21 น.


หมายเหตุ :
ตารางแสดงผลการคำนวณสำหรับอำเภอเมืองของจังหวัด ใช้ค่าความละเอียดในระดับทศนิยม ตำแหน่งของนาที หากทราบพิกัดที่แน่นอนของสถานที่สังเกตการณ์ สามารถคำนวณได้ถึงระดับวินาที
เวลาที่แสดงในตาราง เป็นเวลาเมื่อขอบดวงจันทร์ผ่านกึ่งกลางดาวพฤหัสบดี กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงจะสังเกตได้ว่าดวงจันทร์ใช้เวลาประมาณ 80-90 วินาทีนับตั้งแต่เริ่มแตะขอบด้านหนึ่งไปยังขอบอีกด้านหนึ่งของดาวพฤหัสบดี
ม.ย. ย่อจาก มุมจุดยอด (vertex angle V.A.) หมายถึงมุมที่วัดจากด้านบนสุดของดวงจันทร์ กวาดทวนเข็มนาฬิกาไปทางซ้ายมือที่ 90° ด้านล่างที่ 180° และขวามือที่ 270° ใช้บอกตำแหน่งที่ดาวพฤหัสบดีแตะขอบดวงจันทร์โดยเทียบกับทิศทางไปยังจุดเหนือศีรษะของผู้สังเกต
จากตารางจะเห็นได้ว่าหากไม่คำนึงถึงสภาพอากาศ ภาคใต้ตอนล่างมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ดีกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องจากเริ่มปรากฏการณ์ในเวลาที่ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้า และสิ้นสุดปรากฏการณ์ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ต่างจากภาคอื่นที่ปรากฏการณ์สิ้นสุดหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้น นอกจากนั้น ด้านตะวันออกของภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่สังเกตปรากฏการณ์ขณะเริ่มต้นได้ดี เพราะดวงจันทร์ขึ้นสูงเหนือขอบฟ้ามากที่สุด
ตัวเลขในตารางนี้ บางค่าแตกต่างจากที่พิมพ์ในวารสารทางช้างเผือก ฉบับคู่มือดูดาว พ.ศ. 2552 อยู่เล็กน้อย เนื่องจากคำนวณด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นใหม่

ในอดีตและอนาคต

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีที่เห็นได้ในประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 แต่เห็นได้เฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น และหลังจากครั้งนี้ก็จะเกิดอีกในวันที่ 12 สิงหาคม 2555 เห็นได้เฉพาะภาคใต้ตอนล่างอีกเช่นเดียวกัน สำหรับในกรุงเทพฯ เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2541 และหลังจากปีนี้จะเกิดอีกครั้งในวันที่ 25 ตุลาคม 2577

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี พ.ศ. 2501-2600
วันที่ภูมิภาคที่มองเห็น
24 มิถุนายน 2519ทั่วประเทศ
11 ธันวาคม 2522ภาคใต้
30 เมษายน 2526ทั่วประเทศ
26 พฤษภาคม 2526ภาคเหนือตอนบน (ใกล้ขอบฟ้า)
10 ตุลาคม 2526ทั่วประเทศ
พฤศจิกายน 2541เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคเหนือและตอนบนของภาคอีสาน
19 กรกฎาคม 2544ภาคใต้ตอนล่าง
23 กุมภาพันธ์ 2552ทั่วประเทศ (ใกล้ขอบฟ้า)
12 สิงหาคม 2555ภาคใต้ตอนล่าง (ใกล้ขอบฟ้า)
พฤศจิกายน 2569ภาคใต้ ตอนล่างของภาคตะวันออก เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
25 ตุลาคม 2577เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้
20 มกราคม 2581ทั่วประเทศ
12 เมษายน 2581*ทั่วประเทศ
กันยายน 2591ภาคเหนือตอนบน


หมายเหตุ: เลือกเฉพาะที่เห็นในพื้นที่ประเทศไทยและเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ปรากฏการณ์ในคืนวันที่ 12 เมษายน 2581 เกิดหลังจากดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสไม่ถึง ชั่วโมง