สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

30 ธ.ค. 48

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วีแอลบีเอ สำรวจแขนเพอร์ซิอัสของดาราจักรทางช้างเผือก พบว่าแขนนี้อยู่ห่างจากโลกเพียง 6,400 ปีแสง ใกล้กว่าที่เคยประเมินด้วยวิธีเทียบความเร็วของดาวถึงเท่าตัว

22 ธ.ค. 48

หอสังเกตการณ์โซโฮมีอายุครบ 10 ปีแล้ว โซโฮได้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2538 และมีอายุการใช้งานตามการออกแบบเพียงสองปี แต่ก็ยังคงปฏิบัติงานได้อยู่แม้จะเลยอายุมาห้าเท่าแล้วก็ตาม โซโฮอาจทำงานต่อไปได้อีกหลายปี แต่อุปสรรคที่สำคัญคืองบดูแลซึ่งลดลงอย่างมาก และหลังจากปี 2551 จะมีหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ใหม่ชื่อโซลาร์ไดนามิกส์ออบเซอร์เวทอรีขึ้นไปปฏิบัติงานแทน

15 ธ.ค. 48

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซาค้นพบกระจุกดาวใหม่กว่า 100 กระจุก กระจุกดาวเหล่านี้ปกติมองไม่เห็นเนื่องจากมีฝุ่นบดบัง แต่สปิตเซอร์เป็นกล้องอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพมาก จึงมองทะลุม่านฝุ่นได้

28 พ.ย. 48

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศเป็นครั้งที่สอง จีนประกาศที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์และสร้างสถานีอวกาศภายใน 15 ปี

21 พ.ย. 48

กล้องโทรทรรศน์แอลบีที เปิดรับแสงแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 โดยเลือกเอาดาราจักรเอ็นจีซี 891 เป็นภาพแรก กล้องนี้อยู่ที่เขาเกรแฮม กระจกปฐมภูมิแต่ละบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร นับเป็นกล้องสองตาที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล้องนี้มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัดมากกว่าภาพจากกล้องฮับเบิลถึงราว 10 เท่า

21 พ.ย. 48

กล้องโทรทรรศน์ซอลต์ (SALT--Southern African Large Telescope) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์เดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในซีกฟ้าใต้ ได้ทดลองรับแสงแรกแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา กล้องนี้ออกแบบตามกล้องฮอบบี-เอเบอร์ลี มีขนาดกระจกปฐมภูมิ 10x11 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางยังผล 10 เมตร กล้องนี้มีมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์ อยู่ที่ระดับความสูง 1,800 เมตร ใกล้ซุเทอร์แลนด์ของประเทศแอฟริกาใต้

7 ต.ค. 48

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมซุซะกุ (ชื่อเดิม แอสโทร-อี 2) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทำงานในย่านความถี่รังสีเอกซ์ ดาวเทียมดวงนี้เป็นตัวแทนดาวเทียมแอสโทร-อีซึ่งประสบความล้มเหลวขณะปล่อยขึ้นสู่ฟ้าเมื่อปี 2543 แม้จะมีกำลังขยายภาพน้อยกว่าหอดูดาวจันทราของนาซาและเอกซ์เอ็มเอ็มนิวตันของอีซา แต่ก็มีความไวแสงและกำลังแยกสเปกตรัมสูงกว่ากล้องใด ๆ

5 ต.ค. 48

แม้จะมีปัญหาทางเทคนิคบางประการ แต่ภารกิจสำรวจดาวอังคารโดยมาร์สเอกซ์เพรสขององค์การอวกาศยุโรปก็ประสบความสำเร็จในหลายด้าน ล่าสุดทางองค์การอวกาศยุโรปต่ออายุงานให้ยานลำนนี้ออกไปจนถึงปี 2550

18 ส.ค. 48

ดาวเทียมไทยคม 4 ได้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมาที่ฐานปล่อยในเฟรนช์เกียนาขององค์การอวกาศยุโรป โดยจรวด เอเรียน 5 จี การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ได้สร้างสถิติใหม่ของการปล่อยดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่เคยส่งมา ดาวเทียมไทยคม 4 มีน้ำหนักถึง 6,486 กิโลกรัม

11 ส.ค. 48

ยานนิวเฮอไรซอน ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวพลูโตลำแรกได้ถูกนำส่งจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ไปยังศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดในกรีนเบลต์แล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงการทดสอบในขั้นตอนสุดท้าย หากไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นอีก ยานจะขึ้นสู่อวกาศในเดือนมกราคมปีหน้า

9 ส.ค. 48

นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า ขณะนี้ยานวอยเอเจอร์ 1 ซึ่งออกเดินทางจากโลกไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ได้พ้นเขตสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ไปแล้ว ขณะนี้ยานอยู่ห่างจากโลก 14,000 ล้านกิโลเมตร

