สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

เผยโฉม นักท่องเที่ยวดวงจันทร์คนแรก

25 ก.ย. 61

สเปซเอกซ์ ได้เปิดเผยบุคคลที่จะได้เป็นนักท่องเที่ยวดวงจันทร์คนแรกของโลกแล้ว เป็นมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นชื่อ ยุซะกุ มะเอะซะวะ ซึ่งได้จองที่นั่งไว้สองที่ ส่วนผู้โดยสารอีกคนหนึ่งจะเป็นบุคคลที่มะเอะซะวะเลือกเองซึ่งยังไม่ลงตัวว่าเป็นใคร ก่อนหน้านี้สเปซเอกซ์วางแผนที่จะใช้ยานดรากอน 2 ที่ติดตั้งบนจรวดฟัลคอนเฮฟวีเป็นพาหนะในการเดินทางไปชมดวงจันทร์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแผนเป็นใช้จรวดบิกฟัลคอนแทน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการก่อสร้าง และยังไม่มีกำหนดวันเดินทางที่ชัดเจน

อินเดียเผยโฉมชุดอวกาศรุ่นแรก

18 ก.ย. 61

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา องค์การอวกาศอินเดีย ได้แสดงชุดอวกาศรุ่นแรกที่จะใช้ในภารกิจนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีชาติเพียงสามชาติเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีสูงพอที่จะนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน อินเดียได้แสดงเจตนาอันแน่วแน่ที่จะเป็นชาติที่สี่

ดาวเคราะห์ร้อน ๆ

24 ส.ค. 61

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจนีวาและมหาวิทยาลัยเบิร์น ได้ศึกษาดาวเคลต์-9 บี (KELT-9b) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่งที่ค้นพบเมื่อปี 2560 พบว่าดาวดวงนี้มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนพอที่จะทำให้เหล็กและไทเทเนียมเดือดเป็นไอ แม้แต่ดาวฤกษ์หลายดวงก็ยังไม่ร้อนเท่านี้

ยานพาร์เกอร์ขึ้นสู่ท้องฟ้า

13 ส.ค. 61

ยานวัดดวงอาทิตย์พาร์กเกอร์ขององค์การนาซา ได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศแล้วเมื่อบ่ายวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ยานลำนี้เป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ที่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดยิ่งกว่าที่ยานลำใดเคยทำได้ ยานจะเริ่มสำรวจอย่างจริงจังในปลายปีนี้

การแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคไม่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต

8 ส.ค. 61

แบรดฟอร์ด เจ. ฟอลีย์ และ แอนดรูว์ เจ. สมาย จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต ได้ศึกษากลไกการรักษาความร้อนของดาวเคราะห์โดยได้สร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาหลายร้อยแบบ พบว่าปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะชี้ว่าดาวเคราะห์นั้นมีสภาพเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่คือขนาดและองค์ประกอบทางเคมีตั้งแต่ที่ดาวเคราะห์นั้นกำเนิดขึ้น ส่วนการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคไม่จำเป็น ดาวเคราะห์ที่ไม่มีกระบวนการนี้ก็อาจรักษาอุณหภูมิไว้ให้น้ำคงอยู่บนพื้นผิวได้นับพันล้านปี

อย่าเพิ่งจองตั๋วไปดาวอังคาร

30 ก.ค. 61

บรูซ แจโควสกี นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา และคริสโตเฟอร์ เอดเวิร์ด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านดาวเคราะห์จากมหาวิทยานอร์ทเทิร์นแอริโซนา ได้เขียนในรายงานการวิจัยว่า การแปลงสภาพแวดล้อมดาวอังคารให้ใกล้เคียงกับโลกเพื่อให้คนไปอยู่อาศัยได้ยังไม่อาจทำได้ในเร็ววันนี้ ด้วยสาเหตุหลักคือเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าพอ และปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวอังคารก็น้อยเกินกว่าที่ใช้สร้างภาวะเรือนกระจกเพื่อให้อุณหภูมิและความดันให้ใกล้เคียงโลกได้

