ดาวเคราะห์ในปี 2551
12 ธันวาคม 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 16 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวพุธ
เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุด เราจึงไม่ค่อยได้เห็นดาวพุธบ่อยนักเพราะส่วนใหญ่ดาวพุธจะอยู่บนท้องฟ้าในเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสางซึ่งเป็นเวลาที่ท้องฟ้าไม่มืดสนิท ขณะที่ดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมันจะปรากฏในเวลาหัวค่ำ และเมื่อดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมันจะปรากฏในเวลาเช้ามืด
หากตัดปัจจัยเรื่องเมฆที่อาจเป็นอุปสรรคในการสังเกต ช่วงเวลาที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์และมองเห็นได้ดีในประเทศไทยสำหรับปี 2551 คือ เวลาเช้ามืดเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ช่วงนั้นจะสังเกตดาวพุธได้ง่ายเนื่องจากมันจะผ่านใกล้ดาวศุกร์ในวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ ขณะอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล หลังจากนั้นดาวพุธ ดาวศุกร์ กับพระจันทร์เสี้ยวจะเรียงกันเป็นแนวเส้นตรงในเช้ามืดวันที่ 6 มีนาคม 2551 เว้นระยะห่างระหว่างกัน 2.6 องศา จึงเห็นวัตถุท้องฟ้าทั้งสามดวงได้พร้อมกันในกล้องสองตา
สำหรับช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำน่าจะเป็นเดือนพฤษภาคมซึ่งดาวพุธจะอยู่ในกลุ่มดาววัว และอาจรวมไปถึงปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายนที่ดาวพุธ ดาวศุกร์ กับดาวอังคารจะอยู่ใกล้กัน (อาจสังเกตได้ยากเนื่องจากอยู่ใกล้ขอบฟ้าและเป็นฤดูมรสุมที่ฝนมักจะตกในเวลาบ่ายถึงค่ำ)
หากดูดาวพุธด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไปจะเห็นดาวพุธมีขนาดเล็ก เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปอย่างรวดเร็วตามมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์คล้ายกับการเกิดดิถีของดวงจันทร์ นอกจากนี้ความสว่างของดาวพุธก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ดาวศุกร์ โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพุธกับโลกและมีขนาดเล็กกว่าโลกของเราเล็กน้อย ด้วยระยะห่างที่ใกล้กว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นและความสามารถในการสะท้อนแสงของเมฆในบรรยากาศทำให้ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ยามที่เห็นดาวศุกร์ในเวลาหัวค่ำเราเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" หากเห็นในเวลาเช้ามืดเรียกว่า "ดาวประกายพรึก" ด้วยเหตุที่มันโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลกทำให้ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47 องศา เราจึงไม่เคยเห็นดาวศุกร์บนท้องฟ้าเวลาเที่ยงคืน
ต้นปีดาวศุกร์ปรากฏเป็น "ดาวประกายพรึก" ต่อเนื่องจากปี 2550 และเป็นเช่นนี้ต่อไปถึงปลายเดือนเมษายน วันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดี จากนั้นอยู่ใกล้ดาวพุธในเช้ามืดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ดาวพุธกับดาวศุกร์จะเข้าใกล้กันอีกครั้งในวันที่ 25 มีนาคม แต่อาจเห็นได้ค่อนข้างยากเนื่องจากทั้งคู่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าเมื่อตอนที่ผ่านใกล้กันครั้งแรก ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนน่าจะเป็นช่วงท้าย ๆ ที่มีโอกาสเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืด ดาวศุกร์ผ่านตำแหน่งร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2551
เวลาหัวค่ำของปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคมอาจจะเริ่มเห็นดาวศุกร์เป็น "ดาวประจำเมือง" อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในกลุ่มดาวสิงโต เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายนดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวเสาร์ ดาวพุธ และดาวอังคารโดยเห็นอยู่ห่างจากขอบฟ้าไม่มากในเวลาที่ท้องฟ้ามืดเพียงพอ ค่ำวันที่ 1 ธันวาคม เป็นอีกครั้งที่ดาวพฤหัสบดีมาอยู่ใกล้ดาวศุกร์และเป็นวันเดียวกับที่พระจันทร์เสี้ยวมาอยู่ใกล้ดาวเคราะห์สว่างทั้งสองดวงด้วยระยะไม่เกิน 3 องศา เชื่อว่าจะเป็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่สวยงามมากครั้งหนึ่งในรอบปีนี้
ดาวอังคาร หลังจากที่ดาวอังคารได้เข้าใกล้โลกและอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ปีนี้ดาวอังคารปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำเกือบตลอดทั้งปี สิบเดือนแรกดาวอังคารเคลื่อนผ่านกลุ่มดาววัว คนคู่ ปู สิงโต หญิงสาว และคันชั่ง หลังจากนั้นมันจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และไม่ปรากฏให้เห็นอีกจนกระทั่งปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552
วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ดาวอังคารจะเคลื่อนผ่านกระจุกดาวรังผึ้งในกลุ่มดาวปู จากนั้นผ่านใกล้ดาวเสาร์ในวันที่ 10 กรกฎาคม ใกล้ดาวพุธกับดาวศุกร์ในครึ่งแรกของเดือนกันยายน ก่อนหายลับไปจากท้องฟ้าเนื่องจากถูกแสงอาทิตย์กลบ ขนาดเชิงมุมและความสว่างของดาวอังคารลดลงเรื่อย ๆ ตลอดปีนี้ วันที่ 1 มกราคม ดาวอังคารส่องสว่างด้วยโชติมาตร -1.5 ขนาดเชิงมุม 15.4 พิลิปดา เมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน ความสว่างของดาวอังคารลดลงไปที่โชติมาตร +1.7 ขนาดเชิงมุม 3.9 พิลิปดา
ปีนี้คนไทยจะมีโอกาสสังเกตดาวอังคารหายลับไปเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์ในค่ำวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2551 เวลาประมาณ 4-5 ทุ่ม โดยจะสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วประเทศ
วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2551ดาวเคราะห์ | วันที่ | โชติมาตร (อันดับความสว่าง) |
---|
ดาวเสาร์ | 24 ก.พ. | +0.2 |
ดาวพฤหัสบดี | 9 ก.ค. | -2.7 |
ดาวเนปจูน | 15 ส.ค. | +7.8 |
ดาวยูเรนัส | 13 ก.ย. | +5.7 |
ดาวอังคาร | - | - |
ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะและสว่างเป็นอันดับสองรองจากดาวศุกร์ องค์ประกอบส่วนใหญ่ของดาวพฤหัสบดีเป็นแก๊สและเชื่อว่าใจกลางเป็นหิน ดาวพฤหัสบดีหายลับไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2550 มันจะเคลื่อนไปปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดโดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมกราคมของปีนี้ขณะอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู สองวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์จะเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี จากนั้นเช้ามืดวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ดาวพฤหัสบดีจะเข้าบังดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกลุ่มดาวคนยิงธนู การบังกันระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวฤกษ์โชติมาตร 4.9 ครั้งนี้น่าจะเห็นได้ไม่ยากด้วยกล้องโทรทรรศน์
ดาวพฤหัสบดีปรากฏบนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืดตลอดครึ่งแรกของปี 2551 จากนั้นมันจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมพร้อมกับสว่างมากที่สุดด้วยโชติมาตร -2.7 ช่วงต่อไปดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้าทุกคืนในเวลาหัวค่ำโดยค่อย ๆ ย้ายไปทางทิศตะวันตกและจะมีโอกาสสังเกตดาวพฤหัสบดีผ่านใกล้ดาวศุกร์เป็นครั้งที่สองในวันที่ 1 ธันวาคม และผ่านใกล้ดาวพุธในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 อันเป็นเวลาที่ดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นและอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในเวลาพลบค่ำ
ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์แก๊สที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วจึงมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี แต่ดูสวยงามกว่าตรงที่มีวงแหวนขนาดใหญ่ล้อมรอบ ปีนี้ระนาบวงแหวนของดาวเสาร์เอียงทำมุมลดลงยิ่งกว่าปีที่แล้วทำให้ดาวเสาร์มีความสว่างลดลงอีกและอาจดูไม่สวยงามเท่าเมื่อ 6-7 ปีก่อน ปลายปี 2552 เราจะเห็นดาวเสาร์ปราศจากวงแหวนเมื่อระนาบวงแหวนตัดกับระนาบวงโคจรโลกซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ 14-15 ปี
ปีนี้ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโตตลอดทั้งปี สองเดือนแรกมองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด จากนั้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดาวเสาร์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ทำให้สว่างและใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี เดือนมีนาคมดาวเสาร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าตั้งแต่เวลาหัวค่ำ อยู่บนฟ้าเวลานี้ต่อไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคมก่อนเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตการณ์ต่อไปได้ ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไปจึงจะเห็นดาวเสาร์กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าอีกครั้งในเวลาเช้ามืด
ดาวยูเรนัส อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำใกล้เขตต่อกับกลุ่มดาวปลา ส่วน ดาวเนปจูน ยังคงอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ช่วยให้สังเกตดาวเคราะห์สองดวงนี้ได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จำเป็นต้องอาศัยแผนที่ดาวในการระบุตำแหน่งที่แน่นอนของดาวเคราะห์สองดวงนี้