สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หางลึกลับของดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เอ 3

หางลึกลับของดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เอ 3

15 ตุลาคม 2567 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2567
ช่วงนี้ (กลางเดือนตุลาคม) ต้องถือว่าเป็นเวลาของดาวหางอย่างแท้จริง ดาวเด่นบนฟากฟ้าในขณะนี้เห็นจะไม่มีใครเกินดาวหาง จื่อจินซาน-แอตลัส เอ (C/2023 A3) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เอ 3 ที่เพิ่งหนีพ้นแสงจ้าของดวงอาทิตย์ออกมา ทำให้มีตำแหน่งปรากฏอยู่ห่างขอบฟ้ามากขึ้น จึงมีโอกาสเห็นได้ง่ายขึ้นแม้ตัวดาวหางเองกำลังถอยห่างออกจากโลก แม้แต่ในกรุงเทพก็ยังมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า  ใครที่ไม่เคยเห็นดาวหางก็จะได้เห็นกันคราวนี้ สำหรับคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นี่อาจเป็นดาวหางดวงแรกในชีวิต จึงนับว่าดาวหาง เอ มาได้ถูกเวลาที่ประชาชนจะได้เรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ผ่านปรากฏการณ์ธรรมชาติ



ดาวหางเอ มีหัวเล็กแต่สว่าง ทอดหางเหยียดยาวไม่ต่ำกว่า 30 องศา แม้การสังเกตด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนก็ยังเห็นหางได้ยาวไม่ต่ำกว่า 10 องศาหรือ 20 เท่าของความกว้างของดวงจันทร์ อีกสิ่งหนึ่งที่อาจสังเกตได้ในดาวหางดวงนี้ก็คือ มีสิ่งที่คล้ายหางจาง ๆ พุ่งออกไปในทิศทางตรงข้ามกับหางด้วย 

มันคืออะไรกันนะ เป็นส่วนหนึ่งของดาวหางหรือเปล่า

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส (เอ 3) ถ่ายจากประเทศเปอร์โตริโก โดย Yarelis Medina แสดงส่วนที่คล้ายหางจาง ๆ พุ่งออกจากหัวในทิศตรงข้ามกับหางปกติ (จาก Yarelis Medina)

สิ่งที่เห็นนั้นเรียกว่า หางย้อน (anti-tail) เป็นส่วนหนึ่งของหางดาวหางจริงที่ปรากฏยื่นออกมาทางหัว ชี้ไปที่ดวงอาทิตย์แทนที่จะชี้ออกจากดวงอาทิตย์อย่างที่ควรจะเป็น

หางของดาวหางเกิดขึ้นจากน้ำแข็งและฝุ่นที่หลุดลอยออกจากนิวเคลียสของดาวหาง แล้วต่อมาก็ถูกความดันเหตุรังสีจากดวงอาทิตย์ผลักให้หลุดลอยออกไป รังสีมีทิศทางจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นหางของดาวหางจึงมีทิศทางชี้ไปทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ 

หางย้อนไม่ใช่หางที่พุ่งออกจากหัวเข้าสู่ดวงอาทิตย์  หางย้อนเกิดขึ้นกับดาวหางที่มีหางฝุ่นยาวและเหยียดโค้งมาก ทำให้ในบางมุมมองจะเห็นว่าปลายหางโค้งกลับมายื่นล้ำส่วนหัวออกมา 

รูปตำแหน่งของโลกและดาวหางที่จะทำให้เกิดหางย้อน ในกรณีที่ดาวหางมีหางยาวและโค้งมาก ในบางมุมมอง จะมองเห็นปลายหางยื่นล้ำหัวออกมา ทำให้ดูเหมือนกับมีหางพิเศษที่ชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ ในภาพตำแหน่งหมายเลข คือหางย้อน 

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เอ ก็เป็นดาวหางอีกดวงหนึ่งที่มีหางยาวมาก แม้ภาพที่ปรากฏจะดูว่าหางเหยียดตรงแต่หางจริงในอวกาศยาวและโค้งมาก ประจวบเหมาะกับตำแหน่งของโลกขณะนี้ที่อยู่ในมุมที่ปลายหางยื่นล้ำออกมาทางหัว จึงปรากฏหางย้อนในดาวหางดวงนี้

ในอดีตมีดาวหางสว่างหลายดวงที่ปรากฏหางย้อน เช่น ดาวหางแซดทีเอฟ (C/2022 E3 (ZTF)) ดาวหางเฮล-บอปป์ ดาวหางโคฮูเทค

ดาวหางแซดทีเอฟ (C/2022 E3 (ZTF)) ปรากฏในต้นปี 2566 แสดงหางย้อนชัดเจน (จาก Alessandro Carrozzi)
ดาวหางโคฮูเทก มองเห็นหางย้อนจาง ๆ (จาก Catalina Observatory)

ออกไปดูดาวหางเอ คืนนี้ อย่าลืมสังเกตหางย้อนด้วยนะครับ