โฉมใหม่มิสเตอร์สตีเวน

25 ก.ค. 61

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรือกู้ฝาประกับหัวจรวด (fairing) ของสเปซเอกซ์ได้รับการปรับปรุงโฉมใหม่ โดยเพิ่มขนาดของตาข่ายรองรับฝาประกับให้ใหญ่ขึ้นถึงสี่เท่า แต่จนถึงปัจจุบันเรือมิสเตอร์สตีเวนก็ยังรับฝาประกับไม่สำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยในการปล่อยดาวเทียมเมื่อเย็นวันนี้ (25 กรกฎาคม) เรือก็ทำได้แค่มองเห็นเป้าหมายเท่านั้น

โคตรโคตรเพชรใต้ผิวโลก

17 ก.ค. 61

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาคลื่นไหวสะเทือนที่เคลื่อนที่ผ่านเนื้อโลก พบว่าคลื่นที่เคลื่อนผ่านส่วนลึกของใต้แผ่นทวีปมีความเร็วมากกว่าปกติ การสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายความเร็วที่วัดได้ให้ผลว่า ลึกลงไปใต้แผ่นทวีปของโลกมีเพชรปะปนอยู่มากถึงหนึ่งพันล้านล้านตัน

สายด่วนไอเอสเอส

10 ก.ค. 61

เมื่อเช้ามืดวันนี้ ยานโพรเกรส ซึ่งเป็นยานขนส่งสัมภาระของรัสเซีย ประสบความสำเร็จในการปล่อยและเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้เวลานับจากปล่อยจากฐานเพียง ชั่วโมง 48 นาทีเท่านั้น เป็นสถิติการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติที่ใช้เวลาน้อยที่สุด

พบกระจุกดาวทรงกลมใหม่

8 ก.ค. 61

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องไวส์ (WISE) ตรวจพบกระจุกดาวทรงกลมใหม่ 5 กระจุกในดาราจักรทางช้างเผือก กระจุกดาวทั้งห้านี้ได้ชื่อว่า คามาโก 1102, คามาโก 1103, คามาโก 1104, คามาโก 1105, และคามาโก 1106 ทั้งหมดนี้อยู่ใกล้กับดุมของดาราจักร (bulge)

เป้าหมายต่อไปของนิวเฮอไรซอนส์ได้ชื่อเล่น

4 ก.ค. 61

สถาบันเซตีกับโครงการนิวเฮอไรซอนส์ได้จัดประกวดการตั้งชื่อเช่นให้แก่ 2014 เอ็มยู 69 ซึ่งเป็นเป้าหมายการสำรวจดวงต่อไปของยานนิวเฮอไรซอนส์ ชื่อที่ได้รับเลือกคือ "อัลติมาทูลี" (Ultima Thule) ยานจะไปถึงวัตถุดวงนี้ในวันปีใหม่ของปี 2562 อย่างไรก็ตามชื่อนี้จะยังไม่ใช่ชื่อทางการจนกว่าสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลจะรับรอง

เลื่อนปล่อยเจมส์เว็บบ์อีก

29 มิ.ย. 61

นาซาเลื่อนกำหนดปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง จากเดือนพฤษภาคม 2563 ไปเป็นเดือนมีนาคม 2564

ฮอว์กิงได้พักผ่อนชั่วนิรันดร์

29 มิ.ย. 61

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ได้มีพิธีฝังเถ้าอัฐิของ สตีเฟน ฮอว์กิง ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ หลุมของฮอว์กิงอยู่ระหว่างหลุมของเซอร์ไอแซก นิวตัน กับ ชารล์ ดาร์วิน ในภาพ ลูซี ฮอว์กิง บุตรสาวกำลังวางช่อดอกไม้บนศิลาเหนือหลุมศพบิดา

