สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อภิมหาดาวหาง ใหญ่มหึมา

อภิมหาดาวหาง ใหญ่มหึมา

15 เม.ย. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปลายปีที่แล้ว มีรายงานการค้นพบดาวหางดวงใหม่ดวงหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มากและกำลังมุ่งหน้าเข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า ซี/2014 ยูเอ็น 271 (เบอร์นาร์ดิเนลลี-เบิร์นสไตน์) [C/2014 UN271 (Bernardinelli-Bernstein)] 

ต่อมาเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ คณะนักดาราศาสตร์นำโดย ดร.สวี่ เหวินเทา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาเก๊า ได้สำรวจดาวหางดวงนี้อีกครั้งด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อวัดขนาดของนิวเคลียสให้แน่ชัด

ผลการวัดขนาดของนิวเคลียสยืนยันว่า ดาวหางดวงนี้ใหญ่มากจริง ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 104-134 กิโลเมตร ทำให้นี่คือดาวหางที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก มีมวลประมาณ 500 ล้านล้านตัน 

ภาพชุดที่ใช้ในการวัดขนาดนิวเคลียสของดาวหาง ซี/2014 ยูเอ็น 271 (เบอร์นาร์ดิเนลลี-เบิร์นสไตน์) ภาพซ้ายเป็นภาพดาวหางที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ มกราคม ภาพกลางเป็นภาพที่สร้างขึ้นจากแบบจำลองการเกิดโคม่า ภาพขวาสุดเกิดจากการหักล้างของภาพทางซ้ายและภาพกลาง เพื่อให้เหลือเพียงภาพของนิวเคลียสที่มีความคมชัดพอให้วัดขนาดได้   (จาก NASA, ESA, Man-To Hui (Macau University of Science and Technology), David Jewitt (UCLA); Image processing: Alyssa Pagan (STScI))


เปรียบเทียบขนาดของนิวเคลียสของดาวหางบางดวง (ลักษณะพื้นผิวของนิวเคลียสเป็นไปตามจินตนาการของศิลปิน) (จาก NASA, ESA, Zena Levy (STScI))

ก่อนหน้าที่จะพบดาวหางดวงนี้ แชมเปี้ยนดาวหางที่ใหญ่ที่สุดคือ ดาวหาง ซี/2002 วีคิว 94 (C/2002 VQ94) มีขนาดนิวเคลียส 100 กิโลเมตร ค้นพบในปี 2545 โดยโครงการลิเนียร์ ดาวหางเฮล-บอปป์ที่เคยเป็นที่กล่าวขวัญกันว่ามีนิวเคลียสใหญ่มากยังมีขนาดแค่ครึ่งของดวงนี้ ส่วนดาวหางแฮลลีย์ที่โด่งดังมีขนาดนิวเคลียสเพียงประมาณสิบกิโลเมตรเท่านั้น

ดาวหางเบอร์นาร์ดิเนลลี-เบิร์นสไตน์ค้นพบโดย เปโดร เบอร์นาร์ดิเนลลี และ แกรี เบิร์นสไตน์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ด้วยกล้องวิกเตอร์เอ็มบลังโกขนาด เมตรในชิลี โดยค้นพบจากคลังภาพท้องฟ้าที่ถ่ายไว้ระหว่างปี 2557-2561 ในขณะนั้นทั้งคู่เข้าใจว่าเป็นดาวเคราะห์แคระดวงใหม่ เนื่องจากวัตถุดวงนี้ยังอยู่ไกลมากและยังไม่ทอดหางออกมา 

ต่อมีการสำรวจเพิ่มเติมโดยเครือข่ายกล้องของหอดูดาวลัสกุมเบรส พบว่าวัตถุดวงนี้มีความฟุ้งแผ่ออกมาโดยรอบ ส่วนที่ฟุ้งออกมาจะเป็นอย่างอื่นไปมิได้นอกจากโคม่า ซึ่งหมายความว่าวัตถุดวงนี้เป็นดาวหางนั่นเอง

ดาวหาง ซี/2014 ยูเอ็น 271 (เบอร์นาร์ดิเนลลี-เบิร์นสไตน์) ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เมื่อวันที่ มกราคม 2565  (จาก NASA ESA Man-To Hui, Macau University of Science and Technology David Jewitt, UCLA Alyssa Pagan, STScI)

ขณะนี้ดาวหางเบอร์นาร์ดิเนลลี-เบิร์นสไตน์กำลังมุ่งหน้าเข้ามาด้วยความเร็ว 35,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะมาถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดใน พ.ศ. 2574 แต่ดาวหางดวงนี้มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณ 1,600 ล้านกิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่ารัศมีวงโคจรของดาวเสาร์เสียอีก ดังนั้นดาวหางดวงนี้จะไม่มีวันเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในเลย คนที่กลัวว่าจะมาชนโลกก็สบายใจได้ ส่วนคนที่คาดหวังว่าจะได้ชมดาวหางยักษ์สว่างไสวให้เต็มตาก็ต้องทำใจเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะนักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางดวงนี้จะไม่สว่างพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเสียด้วยซ้ำ