ดาวหางเลิฟจอย (C/2013 R1 Lovejoy)
นอกจากดาวหางไอซอนที่อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในช่วงปลายปี 2556 ยังมีดาวหางอีก 3 ดวง ที่สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ ได้แก่ ดาวหางเลิฟจอย (C/2013 R1 Lovejoy) ดาวหางลีเนียร์ (C/2012 X1 LINEAR) และดาวหางเองเคอ (2P/Encke)
ดาวหางเลิฟจอยสว่างที่สุดขณะนี้สามารถสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดาวหางลีเนียร์ได้เกิดปะทุความสว่างขึ้นมาจากโชติมาตร 14 ไปที่โชติมาตร 8 แต่มีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้า สังเกตได้ยากจากประเทศไทย ดาวหางเองเคอสว่างราวโชติมาตร 7 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อย่างรวดเร็ว จึงสังเกตได้ยากขึ้นทุกวัน เลิฟจอยจึงเป็นดาวหางที่น่าสนใจที่สุดใน 3 ดวงนี้
วันที่7-8 กันยายน 2556 เทอร์รี เลิฟจอย (Terry Lovejoy) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลีย ค้นพบดาวหางดวงใหม่ในภาพถ่ายซีซีดี ซึ่งบันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 20 เซนติเมตร ดาวหางดวงนี้เป็นดวงที่ 4 ที่เขาค้นพบ ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซี/2013 อาร์ 1 (C/2013 R1) แสดงว่าเป็นดาวหางคาบยาว ค้นพบเป็นดวงแรกในครึ่งแรกของเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 ขณะนั้นดาวหางอยู่บริเวณใกล้เส้นที่แบ่งเขตระหว่างกลุ่มดาวยูนิคอร์นกับกลุ่มดาวนายพราน เขารายงานว่าดาวหางสว่างที่โชติมาตร 14
ก่อนหน้านี้ดาวหางที่เลิฟจอยค้นพบเป็นดวงที่ 3 และทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือดาวหางที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซี/2011 ดับเบิลยู 3 (C/2011 W3) ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2554 เป็นดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ และสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อปลายปี 2554 แต่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย
สำหรับดาวหางเลิฟจอยดวงล่าสุดนี้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่23 ธันวาคม 2556 ตามเวลาประเทศไทย ที่ระยะ 0.812 หน่วยดาราศาสตร์ (121 ล้านกิโลเมตร) แต่ก่อนหน้านั้นจะเข้าใกล้โลกที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ตามเวลาประเทศไทย ห่างโลกประมาณ 0.397 หน่วยดาราศาสตร์ (59 ล้านกิโลเมตร)
ดาวหางเลิฟจอยมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีที่มีความรีสูงวงโคจรที่คำนวณได้ในขณะนี้แสดงว่าดาวหางเลิฟจอยอาจเคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วเมื่อราว 7,000 ปีก่อน และหลังจากครั้งนี้อาจกลับมาอีกครั้งในอีกราว 8,500 ปี
ผลการคาดหมายความสว่างจากที่วัดได้นับตั้งแต่ค้นพบคาดว่าดาวหางเลิฟจอยจะสว่างที่สุดในช่วงที่ใกล้โลกที่สุด คือช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน โดยอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลาเช้ามืด เคลื่อนผ่านบริเวณกลุ่มดาวหมีใหญ่ หมาล่าเนื้อ และคนเลี้ยงสัตว์
รายงานผลการสังเกตการณ์ถึงวันที่10 พฤศจิกายน พบว่าดาวหางสว่างราวโชติมาตร 6 จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อสว่างที่สุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 ดาวหางเลิฟจอยจะมีโอกาสสว่างได้ถึงประมาณโชติมาตร 4-5 ซึ่งสว่างพอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นดวงฝ้าจาง ๆ ภายใต้ฟ้ามืด
หากดาวหางเลิฟจอยสว่างได้ถึงระดับนี้คาดว่าจะสังเกตได้ดีด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จากสถานที่มืด ห่างไกลจากตัวเมือง และหากดาวหางไอซอนยังคงสว่างขึ้นไม่มากเท่าที่คาดไว้ ประกอบกับตำแหน่งของดาวหางเลิฟจอยที่อยู่สูงกว่า การสังเกตดาวหางเลิฟจอยอาจทำได้ง่ายกว่าดาวหางไอซอนด้วยซ้ำไป
ดาวหางเลิฟจอยจะผ่านกลุ่มดาวสิงโตในช่วงวันที่12-14 พฤศจิกายน และผ่านกลุ่มดาวสิงโตเล็กในช่วงวันที่ 15-17 พฤศจิกายน กลางเดือนพฤศจิกายนอาจสว่างขึ้นมาที่โชติมาตร 5.5 วันที่ 18-21 พฤศจิกายน ดาวหางเลิฟจอยผ่านกลุ่มดาวหมีใหญ่ จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวหมาล่าเนื้อ ช่วงวันที่ 21 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2556 ดาวหางอาจสว่างที่สุดราวโชติมาตร 5 โดยช่วงแรก ๆ จะมีแสงจันทร์รบกวน
สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนดาวหางเลิฟจอยเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวหมาล่าเนื้อและคนเลี้ยงสัตว์ คาดว่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการสังเกตดาวหางดวงนี้ โดยมีดวงจันทร์เสี้ยวรบกวนเล็กน้อย ช่วงท้าย ๆ อาจเริ่มสังเกตได้ยากขึ้น เนื่องจากดาวหางอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น
หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวความสว่างของดาวหางจะลดลง และเมื่อมองจากประเทศไทย ดาวหางมีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้าเมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่าง จึงสังเกตได้ยาก ส่วนในละติจูดสูงของซีกโลกเหนือยังสังเกตได้ดี
C/2013 R1 (Lovejoy) - JPL Small-Body Database Browser
●C/2013 R1 (Lovejoy) - Seiichi Yoshida
●C/2013 R1 (Lovejoy) - Gary W. Kronk
●C/2013 R1 (Lovejoy) - Andreas Kammerer
●Recent Comet Brightness Estimates - International Comet Quarterly
ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)
●สารพันคำถามเกี่ยวกับดาราศาสตร์ : หมวดดาวหางและดาวเคราะห์น้อย
●เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
●เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก
ดาวหางเลิฟจอยสว่างที่สุด
วันที่
ก่อนหน้านี้
สำหรับดาวหางเลิฟจอยดวงล่าสุดนี้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่
ดาวหางเลิฟจอยมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีที่มีความรีสูง
ผลการคาดหมายความสว่างจากที่วัดได้นับตั้งแต่ค้นพบ
ความสว่างและตำแหน่งบนท้องฟ้า
รายงานผลการสังเกตการณ์ถึงวันที่
หากดาวหางเลิฟจอยสว่างได้ถึงระดับนี้
ดาวหางเลิฟจอยจะผ่านกลุ่มดาวสิงโตในช่วงวันที่
สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน
หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว
แหล่งข้อมูล
●●
●
●
●
ดูเพิ่ม
●●
●
●