สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางในดาวฤกษ์ดวงอื่น

ดาวหางในดาวฤกษ์ดวงอื่น

24 ก.ค. 2544
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์จากศูนย์ดาราฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิทโซเนียนนำโดย แกรี เมลนิก ได้สำรวจดาว ซีดับเบิลยู สิงโต (CW Leonis) ด้วยดาวเทียม สวอส (SWAS--Submillimeter Wave Astronomy Satellite) ในย่านความยาวคลื่นซับมิลลิเมตรซึ่งอยู่ระหว่างความถี่วิทยุกับความถี่อินฟราเรด จากการสำรวจพบชั้นของโมเลกุลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากรวมถึงโมเลกุลของน้ำห่อหุ้มดาวอยู่

ดาวซีดับเบิลยู สิงโต มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า IRC+10216 อยู่ห่างจากโลก 500 ปีแสงในกลุ่มดาวสิงโต เป็นดาวยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และยังเป็นดาวคาร์บอน ซึ่งแสดงว่าเป็นดาวที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายวิวัฒนาการแล้ว โดยปรกติดาวประเภทนี้ออกซิเจนจะถูกดึงไปรวมกับคาร์บอนกลายเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ คงเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะมารวมกับไฮโดรเจนกลายเป็นน้ำ ปริมาณน้ำเมื่อรวมกันแล้วใกล้เคียงกับปริมาณน้ำบนโลก แต่สำหรับดาวซีดับเบิลยู สิงโตกลับพบว่ามีปริมาณของน้ำมากกว่านั้นถึง 10,000 เท่า ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่เชื่อว่ามีอยู่ในแถบไคเปอร์ในระบบสุริยะของเราเสียอีก

เมลนิกได้ตั้งทฤษฎีไว้หลายทฤษฎีเพื่ออธิบายผลดังกล่าว แต่ทฤษฎีที่อธิบายได้ดีที่สุดคือ น้ำที่ตรวจพบนี้อยู่ในรูปของดาวหางที่โคจรรอบดาวดวงนี้อยู่

การค้นพบนี้เป็นเหมือนภาพตัวอย่างของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับระบบสุริยะของเราในอนาคต ในอีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวยักษ์ แผ่รังสีรุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบันห้าพันเท่า น้ำที่อยู่ในดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะจะระเหยออกไปหมด เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับซีดับเบิลยู สิงโตดวงนี้

เนื่องจากดาวหางเป็นสิ่งที่หลงเหลือจากการกระบวนการสร้างดาวเคราะห์ จึงน่าเป็นไปได้ว่าซีดับเบิลยู สิงโตนี้มีระบบดาวเคราะห์ด้วย 

"เราได้มาถึงบทเรียนใหม่ของวิธีการค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นแล้ว" เมลนิกกล่าวทิ้งท้าย

ดาวเทียมสวอสเป็นดาวเทียมของนาซา ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในเดือนธันวาคม ปี 2541 มีเป้าหมายในการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของก๊าซในอวกาศ แม้ว่าจะไม่ได้สร้างมาเพื่อค้นหาระบบสุริยะอื่นโดยเฉพาะ แต่ดาวเทียมดวงนี้ก็สามารถใช้ตรวจจับระบบสุริยะอื่นได้ด้วยการวิเคราะห์สเปกตรัม ซึ่งสามารถตรวจจับดาวเคราะห์ที่มีดาวเคราะห์เล็ก ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจจับแรงโน้มถ่วงอย่างที่ใช้ในวิธีดอปเพลอร์ซึ่งจะตรวจจับได้แต่ดาวเคราะห์ที่มีมวลมาก ๆ เท่านั้น

ดาวเทียมสวอสในวงโคจร (ภาพจาก Smithsonian Astrophysical Observatory)

ดาวเทียมสวอสในวงโคจร (ภาพจาก Smithsonian Astrophysical Observatory)

ซีดับเบิลยู สิงโต อาจมีดาวหางจำนวนมากโคจรรอบอยู่แบบดวงอาทิตย์ก็ได้ (ภาพจาก Smithsonian Astrophysical Observatory)

ซีดับเบิลยู สิงโต อาจมีดาวหางจำนวนมากโคจรรอบอยู่แบบดวงอาทิตย์ก็ได้ (ภาพจาก Smithsonian Astrophysical Observatory)

ที่มา: