สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

ลอนเชอร์วันล้มเหลว

27 พ.ค. 63

ลอนเชอร์วัน ระบบส่งดาวเทียมจากเครื่องบินของเวอร์จินออร์บิต ได้ทดสอบการปล่อยจรวดครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การปล่อยจรวดล้มเหลวหลังจากเครื่องยนต์จุดขึ้นไม่นาน

จีนทดสอบลองมาร์ช 5 บี

16 พ.ค. 63

จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบปล่อยจรวดลองมาร์ช 5 บี เป็นครั้งแรก จีนมีแผนที่จะใช้จรวดรุ่นนี้ในการขนส่งมอดูลของสถานีอวกาศขึ้นสู่อวกาศ สถานีอวกาศรุ่นใหม่ของจีนจะเป็นแบบหลายมอดูลมีขนาดเทียบเท่าสถานีมีร์ของรัสเซีย

นาซาซื้อตั๋วนั่งโซยุซเพิ่ม

13 พ.ค. 63

องค์การนาซาได้ทำสัญญากับรอสคอสมอสของรัสเซียเพื่อส่งมนุษย์อวกาศของตนให้ไปกับยานโซยุซของรัสเซียอีกหนึ่งที่นั่งสำหรับเที่ยวบินปลายปีนี้ ทั้งนี้เพื่อเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะยังมีชาวอเมริกันอยู่ในสถานีตลอดเวลาหากเกิดความขัดข้องหรือล่าช้ากับยานครูว์ดรากอน นาซาต้องจ่ายค่าตั๋วสำหรับเที่ยวบินนี้ถึง 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เล็งใช้จรวดของสเปซเอกซ์สร้างลูนาร์เกตเวย์

13 พ.ค. 63

นาซาแย้มออกมาว่า โครงการลูนาร์เกตเวย์ ซึ่งเป็นสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ที่กำลังจะสร้างขึ้น อาจใช้จรวดฟัลคอนเฮฟวีของสเปซเอกซ์เป็นพาหนะในการขนส่งชิ้นส่วนไป

สเปซเอกซ์ทำดาวเทียมกางร่มให้สตาร์ลิงก์

30 เม.ย. 63

สเปซเอกซ์เตรียมปล่อยฝูงดาวเทียมของสตาร์ลิงก์ชุดใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ ดาวเทียมชุดนี้จะมีดาวเทียมเรียกว่าไวเซอร์แซต ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้มีแผ่นกันแสงและเคลือบผิวดาวเทียมเพื่อลดการสะท้อนแสง สเปซเอกซ์อ้างว่าจะลดแสงสะท้อนได้เป็นสิบเท่า

ร็อกเก็ตแล็บทดสอบโฉบจรวด

22 เม.ย. 63

ร็อกเก็ตแล็บ ผู้ให้บริการขนส่งอวกาศสำหรับดาวเทียมขนาดเล็ก กำลังพัฒนาการใช้จรวดซ้ำเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง วิธีของร็อกเก็ตแลบคือการใช้เฮลิคอปเตอร์ไปเกี่ยวสายร่มชูชีพของจรวดที่กำลังตกลงมา แล้วหิ้วจรวดไปวางบนบก การทดลองในเบื้องต้นประสบผลสำเร็จ

ครูว์ดรากอนได้ฤกษ์

19 เม.ย. 63

สเปซเอกซ์และนาซา ได้กำหนดวันที่ปล่อยยานครูว์ดรากอนเพื่อนำมนุษย์อวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติครั้งแรกแล้ว เป็นวันที่ 27 พฤษภาคม 2563

เวอร์จินลุยช่วยผู้ป่วยโควิด

1 เม.ย. 63

เวอร์จินออร์บิต บริษัทในเครือเวอร์จินกรุ๊ป กำลังเร่งพัฒนาเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในเดือนเมษายนนี้

สังเวยโควิด-19 อีกราย วันเว็บไปไม่รอด

28 มี.ค. 63

วันเว็บ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครือข่ายดาวเทียมคู่แข่งกับสเปซเอกซ์ ได้ยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายสหรัฐเมื่อวานนี้ (27 มีนาคม) ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งสัปดาห์เพิ่งส่งดาวเทียมชุดใหม่ขึ้นไป ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่าการล้มละลายครั้งนี้เกิดจากการระดมทุนไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นผลจากเศษฐกิจชะลอตัวเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19

อาร์ทิมิสมองข้ามลูนาร์เกตเวย์

21 มี.ค. 63

องค์การนาซาเปลี่ยนแผนในการดำเนินภารกิจส่งคนไปดวงจันทร์ในโครงการอาทิมิส โดยตัดเอาสถานีลูนาร์เกตเวย์ออกไป เพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อให้การดำเนินงานโครงการอาทิมิสสำเร็จทันเส้นตายที่วางไว้ในปี 2567 สถานีลูนาร์เกตเวย์เป็นสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ เดิมนาซาเคยวางแผนให้สถานีนี้เป็นสถานีพักระหว่างโลกและดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทิมิส

