ดาวหางและดาวเคราะห์น้อย
11 พฤษภาคม 2563
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2563
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวหางและดาวเคราะห์น้อยจัดเป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ
มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เกือบทั้งหมดมีความสว่างน้อย ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ด้วยธรรมชาติของดาวหางที่เป็นดวงฝ้า ไม่ใช่จุดสว่างแบบดาวฤกษ์ ดาวหางที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่ามักต้องสว่างกว่าโชติมาตร 3 หรือ 4 ดาวหางที่สว่างกว่านี้ หรือสว่างจนสามารถมองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้ามืด ห่างไกลจากแสงรบกวน ไม่ได้มีมาให้เห็นบ่อย หลายปีจึงจะมีให้เห็นสักดวงหนึ่ง
ดาวหางที่สว่างกว่าโชติมาตร 11 ในปัจจุบัน (15 พฤศจิกายน 2563)ดาวหาง | โชติมาตร | แนวโน้ม | กลุ่มดาว | เวลาที่สังเกตได้ |
---|
C/2020 S3 (Erasmus) | 8 | สว่างขึ้น | นกกา | 04:00 - เช้ามืด |
C/2020 M3 (ATLAS) | 8 | คงที่ | นายพราน | 21:00 - เช้ามืด |
88P/Howell | 10 | จางลง | คนยิงธนู | หัวค่ำ - 21:00 |
หมายเหตุ
1. C/2020 M3 (ATLAS) เป็นดาวหางที่ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่าง 1.268 หน่วยดาราศาสตร์ และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ที่ระยะห่าง 0.358 หน่วยดาราศาสตร์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 คำนวณได้ว่าดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางรายคาบ โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 139 ปี และได้ปะทุความสว่างขึ้น ทำให้สว่างกว่าที่คาดไว้ ช่วงที่ใกล้โลกมีความสว่างสูงสุดราวโชติมาตร 7-8 โดยอยู่ในกลุ่มดาวนายพราน สังเกตได้เกือบตลอดทั้งคืนเนื่องจากมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์มาก
2. C/2020 S3 (Erasmus) เป็นดาวหางที่ค้นพบเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 จะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.4 หน่วยดาราศาสตร์ คาดว่ามีโอกาสจะสังเกตได้ในปลายเดือนพฤศจิกายน และอาจถึงต้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ดาวหางจะใกล้ดวงอาทิตย์ ช่วงนั้นอาจมีความสว่างราวโชติมาตร 6 โดยเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวหญิงสาว งูไฮดรา และคันชั่ง สังเกตได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด
ซีรีสและเวสตา
ในบรรดาดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ดวงที่สว่างที่สุดคือเวสตา (Vesta) หากช่วงที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับช่วงที่เวสตาผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดบนวงโคจร สามารถสว่างได้ถึงโชติมาตร 5.3 เห็นได้ด้วยตาเปล่าและเห็นได้ชัดเจนในกล้องสองตา ส่วนซีรีส (Ceres) ซึ่งมีสถานภาพเป็นดาวเคราะห์แคระด้วย และเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย สามารถสว่างที่สุดได้ถึงโชติมาตร 6.8
วันที่ซีรีสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. 2561-2570วันที่ | โชติมาตร | กลุ่มดาว |
---|
31 มกราคม 2561 (20 น.) | 6.9 | ปู |
29 พฤษภาคม 2562 (6 น.) | 7.0 | คนแบกงู |
28 สิงหาคม 2563 (19 น.) | 7.7 | คนแบกหม้อน้ำ |
27 พฤศจิกายน 2564 (11 น.) | 7.0 | วัว |
21 มีนาคม 2566 (15 น.) | 6.9 | ผมเบเรนิซ |
21 มีนาคม 2566 (15 น.) | 7.3 | คนยิงธนู |
2 ตุลาคม 2568 (20 น.) | 7.6 | ซีตัส |
8 มกราคม 2570 (1 น.) | 6.8 | คนคู่ |
วันที่เวสตาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. 2561-2570วันที่ | โชติมาตร | กลุ่มดาว |
---|
20 มิถุนายน 2561 (3 น.) | 5.3 | คนยิงธนู |
12 พฤศจิกายน 2562 (16 น.) | 6.5 | ซีตัส |
5 มีนาคม 2564 (1 น.) | 6.0 | สิงโต |
23 สิงหาคม 2565 (2 น.) | 5.8 | คนแบกหม้อน้ำ |
22 ธันวาคม 2566 (2 น.) | 6.4 | นายพราน |
2 พฤษภาคม 2568 (13 น.) | 5.6 | คันชั่ง |
13 ตุลาคม 2569 (13 น.) | 6.3 | ซีตัส |
ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส
โดยทั่วไป มีดาวเคราะห์น้อยสองดวง คือซีรีสและเวสตาเท่านั้น ที่พอจะสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาสำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น แต่มีเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย อย่างการเฉียดใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (99942 Apophis) ในวันที่ 13-14 เมษายน 2572 อะโพฟิสถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2547 การสังเกตด้วยเรดาร์เมื่อ พ.ศ. 2555-2556 ได้รับการประเมินว่ามีขนาดราว 450 × 170 เมตร จะผ่านใกล้โลกที่ระยะห่างเพียง 37,700 กิโลเมตร ทำให้สว่างถึงระดับที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า (ยังคงเห็นเป็นเพียงจุดสว่างคล้ายดาว)
ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่หัวค่ำของวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2572 อะโพฟิสจะขึ้นทางทิศตะวันออก ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่สูงสุดบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลาประมาณเที่ยงคืน เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวงูไฮดรา นกกา ถ้วย และสิงโต ตลอดทั้งคืน อะโพฟิสจะสว่างขึ้นเรื่อย ๆ จากโชติมาตร 6.4 ไปที่ 3.9 สว่างที่สุดก่อนจะตกลับขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาตี 3 ครึ่ง ของวันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2572 ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนใกล้โลกที่สุด
แนวการเคลื่อนที่ของอะโพฟิสขณะเฉียดใกล้โลกในวันที่
13-14 เมษายน 2572 (จาก CNEOS)
ดูเพิ่ม
● รู้จักดาวหาง