ฝุ่นดวงจันทร์ของใคร

22 มิ.ย. 61

นางลอรา เมอเรย์ ซิกโก หญิงชาวเทนเนสซี ได้ฟ้องร้ององค์การนาซา โดยเรียกร้องให้นาซายอมรับในกรรมสิทธิ์ของเธอที่มีต่อสิ่งที่เธอกล่าวว่าเป็นฝุ่นดวงจันทร์ที่ นีล อาร์มสตรอง มอบให้เธอเป็นของขวัญเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของสหรัฐไม่อนุญาตให้บุคคลครอบครองตัวอย่างที่เก็บมาจากดวงจันทร์ และนาซาก็ไม่อนุญาตให้นักบินอวกาศครอบครองตัวอย่างจากดวงจันทร์ และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นในหลอดแก้วนั้นด้วยหลักการวาวแสงรังสีเอกซ์โดยหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ พบว่าฝุ่นที่อยู่ในหลอดนั้นอาจไม่ได้มาจากดวงจันทร์

จิบแชมเปญในสภาพไร้น้ำหนัก

18 มิ.ย. 61

มุม ผู้ผลิตแชมเปญสัญชาติฝรั่งเศสเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเดือนกันยายนนี้ คือ แกรนด์กอร์ดอนสเตลลาร์ ซึ่งเป็นระบบบรรจุรินและดื่มแชมเปญในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งอาจจะถูกนำไปใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต

สเปซเอกซ์เลื่อนกำหนดทัวร์ชมดวงจันทร์

5 มิ.ย. 61

สเปซเอกซ์ได้ประกาศการเลื่อนกำหนดการทัศนาจรชมดวงจันทร์ที่เดิมวางไว้ว่าจะออกเดินทางปลายปีนี้ไปเป็นอย่างเร็วกลางปีหน้า ทัวร์ชมดวงจันทร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์นี้จะมีนักท่องเที่ยวสองคน เดินทางไปกับยานดรากอน 2 ที่ขับดันโดยจรวดฟัลคอนเฮฟวี

พลาดอีกแล้ว

1 มิ.ย. 61

การปล่อยจรวดฟัลคอน 9 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาของสเปซเอกซ์ประสบความสำเร็จ แต่การเก็บกู้ฝาประกับหัวจรวดทั้งสองเพื่อกลับมาใช้ใหม่ล้มเหลว โดยเรือเก็บกู้ชื่อมิสเตอร์สตีเวนที่มีตาข่ายรองรับเข้าใกล้จนเกือบจะรับฝาประกับที่ร่อนลงมาได้ แต่ก็พลาดเป้าไปประมาณ 50 เมตร

กล้องยักษ์ได้ชื่อใหม่

31 พ.ค. 61

กล้องโทรทรรศน์ อี-อีแอลที (E-ELT--European Extremely Large Telescope) ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กล้อง อีแอลที (ELT--Extremely Large Telescope) กล้องอีแอลทีมีกระจกปฐมภูมิเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 39.3 เมตร จะเป็นกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงที่มีกระจกใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จ คาดว่ากล้องนี้จะเปิดรับแสงแรกได้ในปี 2567

ภาพเรียกน้ำย่อยจากกล้องเทสส์

21 พ.ค. 61

กล้องเทสส์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีภารกิจค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบดวงใหม่ซึ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ทดลองเปิดกล้องครั้งแรกและส่งภาพที่น่าประทับใจกลับมา เป็นภาพท้องฟ้าบริเวณดาวบีตาคนครึ่งม้า แม้จะเปิดรับแสงเพียงสองวินาที แต่มีจุดดาวในภาพมากถึงสองแสนดวง

ดาวเคราะห์น้อยพลัดถิ่น

21 พ.ค. 61

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวไอเวอรีโคสต์ได้ใช้แบบจำลองติดตามตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2015 บีแซด 509 (2015 BZ509) ซึ่งปัจจุบันโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบที่พ้องกับดาวพฤหัสบดี พบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีต้นกำเนิดมาจากระบบสุริยะอื่น เช่นเดียวกับ โอมูอามูอา แต่ต่างกันตรงที่โอมูอามูอาแค่ผ่านเข้ามาแล้วก็จากไป ส่วน 2015 บีแซด 509 ย้ายเข้ามาอยู่อย่างถาวร