สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ในปี 2552

ดาวเคราะห์ในปี 2552

9 มกราคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 19 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุด ดังนั้นส่วนใหญ่ดาวพุธจึงปรากฏบนท้องฟ้าเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสางซึ่งเป็นเวลาที่ท้องฟ้าไม่มืดสนิท ขณะที่ดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออก มันจะปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ในทางกลับกัน หากดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตก มันจะปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด

หากไม่คำนึงถึงปัจจัยเรื่องเมฆและสภาพท้องฟ้าที่อาจเป็นอุปสรรคในการสังเกต ช่วงเวลาที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์และสังเกตได้ดีสำหรับปี 2552 คือ เวลาเช้ามืดเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม ช่วงนั้นจะสังเกตดาวพุธได้ง่ายเนื่องจากมันทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าช่วงอื่น ๆ ของปี และดาวพุธ ดาวอังคาร กับดาวพฤหัสบดี จะเกาะกลุ่มกันจนสามารถมองเห็นได้พร้อมกันผ่านกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำ ช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอีกช่วงหนึ่งคือเกือบตลอดเดือนมิถุนายน โดยอยู่บริเวณกลุ่มดาววัว แต่ไม่ดีเท่าช่วงแรก และอาจมีอุปสรรคจากเมฆฝน

สำหรับช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำ ช่วงแรกเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2551 ถึงราววันที่ 10 มกราคม อีกช่วงหนึ่ง คือ กลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งดาวพุธจะผ่านใกล้กระจุกดาวลูกไก่ ถัดมาเป็นต้นเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์และดาวเสาร์ ช่วงสุดท้ายอยู่ในราวกลางเดือนถึงปลายเดือนธันวาคม ดวงจันทร์เสี้ยวมาอยู่ใกล้ดาวพุธในวันที่ 18 ธันวาคม หากดูดาวพุธด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไปจะเห็นดาวพุธมีขนาดเล็ก เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปอย่างรวดเร็วตามมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงดิถีของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ความสว่างของดาวพุธก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างรวดเร็ว

ภาพจำลองดาวเคราะห์ในปี 2552 แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA) 

ดาวศุกร์ ด้วยระยะห่างและความสามารถในการสะท้อนแสงของเมฆในบรรยากาศ ทำให้ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า เมื่อดาวศุกร์ปรากฏในเวลาหัวค่ำ เราเรียกมันว่า "ดาวประจำเมือง" หากปรากฏในเวลาเช้ามืด เรียกว่า "ดาวประกายพรึก" หรือ "ดาวรุ่ง" วงโคจรของดาวศุกร์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลกทำให้ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47 องศา เราจึงไม่เคยเห็นดาวศุกร์บนท้องฟ้าเวลาเที่ยงคืน

ดาวศุกร์เป็นดาวประจำเมืองต่อเนื่องมาจากปลายปี 2551 และเป็นต่อไปถึงกลางเดือนมีนาคม 2552 โดยเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและกลุ่มดาวปลา วันที่ 28 มีนาคม ดาวศุกร์ผ่านตำแหน่งร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ เวลานั้นมันอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือของดวงอาทิตย์ด้วยระยะเชิงมุมประมาณ องศา ต้นเดือนเมษายนน่าจะเริ่มเห็นดาวศุกร์เป็นดาวประกายพรึกอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ปลายเดือนเมษายนดาวศุกร์ใกล้ดาวอังคารที่ระยะห่างประมาณ องศา ในกลุ่มดาวปลา

เดือนมิถุนายนดาวศุกร์จะเข้าใกล้ดาวอังคารเป็นครั้งที่สองด้วยระยะห่าง องศา ในกลุ่มดาวแกะ ช่วงต่อไปดาวศุกร์จะเคลื่อนผ่านกลุ่มดาววัว นายพราน คนคู่ และกลุ่มดาวปู ผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งในวันที่ กันยายน กลางเดือนกันยายนดาวศุกร์ย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในวันที่ 21 กันยายน เดือนถัดมาดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวเสาร์ขณะอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว แต่อยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่มากนัก กลางเดือนพฤศจิกายนน่าจะเป็นช่วงสุดท้ายที่เห็นดาวศุกร์เป็นดาวประกายพรึก ระยะเวลาที่เหลือของปีจะไม่เห็นดาวศุกร์ เพราะมันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏอีกครั้งในเวลาหัวค่ำราวต้นเดือนมีนาคม 2553

