สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ชนะแล้ว "ชาละวัน" ชื่อดาวไทยสากลชื่อแรกบนฟากฟ้า

ชนะแล้ว "ชาละวัน" ชื่อดาวไทยสากลชื่อแรกบนฟากฟ้า

15 ธ.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศผลการคัดเลือกชื่อสามัญโลกต่างระบบ 20 แห่ง หนึ่งในนั้นคือดาว 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris) ได้ชื่อว่า "ชาละวัน" เป็นดาวฤกษ์ดวงแรกบนท้องฟ้าที่มีชื่อสามัญสากลเป็นชื่อไทย

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ ไอเอยู ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดชื่อและนิยามต่าง ๆ ในทางดาราศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการ "เนมเอกโซเวิลดส์" (NameExoWorldsซึ่งมีเป้าหมายที่จะตั้งชื่อสามัญให้แก่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นจำนวน 20 ระบบ บางระบบที่ดาวฤกษ์เองยังไม่มีชื่อสามัญก็ให้ตั้งชื่อสามัญให้ดาวฤกษ์นั้นด้วย โดยเปิดโอกาสให้องค์กรทางดาราศาสตร์จากทั่วโลกเสนอชื่อเข้าไป และตัดสินด้วยการลงคะแนนเสียงออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เนต มีองค์กรทางดาราศาสตร์กว่า 584 องค์กรทั่วโลกร่วมเสนอชื่อ สมาคมดาราศาสตร์ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ดาวฤกษ์ 20 ดวงที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลคัดมาเข้าในโครงการตั้งชื่อในครั้งนี้ได้แก่ ดาวเอปไซลอนวัว (epsilon Tauri), ดาวไอโอตามังกร (iota Draconis), ดาวแกมมาซีฟิอัส (gamma Cephei), ดาวแอลฟาปลาใต้ (alpha Piscis Austrini), ดาวบีตาคนคู่ (beta Geminorum), ดาวเอปไซลอนแม่น้ำ (epsilon Eridani), ดาวมิวแท่นบูชา (mu Arae), ดาวเทาคนเลี้ยงสัตว์ (tau Boötis), ดาวอิปไซลอนแอนดรอเมดา (upsilon Andromedae), ดาวไซนกอินทรี (xi Aquilae), ดาว 14 แอนดรอเมดา (14 Andromedae), ดาว 18 โลมา (18 Delphini), ดาว 42 มังกร (42 Draconis), ดาว 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris), ดาว 51 ม้าบิน (51 Pegasi), ดาว 55 ปู (55 Cancri), ดาวเอชดี 81688 (HD 81688), ดาวเอชดี 104985 (HD 104985), ดาวเอชดี 149026 (HD 149026) และพีเอสอาร์ 1257+12 (PSR 1257+12)

ในการเฟ้นหาชื่อดาวที่จะเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้จัดการประกวดชื่อขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคมฯ เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเสนอชื่อเข้ามา มีผู้เสนอชื่อน่าสนใจหลายชื่อ เช่น ข้าวสวย ขนมครก สุดสาคร สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เลือกเอาชื่อ "ตะเภาแก้ว" ซึ่งเสนอโดย ด.ญ.ศกลวรรณ ตระการรังสี ส่วนชื่อ "ชาละวัน" เสนอโดย นายสุภาภัทร อุดมรัตน์นุภาพ คณะทำงานของสมาคมดาราศาสตร์ไทยจึงได้เพิ่มชื่อ "ตะเภาทอง" เข้าไปอีกหนึ่งชื่อเพื่อนำไปตั้งให้แก่ระบบสุริยะของดาว 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris) เหตุที่เลือกดาวดวงนี้เนื่องจากอยู่ในกลุ่มดาวที่ตรงกับดาวจระเข้ของไทยซึ่งสอดคล้องกับตัวละครในเรื่องไกรทองพอดี โดยให้ชื่อชาละวันแก่ดาวฤกษ์ ส่วนตะเภาแก้วและตะเภาทองยกให้เป็นชื่อของดาวเคราะห์ทั้งสองของดาวชาละวัน

การลงคะแนนเพื่อคัดเลือกของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2558 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ก่อนที่ผลจะออกมาว่า ชื่อดาวชาละวัน-ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง มีผู้ลงคะแนนให้สูงสุด ได้เป็นชื่อสามัญของดาว 47 หมีใหญ่และบริวารอย่างเป็นทางการ

"การสถาปนาชื่อไทยให้โลกต่างระบบครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้เผยแพร่ถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานให้ชาวโลกได้รับรู้" นายเชิดพงศ์  วิสารทานนท์ กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ประธานโครงการสถาปนาชื่อไทยให้โลกต่างระบบ Thai Name ExoWorld กล่าว    "กระผมต้องขอขอบพระคุณชาวไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนที่พร้อมใจกันเป็นหนึ่ง สนับสนุนให้การสถาปนาชื่อชาละวันสำเร็จไปอย่างดียิ่ง" 

นายเชิดพงศ์ยังกล่าวต่อว่า "เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้โหวตสนับสนุนกว่าครึ่งล้านคะแนนเสียงจาก 182 ประเทศ ที่ได้ทำการเลือกโลกต่างระบบจากทั้งหมด 19 ระบบ  พบว่า ประเทศไทยเรามีคะแนนโหวตมากเป็นอันดับที่ และมากกว่าชื่อลำดับที่ ที่ทำการโหวตแข่งในระบบเดียวกันถึงเกือบ เท่าตัว"

คลิปรณรงค์ให้ลงคะแนนเสียงให้ชาละวันที่เป็นทางการของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล

ก่อนหน้าที่จะมีการใช้ชื่อสามัญ ดาวชาละวัน เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris) เป็นชื่อในระบบแฟลมสตีด ซึ่งระบุดาวโดยใช้เลขลำดับเข้าคู่กับชื่อกลุ่มดาว 

ดาวชาละวัน อยู่ที่ตำแหน่งไรต์แอสเซนชัน 10 ชั่วโมง 59 นาที 27.97 วินาที เดคลิเนชัน +40 องศา 25 ลิปดา 48.9 พิลิปดา อยู่ในเขตของกลุ่มดาวหมีใหญ่ ใกล้กับดาวจระเข้ของไทย เป็นดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ มีมวลมากกว่าเล็กน้อย อยู่ห่างจากโลก 46 ปีแสง อันดับความสว่าง +5.03 ซึ่งสว่างพอมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องดูในพื้นที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน ในช่วงฤดูหนาวมองเห็นได้ง่ายในช่วงเช้ามืด

ดาวชาละวันมีดาวเคราะห์เป็นบริวาร ดวง มีชื่อว่า 47 หมีใหญ่บี (47 UMa b), 47 หมีใหญ่ซี (47 UMa c) และ 47 หมีใหญ่ดี (47 UMa d) ค้นพบในปี 2539, 2545 และ 2553 ตามลำดับ

นับจากนี้ไปดาวเคราะห์สองดวงของดาวชาละวัน คือ ดาว 47 หมีใหญ่บี จะมีชื่อว่า ตะเภาทอง และดาว 47 หมีใหญ่ซี จะมีชื่อว่า ตะเภาแก้ว คาดว่า ดาวตะเภาทองและดาวตะเภาแก้วเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ทั้งคู่ มีมวล 2.5 เท่าและ 0.5 เท่าของดาวพฤหัสบดีตามลำดับ โคจรรอบดาวชาละวันเป็นวงเกือบกลม 

"ในอนาคตหากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลเปิดโอกาสให้มีการตั้งชื่อโลกต่างระบบเช่นนี้อีก ผมหวังว่าเราชาวไทยจะรวมใจกันเป็นหนึ่งเพื่อผลักดันให้ชื่อดาวของไทยเป็นชื่อดาวของโลก ให้ลูกหลานเราได้ภูมิใจว่าประเทศไทยเรายิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก" นายเชิดพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์ของโครงการเนมเอกโซเวิลดส์ http://nameexoworlds.iau.org/

ชาละวัน ชื่อไทยบนอวกาศ http://thaiastro.nectec.or.th/nameexoworlds/

โหลดหนังสือ "กว่าจะเป็นดาวชาละวัน" หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่ชื่อ "ชาละวัน" ได้ขึ้นไปประดับฟ้าสากล เผยเบื้องหน้าเบื้องหลัง และรายละเอียดเกี่ยวกับดาวชาละวัน http://1drv.ms/1Otkt6g (ไฟล์ pdf)

สารพันคำถามเกี่ยวกับ ดาวชาละวัน (http://thaiastro.nectec.or.th/library/faqs/faq_chalawan.php)

โลกต่างระบบใหม่ทั้ง 19 แห่งที่ได้ชื่อสามัญจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (http://thaiastro.nectec.or.th/library/chalawan/new19exoworlds.html)
ภาพโปสเตอร์โครงการเนมเอกโซเวิลดส์

ภาพโปสเตอร์โครงการเนมเอกโซเวิลดส์

ตำแหน่งของดาวชาละวัน

ตำแหน่งของดาวชาละวัน

ผังวงโคจรของระบบสุริยะของดาวชาละวัน เส้นตารางแต่ละช่องมีขนาด 1x1 หน่วยดาราศาสตร์

ผังวงโคจรของระบบสุริยะของดาวชาละวัน เส้นตารางแต่ละช่องมีขนาด 1x1 หน่วยดาราศาสตร์

นายเชิดพงศ์  วิสารทานนท์ ประธานโครงการสถาปนาชื่อไทยให้โลกต่างระบบ Thai Name ExoWorld

นายเชิดพงศ์ วิสารทานนท์ ประธานโครงการสถาปนาชื่อไทยให้โลกต่างระบบ Thai Name ExoWorld

แผนที่แสดงตำแหน่งของดาวชาละวัน

แผนที่แสดงตำแหน่งของดาวชาละวัน (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ที่มา: