สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางบอริซอฟอาจกำลังสลาย

ดาวหางบอริซอฟอาจกำลังสลาย

30 มี.ค. 2563
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปลายปีที่แล้ว ชาวโลกได้มีโอกาสต้อนรับดาวหางต่างด้าวอีกดวงหนึ่ง ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า ดาวหางบอริซอฟ (2I/ฺBorisov) 

ดาวหางต่างด้าวหมายความว่า เป็นดาวหางที่มีต้นกำเนิดมาจากระบบสุริยะหรือดาวฤกษ์ดวงอื่นนอกจากดวงอาทิตย์ ต่อมาด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ดาวหางได้หลุดจากพันธนาการของดาวแม่ พเนจรผ่านอวกาศอันเวิ้งว้างก่อนจะพลัดหลงเข้ามายังระบบสุริยะของเรา เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวหางประเภทนี้จึงไม่ใช่เป็นวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เป็นรูปไฮเพอร์โบลา ซึ่งจะเข้ามาเพียงครั้งเดียว หลังจากผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ไปแล้วก็จะวกกลับออกนอกระบบสุริยะไป ไม่กลับมาอีกตลอดกาล

ดาวหางบอริซอฟ (2I/Borisov) ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562  (จาก NASA/ESA/D. Jewitt (UCLA))

แต่สำหรับดาวหางบอริซอฟ ดูเหมือนว่าดาวหางดวงนี้จะไม่ได้ออกไปที่ไหนอีก ไม่ใช่เพราะมันจะลงหลักปักฐานมาเป็นบริวารดวงอาทิตย์ แต่เพราะมันอาจจะแตกสลายก่อนจะได้กลับออกไป เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์จากมหาวิทยาลัยยาเกียลอนในกรากุฟและมหาวิทยาลัยวอร์ซอได้พบว่าดาวหางบอริซอฟมีการปะทุสว่างขึ้นอย่างฉับพลัน  โดยพบว่าระหว่างวันที่ มีนาคมที่ผ่านมามีความสว่างเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าทั้งที่ดาวหางกำลังอยู่ในช่วงถอยห่างจากดวงอาทิตย์และจากโลกไป ความสว่างควรจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

การปะทุสว่างขึ้นอย่างฉับพลันของดาวหาง เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่านิวเคลียสของดาวหางกำลังแตกออก

ดาวหางบอริซอฟถูกค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 หลังจากที่สืบค้นข้อมูลการสังเกตการณ์ย้อนหลังปรากฏว่าดาวหางดวงนี้มีบันทึกการพบเห็นย้อนกลับไปได้ไกลถึงเดือนธันวาคม 2561 จึงทำให้มีข้อมูลสำหรับคำนวณหาวงโคจรได้อย่างแม่นยำ ซึ่งยืนยันว่า ดาวหางดวงนี้มีต้นกำเนิดมาจากนอกระบบสุริยะของเราจริง ๆ โดยจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ ธันวาคม 2562

ดาวหางในระบบสุริยะของเรามีสองประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรกคือดาวหางคาบสั้น มีคาบการโคจรต่ำกว่า 200 ปี มีต้นกำเนิดมาจากแถบไคเปอร์ ดาวหางจำพวกนี้มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนักหลังจากผ่านมาใกล้ดวงอาทิตย์ไปแล้ว อีกประเภทหนึ่งคือดาวหางคาบยาว หมายถึงดาวหางที่มีคาบโคจรมากกว่า 200 ปี หรือผ่านมาครั้งเดียว มีต้นกำเนิดมาจากเมฆออร์ตซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าแถบไคเปอร์มาก ดาวหางจำพวกนี้มีแนวโน้มจะแตกสลายได้ง่ายเมื่อผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ เนื่องจากเข้ามาในสภาพดั้งเดิมและโครงสร้างภายในเปราะบางกว่า

การสำรวจดาวหางบอริซอฟพบว่ามีสีและองค์ประกอบเคมีคล้ายดาวหางคาบยาวมากกว่า ดังนั้นหากดาวหางบอริซอฟจะแตกสลายจากรังสีดวงอาทิตย์จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายสักเท่าใด

 (จาก NASA/ESA/David Jewitt/Paul Kalas)

หากการปะทุของดาวหางบอริซอฟครั้งนี้เป็นการนำไปสู่การแตกสลายของตัวเองจริง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเสียดายอะไรนัก ในทางตรงข้าม เมื่อดาวหางแตกสลายจะเผยเนื้อในออกมา เปิดโอกาสให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีภายในดาวหางได้ง่ายยิ่งขึ้น นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าดาวหางมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลก ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบภายในดาวหางที่มาจากต่างระบบสุริยะจะช่วยให้เข้าใจถึงสารต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะอื่นได้เป็นอย่างดี