สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวดวงนั้นมันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว

ดาวดวงนั้นมันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว

7 พ.ค. 2563
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวโฟมัลโอ เป็นดาวสว่างดวงหนึ่งทางฟ้าซีกใต้ อยู่ในกลุ่มดาวปลาใต้ ในปี 2551 นักดาราศาสตร์ได้ประกาศว่าค้นพบดาวเคราะห์บริวารของดาวดวงนี้หนึ่งดวง มีชื่อว่า โฟมัลโอบี

ก่อนหน้านั้นได้มีการพบดาวเคราะห์บริวารของดาวดวงอื่นหรือที่เรียกว่าดาวเคราะห์ต่างระบบมาแล้วนับพันดวง แต่สำหรับดาวโฟมัลโอบีมีความพิเศษกว่าดวงอื่น ดาวเคราะห์ต่างระบบดวงอื่นล้วนแต่ถูกค้นพบด้วยวิธีทางอ้อม ไม่เคยถ่ายภาพได้โดยตรง แต่ดาวโฟมัลโอบีเป็นดวงแรกที่ถูกค้นพบจากภาพถ่าย การค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบ

ต่อมาดาวโฟมัลโอบีได้ชื่อสามัญอย่างเป็นทางการว่า ดากอน (Dagon) โดยโครงการเนมเอกโซเวิลด์ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (พร้อมกับดาวชาละวันที่เป็นดาวดวงแรกที่มีชื่อไทยสากล)

ระบบดาวของดาวโฟมัลโอ ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล สิ่งที่ดูคล้ายวงแหวนล้อมรอบประกอบด้วยเศษวัสดุจำพวกน้ำแข็ง คล้ายกับแถบไคเปอร์ (จาก NASA/ ESA/ A. Gáspár/ G. Rieke (University of Arizona)/ Hubblesite.)

ในช่วงแรกหลังการค้นพบ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าโฟมัลโอบีเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่มวลสูง แต่จากการศึกษาในระยะต่อมาพบว่าโฟมัลโอมีอาการหลายอย่างที่ดูไม่เหมือนดาวเคราะห์มวลสูง ยิ่งกว่านั้นบางสิ่งยังดูเหมือนจะไม่ใช่ดาวเคราะห์ด้วยซ้ำไป

การสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเผยว่าโฟมัลโอบีมีความสว่างในช่วงรังสีอินฟราเรดไม่มากนัก และพบว่าวงแหวนฝุ่นที่ล้อมรอบดาวโฟมัลโอได้รับแรงรบกวนทางความโน้มถ่วงจากโฟมัลโอบีไม่มาก แสดงว่าโฟมัลโอบีไม่ได้มีมวลสูงอย่างที่คิด แต่ที่แปลกยิ่งกว่าก็คือ พบว่ามันมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับพองใหญ่ขึ้น จุดที่ปรากฏในภาพถ่ายที่เคยคิดว่าเป็นดาวเคราะห์ปัจจุบันกลายเป็นปุยมัว ๆ แทน 
 
ข้อมูลการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่า จุดแสงที่โคจรรอบดาวโฟมัลโอนั้นไม่ใช่ดาวเคราะห์ แต่เป็นกลุ่มฝุ่นแก๊สที่เกิดจากวัตถุจำพวกน้ำแข็งสองดวงชนกัน 
 (จาก ESA/ NASA/ M. Kornmesser/ Hubble Space Telescope)


เกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ ดาวเคราะห์จะกลายเป็นก้อนฝุ่นไปได้อย่างไร? 

นักดาราศาสตร์ไม่คิดว่าดาวเคราะห์จะกลายเป็นฝุ่น แต่เชื่อว่ามันไม่ใช่ดาวเคราะห์ตั้งแต่ต้น จุดที่เรียกกันว่าเป็นโฟมัลโอบีแท้จริงแล้วน่าจะเป็นก้อนฝุ่นที่เกิดขึ้นจากวัตถุจำพวกฝุ่นปนน้ำแข็งสองดวงมาชนกัน

ออนแดรส แกสปาร์ จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ผู้ศึกษาโฟมัลโอบีกล่าวว่า ตนอยากจะมองในแง่ดีเข้าไว้ หากโฟมัลโอจะไม่ใช่ดาวเคราะห์จริง ๆ ก็ถือว่าเราได้เห็นผลของการชนกันระหว่างวัตถุที่เป็นต้นกำเนิดของดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ดวงอื่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

ดาวโฟมัลโอ ถ่ายโดยกล้องบนพื้นโลกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 (จาก NASA/ ESA/ Digitized Sky Survey 2/ Davide De Martin (ESA/Hubble)/ Hubble Space Telescope.)

หากโฟมัลโอบีเป็นเพียงกลุ่มฝุ่นที่เกิดจากการชนจริง นักดาราศาสตร์คาดว่าการชนนั้นก็อาจเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่จะมีการค้นพบครั้งแรก หลังจากนั้นกลุ่มฝุ่นนั้นก็แพร่ขยายออกไป คาดว่าขณะนี้มีขนาดใกล้เคียงกับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ อนุภาคฝุ่นมีขนาดประมาณ ไมครอน

ภาพดาวโฟมัลโอบีตามจินตนาการของศิลปินเมื่อครั้งที่ยังเชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์
 (จาก ESA/ NASA/ L. Calcada (ESO for STScI)/ Wikipedia.)


ไม่เพียงแค่โฟมัลโอบีดูไม่เหมือนดาวเคราะห์เท่านั้น การเคลื่อนที่ของมันก็ไม่เหมือนดาวเคราะห์ด้วย ดาวเคราะห์ควรเคลื่อนที่โคจรรอบดาวฤกษ์เป็นวงรี แต่การเคลื่อนที่ของโฟมัลโอบีแสดงว่ามันกำลังจะหลุดออกจากวงโคจรไป ซึ่งยิ่งสนับสนุนว่าโฟมัลโอบีเป็นเพียงก้อนฝุ่นอีกด้วย เพราะฝุ่นมีมวลต่ำจึงได้รับอิทธิพลจากแรงดันเหตุรังสีที่แผ่ออกมาจากดาวโฟมัลโอมาก



ที่มา: