ดาวเคราะห์ในปี 2564
ดาวเคราะห์สว่างที่เห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าจากโลกมี 5 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ส่วนดาวยูเรนัสและเนปจูน ต้องอาศัยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ นอกจากดาวเคราะห์แล้ว ยังสามารถส่องเห็นดาวบริวารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์
แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี2564 ช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นตรงกลางในแนวดิ่งคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลางเป็นส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอนบอกมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้งบอกวันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวเฉียงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180° แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี
ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์วงในอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุดในระบบสุริยะ ด้วยมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่จำกัด คนบนโลกจึงมีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาที่ท้องฟ้าไม่มืดสนิท ประเทศไทยเห็นดาวพุธได้เฉพาะในเวลาหัวค่ำหรือเช้ามืดเท่านั้น
ปี2564 มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนมีนาคม โดยดาวพุธจะอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม และช่วงสุดท้ายเริ่มในกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวอังคารในช่วงท้าย ๆ โดยขึ้นเหนือขอบฟ้าขณะท้องฟ้าเริ่มสว่างแล้ว
ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำของปีนี้มี4 ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยดาวพุธจะอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ช่วงที่ 2 คือปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนมิถุนายน ดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวศุกร์และกระจุกดาวลูกไก่ ช่วงที่ 3 เริ่มตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกันยายน โดยดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวอังคาร ช่วงสุดท้ายเริ่มในกลางเดือนธันวาคม แล้วไปสิ้นสุดในกลางเดือนมกราคม 2565 โดยเป็นช่วงที่ดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวศุกร์และดาวเสาร์
ดาวศุกร์เป็นดาวประกายพรึกอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดต่อเนื่องมาจากปี2563 ต้นเดือนมกราคมอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู มีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้าในช่วงที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง ดาวศุกร์กำลังทำมุมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น คาดว่าจะสังเกตดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืดได้ต่อไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวศุกร์เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวแพะทะเลและผ่านใกล้ดาวเสาร์กับดาวพฤหัสบดี หลังจากนั้นดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากจนเริ่มสังเกตได้ยาก
ปลายเดือนมีนาคมดาวศุกร์ผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก (ดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างโลกกับดาวศุกร์) คาดว่าปลายเดือนเมษายน ดาวศุกร์จะเริ่มปรากฏเป็นดาวประจำเมืองบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตกในกลุ่มดาวแกะ ดาวพุธมาอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในคืนวันที่ 25 เมษายน แต่อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก สังเกตได้ก็ต่อเมื่อขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกเปิดโล่งและไม่มีเมฆบัง
หลายเดือนนับจากนี้ดาวศุกร์จะทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ต้นเดือนพฤษภาคมเข้าสู่กลุ่มดาววัวและอยู่ทางซ้ายมือของกระจุกดาวลูกไก่ คืนวันที่ 29 พฤษภาคม ดาวพุธผ่านมาใกล้ดาวศุกร์อีกครั้ง ต้นเดือนมิถุนายน ดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ ปลายเดือนย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวปู โดยคืนวันที่ 3 กรกฎาคม ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์ในกระจุกดาวรังผึ้ง
กลางเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่ดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาวสิงโตและผ่านใกล้ดาวอังคาร คืนวันที่ 12 กรกฎาคม จันทร์เสี้ยวจะมาอยู่ใกล้ดาวเคราะห์ทั้งสอง ก่อนที่ดาวศุกร์กับดาวอังคารจะใกล้กันที่สุดในคืนวันถัดไปที่ระยะเชิงมุม 0.5° ดาวศุกร์ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนห่างที่สุดในวันที่ 30 ตุลาคม ตลอดช่วง 4 เดือนนี้ ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวสิงโต หญิงสาว คันชั่ง แมงป่อง และคนแบกงู โดยผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในวันที่ 22 กรกฎาคม ดาวรวงข้าวในวันที่ 5 กันยายน และดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตในวันที่ 16 ตุลาคม
ต้นเดือนพฤศจิกายนดาวศุกร์ย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู ครึ่งหลังของเดือนธันวาคมจะสังเกตได้ว่าดาวศุกร์ทำมุมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปลายเดือนดาวพุธจะมาปรากฏอยู่ทางซ้ายมือของดาวศุกร์ มีโอกาสสังเกตดาวศุกร์ได้จนถึงต้นเดือนมกราคม 2565 หลังจากนั้นดาวศุกร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากจนสังเกตได้ยาก