โควิด-19 สะเทือนถึงสตาร์ซิตี้

14 มี.ค. 63

มนุษย์อวกาศที่จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติรอบถัดไปซึ่งมีกำหนดจะเดินทางในเดือนเมษายน ต้องเข้าสถานกักตัวก่อนเดินทางเร็วกว่าปกติ รวมถึงต้องยกเลิกการทัวร์สตาร์ซิตี้ งดขั้นตอนที่เป็นธรรมเนียมของนักบินอวกาศรัสเซียมานาน เช่นการคารวะหลุมศพยูริ กาการิน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

พิษโควิด-19

9 มี.ค. 63

ศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซาเริ่มมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับการประชุมนักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ในฮูสตันก็ต้องยกเลิกไปเพราะพิษโควิด-19

ใช้สนิมเป็นวัสดุกันรังสี

20 ก.พ. 63

นักวิทยาศาสตร์จากล็อกฮีตมาร์ตินสเปซ พบว่าพอลิเมอร์ที่มีส่วนผสมของผงสนิมโลหะ คุณสมบัติกันรังสีคอสมิกได้ใกล้เคียงกับผงอะลูมินัมซึ่งเป็นวัสดุกันรังสีในที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า ราคาถูกกว่า ทำให้ในอนาคตอาจมีการใช้สนิมมาเป็นส่วนผสมของวัสดุกันรังสีให้แก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอวกาศ

พายุสุริยะรุนแรงเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 25 ปี

2 ก.พ. 63

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์วิกได้ศึกษาบันทึกการปะทุบนดวงอาทิตย์ย้อนหลังไป 150 ปี พบว่าพายุสุริยะที่รุนแรงระดับที่ทำลายระบบส่งกำลังไฟฟ้าเกิดขึ้นทุก 25 ปีโดยเฉลี่ย

ฟองผุดบนผิวดวงอาทิตย์

30 ม.ค. 63

นักดาราศาสตร์เผยภาพถ่ายพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่มีความละเอียดสูงสุดเท่าที่เคยมีการถ่ายได้ เป็นภาพของฟองสุริยะที่เกิดจากกระแสไหลวนของพลาสมาร้อนใต้พื้นผิวผุดขึ้นเต็มผิวหน้า ภาพนี้ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์สุริยะแดเนียลเคอีโนเย (Daniel K. Inouye Solar Telescope) บนเขาเมาอีของฮาวาย

ดาวเคราะห์น้อยที่วงโคจรเล็กที่สุด

24 ม.ค. 63

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ชื่อ 2020 เอวี 2 (2020 AV2) การสำรวจพบว่ามีวงโคจรเล็กมาก นับเป็นวัตถุธรรมชาติในระบบสุริยะที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงดาวพุธเท่านั้น มีคาบโคจร 151 วัน

คลื่นความโน้มถ่วงใกล้เบเทลจุส

17 ม.ค. 63

หอสังเกตการณ์ไลโกตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงที่ยังไม่ยืนยันจากตำแหน่งใกล้ดาวเบเทลจุส แต่นักดาราศาตร์เชื่อว่าไม่ใช่มาจากเบเทลจุส และไม่ใช่สิ่งบอกเหตุของการระเบิดของดาวดวงนี้ด้วย

อินโดเตรียมส่งคนไปอวกาศ

5 ม.ค. 63

อินโดนีเซียได้กำลังเจรจากับรอสคอสมอสที่จะส่งนักบินอวกาศคนแรกของประเทศไปกับยานโซยุซในอนาคตอันใกล้

สตาร์ชิป 2.0 ใหญ่กว่าเดิม

24 ก.ย. 62

อีลอน มัสก์ แห่งสเปซเอกซ์แย้มออกมาทางทวิตเตอร์ว่า เขากำลังคิดจะสร้างจรวดสตาร์ชิป (ชื่อเดิมคือบิกฟัลคอน) รุ่นใหม่ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นแรกถึงสองเท่า หากสร้างเสร็จจริง จรวดรุ่นนี้จะมีความสูงจากพื้นดิน 240 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน 18 เมตร

ชุดอวกาศรุ่นใหม่ของรัสเซีย

13 ก.ย. 62

รัสเซียได้เผยต้นแบบชุดโซโกล-เอ็ม ซึ่งเป็นชุดอวกาศรุ่นใหม่ที่ใช้ในระหว่างขึ้นสู่อวกาศและช่วงกลับลงสู่โลก ชุดรุ่นใหม่นี้มีการปรับปรุงหลายด้านทั้งด้านวัสดุและการออกแบบ แต่เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตต้องกลับไปแก้แบบใหม่ เพราะชุดรุ่นนี้ไม่มีซิปสำหรับให้มนุษย์อวกาศชายยืนปัสสาวะออกมานอกชุด แม้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ในรัสเซียมีธรรมเนียมยึดถือกันมาตั้งแต่ยุคอวกาศเริ่มต้นแล้วว่า มนุษย์อวกาศที่กำลังไปขึ้นจรวดที่ฐานปล่อย จะต้องแวะลงมาถ่ายปัสสาวะรดยางล้อที่ตนนั่งมาเพื่อเอาเคล็ด