ดาวอังคาร เมื่อเข้าสู่ปี 2552 ยังไม่สามารถสังเกตดาวอังคารได้เพราะมันยังคงอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ดาวอังคารจะเริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดโดยทำมุมห่างออกจากดวงอาทิตย์อย่างช้า ๆ และจะอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวันตลอดปีนี้ ดาวอังคารอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ จากนั้นเข้าใกล้ดาวพุธในวันที่ มีนาคม กลางเดือนมีนาคมดาวอังคารออกจากกลุ่มดาวแพะทะเลเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ วันที่ 15-16 เมษายน ดาวอังคารเข้าไปในกลุ่มดาวปลาพร้อมกับอยู่ใกล้ดาวยูเรนัสด้วยระยะห่างประมาณ 0.5 องศา และเข้าใกล้ดาวศุกร์ครั้งแรกในปลายเดือนเมษายน ครั้งที่สองในปลายเดือนมิถุนายน

เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ดาวอังคารเคลื่อนผ่านกลุ่มดาววัว นายพราน คนคู่ และกลุ่มดาวปู ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ดาวอังคารผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้ง เดือนธันวาคมมันเริ่มเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ของกลุ่มดาวสิงโต ขนาดเชิงมุมและความสว่างของดาวอังคารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดปีนี้ วันที่ มกราคม ดาวอังคารส่องสว่างด้วยโชติมาตร +1.3 ขนาดเชิงมุม 3.9 พิลิปดา เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม ความสว่างของดาวอังคารเพิ่มขึ้นไปที่โชติมาตร -0.7 ขนาดเชิงมุม 12.6 พิลิปดา ดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกในปลายเดือนมกราคม 2553 แต่เป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าระยะห่างเฉลี่ย ทำให้มันมีขนาดไม่ใหญ่นักและสว่างน้อยกว่าคราวที่เข้าใกล้โลก ครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2552
ดาวเคราะห์วันที่โชติมาตร (อันดับความสว่าง)
ดาวเสาร์มี.ค.+0.5
ดาวพฤหัสบดี15 ส.ค.-2.9
ดาวเนปจูน18 ส.ค.+7.8
ดาวยูเรนัส17 ก.ย.+5.7
ดาวอังคาร--


ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับสองรองจากดาวศุกร์และมีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ รูปร่างของดาวพฤหัสบดีเป็นทรงกลมแป้น ป่องออกในแนวเส้นศูนย์สูตร สามารถมองเห็นดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีได้อย่างน้อย ดวง ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ ปีนี้ระนาบศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดีจะตัดกับวงโคจรโลก ทำให้ผู้ที่มีกล้องโทรทรรศน์มีโอกาสสังเกตอุปราคาและการบังกันระหว่างดาวบริวาร

ไม่กี่วันในช่วงต้นเดือนมกราคม อาจยังพอสังเกตดาวพฤหัสบดีได้ในเวลาพลบค่ำโดยอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีจะหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ อยู่ร่วมทิศกันในวันที่ 24 มกราคม กลางเดือนกุมภาพันธ์ดาวพฤหัสบดีจะเริ่มปรากฏอีกครั้งบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดขณะอยู่ใกล้ดาวอังคารในกลุ่มดาวแพะทะเล ดวงจันทร์เข้ามาบังดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ดาวพุธในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ดาวพฤหัสบดีจะอยู่บนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืดตลอดหกเดือนถัดไป

กลางเดือนสิงหาคม 2552 ดาวพฤหัสบดีอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี พร้อมกับส่องสว่างสูงสุดด้วยโชติมาตร -2.9 หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีจะอยู่บนท้องฟ้าทุกคืนในเวลาหัวค่ำ ทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ในต้นเดือนพฤศจิกายน แล้วเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น เรายังสามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีในเวลาหัวค่ำได้ต่อไปถึงต้นปี 2553

แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี 2552 ช่วยให้มองเห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นกลางในแนวดิ่งคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลางเป็นส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอนบอกมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้งบอกวันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวทแยงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180° แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 

ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์แก๊สที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วจึงมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้นอย่างเห็นได้ชัด ปีนี้วงแหวนขนาดใหญ่แต่บางเฉียบของดาวเสาร์จะทำมุมลดลงจนตัดกับระนาบวงโคจรโลก ทำให้วงแหวนกลายเป็นเส้นตรงหรือดูราวกับว่ามันหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ 13-16 ปี และยังทำให้ดาวเสาร์มีความสว่างลดลง นอกจากปรากฏการณ์เกี่ยวกับวงแหวนแล้ว ผู้ที่มีกล้องโทรทรรศน์ยังจะมีโอกาสสังเกตอุปราคาและการบังกันระหว่างดาวบริวาร

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโตตลอด เดือนแรกของปี จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาวในเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ปีนี้ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ มีนาคม จึงสว่างและใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี เดือนมีนาคมดาวเสาร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ และอยู่บนท้องฟ้าเวลานี้ต่อไปถึงปลายเดือนสิงหาคม ก่อนเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ ต้นเดือนตุลาคมดาวเสาร์จะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด มันเคลื่อนเข้าใกล้ดาวพุธในวันที่ ตุลาคม และอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในวันที่ 13-14 ตุลาคม สังเกตได้ในเวลาเช้ามืดเช่นนี้ต่อไปตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี

การตัดกันของระนาบวงแหวนดาวเสาร์กับระนาบวงโคจรโลกที่เกิดมาแล้วหลายครั้งในอดีต และล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2538 เปิดโอกาสให้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบบริวารดวงใหม่ของดาวเสาร์ ปีนี้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นในวันที่ กันยายน 2552 แต่เป็นช่วงที่ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ ครั้งถัดไป (พ.ศ. 2568) ก็เกิดในช่วงที่ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์อีกเช่นเดียวกัน ดังนั้นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการค้นหาบริวารดวงใหม่ของดาวเสาร์โดยอาศัยการตัดกันของระนาบวงแหวนโดยไม่มีแสงอาทิตย์เป็นอุปสรรค จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2581-2582

ดาวยูเรนัส อยู่ตรงรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำกับกลุ่มดาวปลา ปีนี้ดาวยูเรนัสจะเคลื่อนเข้าไปในเขตของกลุ่มดาวปลาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จากนั้นมันจะถอยหลังไปอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวปลาอีกครั้งในต้นปีหน้า กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ช่วยให้สังเกตดาวยูเรนัสได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ถึงกลางเดือนมกราคม 2553 แกนหมุนของดาวยูเรนัสเอียงมากจนเกือบอยู่ในระนาบเดียวกับระนาบวงโคจรของโลกและดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ ช่วงเวลานี้ขั้วใต้ของดาวยูเรนัสกำลังหันเข้าหาดวงอาทิตย์ ดาวยูเรนัสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 17 กันยายน 2552

ดาวเนปจูน ยังคงอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล ใกล้เส้นแบ่งเขตระหว่างกลุ่มดาวแพะทะเลกับกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ช่วยให้สังเกตดาวเนปจูนได้ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2552 ถึงต้นเดือนมกราคม 2553 ปีนี้ดาวพฤหัสบดีจะผ่านมาใกล้ดาวเนปจูน 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 27-28 พฤษภาคม ห่างประมาณ 0.4 องศา ครั้งที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 9-10 กรกฎาคม ห่างประมาณ 0.6 องศา ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ 21-22 ธันวาคม ห่างประมาณ 0.5 องศา โดยสองครั้งหลังมีอุปสรรคจากแสงจันทร์รบกวน