สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ในปี 2545

ดาวเคราะห์ในปี 2545

7 มกราคม 2545
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวพุธ ปรากฏอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำตั้งแต่เมื่อย่างเข้าสู่ปี พ.ศ. 2545 ท้องฟ้าที่แจ่มใสของเดือนมกราคมจะช่วยให้สามารถมองเห็นดาวพุธได้ดีโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 8-16 มกราคม หลังจากนั้นดาวพุธจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนกลับมาปรากฏทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดตั้งแต่ประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ เราสามารถมองเห็นดาวพุธได้ต่อเนื่องไปจนถึงราวต้นเดือนมีนาคมก่อนที่ดาวพุธจะเคลื่อนเข้าหาดวงอาทิตย์ แล้วกลับมาปรากฏในเวลาหัวค่ำอีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ดาวพุธจะอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม การปรากฏของดาวพุธในช่วงถัดไปไม่ค่อยดีนักเนื่องจากดาวพุธอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าและอาจถูกบดบังจากเมฆฝน เดือนสุดท้ายของปีมีโอกาสมองเห็นดาวพุธบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคมจนถึงสิ้นปี

ภาพจำลองแสดงขนาดปรากฏเปรียบเทียบกันของดาวเคราะห์ในรอบปี 2545 

ดาวศุกร์ กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำตั้งแต่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดลง เป็นการปรากฏเป็นดาวประจำเมืองอีกครั้งหลังจากที่มองเห็นได้ในเวลาเช้ามืดต่อเนื่องกันมาหลายเดือนเมื่อปีที่แล้ว ดาวศุกร์จะปรากฏสูงจากขอบฟ้ามากขึ้นอย่างช้าๆ ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน และมาอยู่ใกล้กับดาวเคราะห์หลายดวงในต้นเดือนพฤษภาคม จากนั้นต้นเดือนมิถุนายนจะเห็นดาวศุกร์อยู่เคียงคู่กับดาวพฤหัสบดี วันที่ 20 มิถุนายน หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาส่องดูจะเห็นว่าดาวศุกร์ปรากฏอยู่ใกล้กับกระจุกดาวรังผึ้งในกลุ่มดาวปู

เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม มุมเงยจากขอบฟ้าของดาวศุกร์เริ่มที่จะคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในแต่ละวัน วันที่ 22 สิงหาคม ดาวศุกร์จะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และเริ่มที่จะมีมุมเงยจากขอบฟ้าลดลงอย่างช้าๆ โดยจะมีความสว่างมากที่สุดในปลายเดือนกันยายน หลังจากนั้นดาวศุกร์จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนหายลับไปจากท้องฟ้าในราวกลางเดือนตุลาคม โดยจะอยู่ในตำแหน่งทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 31 ตุลาคม จากนั้นประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนจึงกลับมาปรากฏเป็นดาวรุ่งหรือดาวประกายพรึกทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ซึ่งดาวศุกร์จะค่อยๆ มีตำแหน่งสูงขึ้นจากขอบฟ้าในเช้ามืดของแต่ละวัน โดยจะมาอยู่ใกล้กับดาวอังคารต่อเนื่องกันหลายวันนับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมไปจนถึงสิ้นปี

ดาวอังคาร ปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันตกต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยจะย้ายจากกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เข้าสู่กลุ่มดาวปลาและกลุ่มดาวแกะ จากนั้นในช่วงสงกรานต์จะเห็นดาวอังคารอยู่ใกล้กับกระจุกดาวลูกไก่ในกลุ่มดาววัว ผ่านใกล้ดาวเสาร์และดาวศุกร์ในวันที่ พฤษภาคม และ 10 พฤษภาคม ตามลำดับ ระหว่างนี้ดาวอังคารจะอยู่ต่ำลงบนท้องฟ้าอย่างช้าๆ ในแต่ละวัน เมื่อเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ในราวปลายเดือนพฤษภาคม จะเห็นดาวอังคารมีความสว่างใกล้เคียงกับดาวคาสเตอร์ ดาวอังคารจะปรากฏใกล้กับดาวพฤหัสบดีในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมขณะที่อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากและอาจมองเห็นได้ยากถ้าขอบฟ้าตะวันตกไม่เปิดโล่ง หลังจากนี้ดาวอังคารจะหายลับไปจากท้องฟ้า กลับมาให้เห็นได้อีกครั้งบนท้องฟ้าในเวลาเช้ามืดราวกลางเดือนกันยายนขณะอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ดาวอังคารจะเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาวในเดือนตุลาคม มาปรากฏใกล้กับดาวศุกร์ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม พร้อมกับเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง

วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2545
ดาวเคราะห์วัน เดือนอันดับความสว่าง
พฤหัสบดีม.ค.-2.7
พลูโตมิ.ย.13.8
เนปจูนส.ค.+7.8
ยูเรนัส20 ส.ค.+5.7
เสาร์18 ธ.ค.-0.5
อังคาร--


ดาวพฤหัสบดี ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาพลบค่ำและยังคงอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ ต้นปีนี้ดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้โลกมากที่สุดและมีขนาดใหญ่กว่าปกติเมื่อมองดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ เราสามารถมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ทุกวันในเวลาหัวค่ำ โดยดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าในเวลาพลบค่ำของเดือนมีนาคม จากนั้นจะเลื่อนไปปรากฏทางด้านทิศตะวันตกเรื่อยไปจนกระทั่งหายไปจากท้องฟ้าในราวต้นเดือนกรกฎาคม ดาวพฤหัสบดีอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 20 กรกฎาคม และจะสามารถมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้อีกครั้งบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดราวต้นเดือนสิงหาคมขณะที่ดาวพฤหัสบดีเข้าสู่กลุ่มดาวปู สัปดาห์แรกของเดือนกันยายนดาวพฤหัสบดีจะผ่านใกล้กับกระจุกดาวรังผึ้ง หลังจากนั้นจะเห็นว่าดาวพฤหัสบดีเคลื่อนเข้าหากลุ่มดาวสิงโตอย่างช้าๆ พร้อมกับทำมุมห่างจากขอบฟ้ามากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาก่อนรุ่งอรุณของแต่ละวัน ปลายเดือนพฤศจิกายนดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนเข้าไปในเขตของกลุ่มดาวสิงโต และเริ่มถอยกลับมายังกลุ่มดาวปูในกลางเดือนธันวาคม ก่อนที่จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีหน้า

แผนภาพแสดงตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ตามไรต์แอสเซนชัน ตลอดปี 2545 แผนภาพนี้จะช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เช่น ต้นเดือนพฤษภาคมมีดาวเคราะห์หลายดวงปรากฏให้เห็นพร้อมกันในเวลาหัวค่ำ ต้นเดือนมิถุนายน ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีปรากฏอยู่ใกล้กัน เป็นต้น เส้นทึบในแนวเฉียงคือตำแหน่งของดวงอาทิตย์ แถบสีคล้ำที่แผ่ออกไปสองข้าง คือ ส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวนในการดูดาวเคราะห์ เส้นประในแนวเฉียงคือตำแหน่งที่ทำมุมตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เมื่อดาวเคราะห์วงนอกอยู่ในตำแหน่งนี้ แสดงว่าเป็นช่วงที่ใกล้โลกมากที่สุด 

ดาวเสาร์ ยังคงอยู่ในกลุ่มดาววัวใกล้กับดาวอัลเดบารัน ซึ่งอยู่สูงจากขอบฟ้าตะวันออกในเวลาพลบค่ำ คืนวันที่ 24 มกราคม ดวงจันทร์จะบังดาวเสาร์มองเห็นได้ในประเทศไทย และวันที่ 20 มีนาคม ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะผ่านมาใกล้กับดาวเสาร์มาก ดาวเสาร์จะอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในวันที่ มิถุนายน จากนั้นปลายเดือนเดียวกันจึงจะเห็นดาวเสาร์กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าก่อนเช้ามืดต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เช้ามืดวันที่ 25 กรกฎาคม จะมีปรากฏการณ์พิเศษสำหรับผู้ที่มีกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง คือ ดาวเสาร์จะผ่านเข้าไปใกล้เนบิวลาปูในกลุ่มดาววัว ซึ่งเป็นซากที่เหลือจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา กลางเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่ดูดาวเสาร์ได้ดีที่สุด เนื่องจากดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 27 ปี ทำให้ดาวเสาร์มีขนาดใหญ่และปรากฏวงแหวนชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์

ดาวยูเรนัส และ ดาวเนปจูน อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล โดยเนปจูนจะอยู่ในกลุ่มดาวนี้ตลอดทั้งปี แต่ยูเรนัสจะเคลื่อนเข้าไปในเขตของกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำระหว่างเดือนเมษายนถึงต้นเดือนสิงหาคมก่อนที่จะถอยหลังกลับเข้ามาในกลุ่มดาวแพะทะเล เราสามารถมองเห็นดาวยูเรนัสได้ด้วยกล้องสองตา แต่ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ในการดูดาวเนปจูน ถ้าท้องฟ้าแจ่มใสจะสามารถมองเห็นดาวยูเรนัสและเนปจูนได้ดีที่สุดในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ แผนที่แสดงตำแหน่งของยูเรนัสและเนปจูนจะตีพิมพ์ใน "ทางช้างเผือก" ต่อไป

ดาวพลูโต มีอันดับความสว่าง 14 มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู