สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

19 เม.ย. 47

ยานออปพอร์ทูนิตีพบหลักฐานชัดเจนว่า บริเวณที่ยานลงจอดเคยเป็นชายหาดของทะเลน้ำเค็มมาก่อน ทำให้โอกาสที่จะพบซากดึกดำบรรพ์เป็นไปได้มากขึ้น

31 มี.ค. 47

องค์การนาซาและอีซาอนุมัติให้ต่ออายุภารกิจของยานยูลีสซีสออกไปอีกจนถึงปี 2551 ยานยูลีสซีสเริ่มปฏิบัติภารกิจมาตั้งแต่ปี 2533 และมีกำหนดให้เสร็จสิ้นในปี 2538 และได้รับการต่ออายุครั้งแรกเป็นเวลาห้าปี ก่อนที่จะได้รับการต่ออายุในครั้งนี้อีกครั้ง

29 มี.ค. 47

นักดาราศาสตร์พบโมเลกุลของออกซิเจนและคาร์บอนที่บรรยากาศของดาว HD 209458b เป็นครั้งแรกที่พบโมเลกุลนี้ในดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น

14 มี.ค. 47

เจย์ แมกนีล กลายเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นคนแรกในโลกที่ค้นพบเนบิวลาใหม่ เขาค้นพบโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 3 นิ้วกับกล้องซีซีดี การค้นพบนี้ได้รับการรับรองโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลแล้ว

14 มี.ค. 47

นักดาราศาสตร์อเมริกันและเยอรมันได้สร้างแบบจำลองของซูเปอร์โนวาด้วยคอมพิวเตอร์ ผลยืนยันความเชื่อที่นักดาราศาสตร์เชื่อมานานว่าการระเบิดที่ไม่สมมาตรผลักให้ดาวนิวตรอนเคลื่อนที่ไปในอวกาศด้วยอัตราเร็วสูงมากนับร้อยหรืออาจถึงนับพันกิโลเมตรต่อวินาที

12 มี.ค. 47

นักดาราศาสตร์สถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศได้สำรวจใจกลางของเนบิวลาดาวเคราะห์ 11 เนบิวลา พบว่ามีถึง 10 เนบิวลาที่มีดาวคู่อยู่ บางที่การค้นพบนี้อาจบอกว่าดาวคู่เป็นต้นกำเนิดสำคัญในการเกิดเนบิวลาดาวเคราะห์ ไม่ใช่ดาวยักษ์แดงดังที่เคยชื่อกันมานาน

5 มี.ค. 47

นักดาราศาสตร์พบภาพเควซาร์ที่ถูกแยกเป็นสองส่วนที่มีระยะห่างของภาพมากที่สุดดวงใหม่แล้ว มีชื่อว่า 2QZ J1435+0008 จุดของเควซาร์ดวงนี้อยู่ห่างกันถึง 33 พิลิปดา

1 มี.ค. 47

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบวัตถุไคเปอร์ที่ใหญ่ที่สุดดวงใหม่แล้ว มีชื่อว่า 2004 DW มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1,600 กิโลเมตร ใหญ่กว่าแชมป์เก่าควาอัวร์ซึ่งมีขนาด 1,250 กิโลเมตร วัตถุนี้มีรัศมีวงโคจรเฉลี่ย 39.5 หน่วยดาราศาสตร์ ระนาบวงโคจรเอียง 20.6 องศา

26 ก.พ. 47

กล้องโทรทรรศน์เอกซ์เอ็มเอ็ม-นิวตันได้ค้นพบการสะท้อนของรังสีเอกซ์เป็นวงล้อมรอบแสงวาบรังสีแกมมาเป็นครั้งแรก

21 ก.พ. 47

นักดาราศาสตร์นานาชาติได้ใช้กล้องโทรทรรศน์กรีนแบงก์สำรวจดาราจักรแอนดรอเมดา พบกลุ่มแก๊สความเร็วสูงรอบ ๆ ดาราจักร เชื่อว่าแก๊สเหล่านี้เป็นร่องรอยที่หลงเหลือของดาราจักรเล็ก ๆ ที่เคยเข้ามารวมกันเป็นดาราจักรใหญ่