ดาวอังคารมีวงโคจรอยู่ถัดไปจากโลกตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ช่วงที่สังเกตดาวอังคารได้ดีที่สุดคือขณะที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลก ตรงกับช่วงที่ดาวอังคารอยู่ที่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน วงโคจรของดาวอังคารที่เป็นวงรี ทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง หากวันที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับวันที่ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่และสว่างมากเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ดาวอังคารที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถสังเกตเห็นร่องรอยบนพื้นผิวได้ มีเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้นที่ดาวอังคารจะใกล้โลกจนใหญ่พอสำหรับการสังเกตรายละเอียดบนพื้นผิว
พ.ศ.2564 เป็นปีที่ดาวอังคารไม่ได้ผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้มีความสว่างน้อยและมีขนาดเล็กเมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง ช่วงแรกของปี ดาวอังคารอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำโดยอยู่สูงเหนือศีรษะในเวลาพลบค่ำ วันที่ 5 มกราคม ดาวอังคารออกจากกลุ่มดาวปลาเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ คืนวันที่ 20 มกราคม ดาวอังคารจะอยู่ใกล้ดาวยูเรนัสที่ระยะห่าง 1.6° สังเกตได้ดีในกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยดาวยูเรนัสอยู่ทางทิศใต้ของดาวอังคาร
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาววัว คืนวันที่ 4 มีนาคม ผ่านใกล้กระจุกดาวลูกไก่ที่ระยะ 3 องศา ค่ำวันที่ 17 เมษายน จันทร์เสี้ยวจะบังดาวอังคารให้สังเกตได้ทั่วประเทศ ปลายเดือนดาวอังคารย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ และเข้าสู่กลุ่มดาวปูในเดือนมิถุนายน คืนวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน จะสังเกตเห็นดาวอังคารอยู่ในกระจุกดาวรังผึ้ง
ก่อนจะถึงกลางเดือนกรกฎาคมดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต ดาวศุกร์มาอยู่ใกล้ที่สุดในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม โดยมองเห็นอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ปลายเดือนดาวอังคารผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ ใกล้ที่สุดในคืนวันที่ 29 และ 30 กรกฎาคม ที่ระยะห่าง 0.7° เราจะมีเวลาสังเกตดาวอังคารได้น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากดาวอังคารทำมุมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น อาจสังเกตดาวอังคารได้จนถึงปลายเดือนสิงหาคม โดยวันที่ 18 และ 19 สิงหาคม ดาวพุธจะมาอยู่ใกล้ดาวอังคาร
ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปดาวอังคารจะหายไปจากท้องฟ้าเวลากลางคืน อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 8 ตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน ดาวอังคารทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอให้สังเกตได้อีกครั้งบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด แต่ยังอยู่ใกล้ขอบฟ้าเมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่าง ขณะนั้นดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว เช้ามืดวันที่ 11 พฤศจิกายน ดาวพุธซึ่งสว่างกว่าจะปรากฏทางซ้ายมือของดาวอังคาร วันถัดไปดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างช้า ๆ เช้ามืดวันที่ 3 ธันวาคม จันทร์เสี้ยวบาง ๆ อยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะห่างเพียง 1° กลางเดือนธันวาคม ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่อง และย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงูเมื่อใกล้สิ้นเดือน
ต้นปียังคงสามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อยู่ใกล้กันได้โดยทั้งคู่ปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำและอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวแพะทะเล ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ทั้งสองดวงปรากฏใกล้กันมากที่สุดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ปีนี้จึงห่างกันมากขึ้นทุกวัน อาจสังเกตในเวลาหัวค่ำต่อไปได้ถึงราวกลางเดือนมกราคม 2564 หลังจากนั้นจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากจนเริ่มสังเกตได้ยาก
ก่อนที่ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะหายลับไปจากท้องฟ้าเวลาหัวค่ำคืนวันที่ 9-12 มกราคม ดาวพุธจะผ่านมาอยู่ใกล้ ๆ อาจต้องใช้กล้องสองตาและท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกที่เปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง จึงจะสังเกตเห็นได้
ดาวพฤหัสบดีอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่29 มกราคม หลังจากนั้น ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ดาวพฤหัสบดีมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอจนเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าในเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี
ดาวพุธ
ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์วงใน
ปี
ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำของปีนี้มี
ดาวศุกร์
ดาวศุกร์เป็นดาวประกายพรึกอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดต่อเนื่องมาจากปี
ปลายเดือนมีนาคม
หลายเดือนนับจากนี้
กลางเดือนกรกฎาคม
ต้นเดือนพฤศจิกายน
ดาวอังคาร
ดาวอังคารมีวงโคจรอยู่ถัดไปจากโลกตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์
พ.ศ.
ปลายเดือนกุมภาพันธ์
ก่อนจะถึงกลางเดือนกรกฎาคม
ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
ดาวพฤหัสบดี
ต้นปียังคงสามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อยู่ใกล้กันได้
ก่อนที่ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะหายลับไปจากท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ
ดาวพฤหัสบดีอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่