9 ส.ค. 48

หอสังเกตการณ์นิวทริโนสี่แห่งได้ร่วมมือกันจัดตั้งระบบแจ้งเหตุซูเปอร์โนวาล่วงหน้า (SuperNova Early-Warning System--SNEWS

9 ส.ค. 48

มีความเป็นไปได้มากที่โครงการกล้องโทรทรรศน์เจมส์เว็บบ์จะต้องถูกลดขนาดลงหรือถึงขั้นยกเลิกเนื่องจากปัญหาด้านค่าใช้จ่าย

9 ส.ค. 48

ยานมาร์สเอกซ์เพรสได้ตรวจพบแสงเหนือใต้ที่บริเวณเทอราซิมเมอเรียม (Terra Cimmerium) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กท้องถิ่นอยู่

10 มิ.ย. 48

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ยานออปพอร์ทูนิตี ซึ่งเป็นรถหนึ่งในสองของภารกิจมารส์เอกซ์พลอเรชันโรเวอร์ของนาซาได้ตะกายขึ้นมาจากแอ่งทรายได้สำเร็จ หลังจากที่ติดอยู่ในทรายเป็นเวลาถึงเกือบ 6 สัปดาห์ ขณะนี้ออปพอร์ทูนิตีและยานคู่แฝดชื่อ สปิริต ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้แม้จะมีอายุงานมานานกว่าที่กำหนดไว้ถึง 5 เท่า

10 มิ.ย. 48

สกอตต์ แชปแมน จากคาลเทค ได้สำรวจดาราจักรแอนดรอเมดา เพื่อนบ้านรูปก้นหอยของเราด้วยกล้องเคก 2 ขนาด 10 เมตรในฮาวาย พบว่ามีดาวจาง ๆ ประมาณ 3,500 ดวงที่อยู่นอกขอบดาราจักรแอนดรอเมดากำลังโคจรรอบดาราจักรนั้นอยู่ ดาวเหล่านี้อยู่ห่างจากใจกลางของแอนดรอเมดากว่า 220,000 ปีแสง แสดงว่าดาราจักรยักษ์เพื่อบ้านของเราแห่งนี้เป็นยักษ์ที่ใหญ่กว่าที่เราเคยคิดเอาไว้มาก นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งหลงเหลือจากการที่มีดาราจักรเล็กถูกแอนดรอเมดากลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง

10 พ.ค. 48

นักดาราศาสตร์จากแคนาดา ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ได้ค้นพบกระจุกดาวชนิดใหม่ในดาราจักรแอนดรอเมดา กระจุกดาวชนิดใหม่นี้มีดาวจำนวนมากหลายแสนดวงและมีอายุมากคล้ายคลึงกับกระจุกดาวทรงกลม แต่ขนาดของกระจุกดาวใหญ่กว่ากระจุกดาวทรงกลมมาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยปีแสง สันนิษฐานว่า อาจเป็นดาราจักรแคระโบราณที่กำลังถูกดาราจักรแอนดรอเมดาดูดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง

8 พ.ค. 48

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮมได้สร้างแบบจำลองการเกิดดาราจักร พบว่าดาราจักรใหญ่และดาราจักรแคระบริวารมีการกระจายตัวกันเป็นรูปร่างแผ่นกลมเหมือนไข่ดาว ต่างจากทฤษฎีจักรวาลวิทยาที่เคยให้ภาพของกลุ่มดาราจักรที่กระจายกันเป็นทรงกลม แต่การกระจายตัวเป็นรูปแผ่นนี้ตรงกับการสังเกตการณ์มากกว่า

3 พ.ค. 48

สมาคมดาวเคราะห์ (The Planetary Society) ได้จัดการรายการชิงรางวัล โดยให้ผู้ร่วมสนุกซึ่งเป็นใครก็ได้ส่งคำทายว่าแผลของดาวหางเทมเพล 1 ที่เกิดจากยานดีปสเปซ 2 ยิงตุ้มน้ำหนักใส่ในวันที่ 4 กรกฎาคมที่จะถึงนี้จะมีขนาดเท่าใด รางวัลสำหรับผู้ที่ทายแม่นที่สุดคือสมาชิกภาพของสมาคมและโล่ที่ทำจากโลหะผสมชนิดเดียวกับที่ใช้ทำตุ้มของยาน ส่วนรางวัลรองลงมายังมีอีกกว่าร้อยรางวัล ผู้ใดสนใจร่วมสนุกเชิญไปที่ http://planetary.org/deepimpact

30 เม.ย. 48

คณะนักดาราศาสตร์นำโดย เอวอน พี ฮิวเซอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ดฟอร์ดไชร์ พบกระจุกดาวสามกระจุกในดาราจักรแอนดรอเมดา (M31) ที่มีสมบัติก้ำกึ่งระหว่างดาราจักรแคระและกระจุกดาวทรงกลม