21 ม.ค. 47

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องของหอดูดาวแห่งชาติคิตต์พีกสำรวจกระจุกดาวลูกไก่ พบว่าก๊าซที่ห่อหุ้มกระจุกดาวนั้นเป็นก๊าซจากสองแหล่งมาชนกันในบริเวณกระจุกดาวพอดี ไม่ใช่ก๊าซจากแหล่งเดียว ก่อนหน้านี้ในทศวรรษ 1980 นักดาราศาสตร์เพิ่งทราบว่าก๊าซที่ห่อหุ้มอยู่นั้นเป็นก๊าซจากแหล่งอื่นที่ผ่านเข้ามาบังกระจุกดาวพอดี ไม่ใช่ก๊าซที่หลงเหลือจากการสร้างดาวฤกษ์ในกระจุกดาวอย่างที่เคยเชื่อกันมานาน

7 ม.ค. 47

บรูซ แคมป์เบลล์จากสถาบันสมิทโซเนียน ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุอาริซิโบ สำรวจหลุมอุกกาบาตที่ขั้วดวงจันทร์ทั้งสองขั้วหลายหลุมเพื่อหาร่องรอยของน้ำแข็ง แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีน้ำแข็งอยู่เลย ผลการวิจัยนี้ขัดกับผลการสำรวจของยานเคลเมนไทน์และลูนาร์พรอสเปกเตอร์ซึ่งระบุว่าที่ขั้วดวงจันทร์มีน้ำแข็งอยู่

6 ม.ค. 47

นาซาประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์ไอออนเนกซิส (Nexis--Nuclear Electric Xenon Ion System) อย่างสมบูรณ์ เครื่องยนต์ไอออนนี้เป็นเครื่องยนต์แบบใหม่ที่ใช้พลังขับดันจากไอออน คาดว่าอาจนำมาใช้กับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีในอนาคต

27 ธ.ค. 46

ยานบีเกิล-2 ได้ตกลงสู่พื้นผิวดาวอังคารแล้วเมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมา แต่ไม่มีสัญญาณใด ๆ ติดต่อกลับมาจนถึงขณะนี้

23 ธ.ค. 46

ยานมาร์สเอกซ์เพรส ได้ปล่อยยานลูกชื่อบีเกิล-2 เป็นผลสำเร็จ ยานบีเกิล-2 จะลงสัมผัสพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ 25 ธันวาคมนี้

11 ธ.ค. 46

ศูนย์ควบคุมขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นได้ตัดสินใจล้มเลิกความพยายามที่จะติดต่อกับยานโนะโซะมิ ยานสำรวจดาวอังคารของญี่ปุ่นหลังจากได้รับความเสียหายหลายอย่างและถูกกระหน่ำซ้ำเติมโดยพายุสุริยะ ยานจะผ่านเลยดาวอังคารไปในวันที่ 13 ธันวาคม

11 ธ.ค. 46

แมรี อุปกรณ์ตรวจรังสีบนดาวอังคารบนยานมาร์สโอดิสซีย์ ได้หยุดทำงานไปตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเนื่องจากพายุสุริยะ แม้พายุจะผ่านพ้นไปแล้วแต่ก็ยังไม่คืนสภาพกลับมาทำงานได้ตามปรกติ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของมาร์สโอดิสซีย์ยังคงพยายามที่จะชุบชีวิตอุปกรณ์นี้ต่อไป

29 พ.ย. 46

องค์การอวกาศยุโรปตัดสินใจยกเลิกภารกิจเอดดิงตันซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ระบบสุริยะอื่นแล้ว เนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน

21 พ.ย. 46

ญี่ปุ่นได้สูญเสียดาวเทียมมิโดะริ-2 ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดาวเทียมมิโดะริ-2 เป็นดาวเทียมสำรวจสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เพิ่งผ่านการปฏิบัติงานมาได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น

24 ต.ค. 46

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นพบวัตถุไคเปอร์ดวงใหม่ 3 ดวง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ 2003BH91 อยู่ห่างจากโลก 6,400 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 42.5 หน่วยดาราศาสตร์ มีอันดับความสว่าง 28.4 นับเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่อยู่ไกลที่สุดและจางที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ นอกจากนี้การสำรวจนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงว่าขอบเขตระบบสุริยะของเรามีรัศมีไม่เกิน 50 หน่วยดาราศาสตร์