สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ในปี 2546

ดาวเคราะห์ในปี 2546

2 มกราคม 2546
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวพุธ ปรากฏอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2545 จากนั้นดาวพุธจะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงนี้ถือว่าสามารถมองเห็นดาวพุธได้ดีที่สุดในรอบปี เพราะดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ค่อนข้างมาก และท้องฟ้าโปร่งในช่วงนี้จะช่วยให้สามารถมองเห็นดาวพุธได้ดียิ่งขึ้น หลังจากนั้นดาวพุธจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนกลับมาปรากฏทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำในช่วงกลางเดือนเมษายน ดาวพุธจะเคลื่อนเข้าใกล้โลกและมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในวันที่ พฤษภาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่จะเกิดปรากฏการณ์พิเศษ คือ ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้ในประเทศไทยตั้งแต่หลังเที่ยงวันไปจนถึงก่อนดวงอาทิตย์ตก (ติดตามรายละเอียดได้ในทางช้างเผือกฉบับเมษายน 2546)

เราสามารถมองเห็นดาวพุธในเวลาเช้ามืดได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่ดาวพุธจะเคลื่อนเข้าหาดวงอาทิตย์ แล้วกลับมาปรากฏในเวลาหัวค่ำอีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงปลายเดือนสิงหาคม ดาวพุธจะอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในปลายเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่จะดูดาวพุธได้ไม่ดีนักเพราะอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า เดือนธันวาคมมีโอกาสมองเห็นดาวพุธบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำตลอดครึ่งแรกของเดือน

ช่วงที่มองเห็นดาวพุธได้ดี
ช่วงวันที่เวลากลุ่มดาวหมายเหตุ
19 มกราคม 21 กุมภาพันธ์เช้ามืดคนยิงธนู, แพะทะเล-
10-22 เมษายนหัวค่ำแกะ-
27 พฤษภาคม 16 มิถุนายนเช้ามืดแกะ, วัวใกล้ดาวศุกร์
26 กรกฎาคม 24 สิงหาคมหัวค่ำสิงโตใกล้ดาวพฤหัสบดี
25-30 กันยายนเช้ามืดสิงโตใกล้ดาวพฤหัสบดี
1-16 ธันวาคมหัวค่ำคนยิงธนูใกล้ดาวศุกร์


ภาพจำลองแสดงขนาดปรากฏเปรียบเทียบกันของดาวเคราะห์ในรอบปี 2546 

ดาวศุกร์ ยังคงมองเห็นได้บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด เป็นการปรากฏเป็นรุ่งหรือดาวประกายพรึกต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และจะปรากฏต่ำลงใกล้ขอบฟ้ามากยิ่งขึ้นอย่างช้าๆ ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ดาวศุกร์จะอยู่บนฟ้าก่อนรุ่งอรุณเช่นนี้ต่อไปอีกหลายเดือนขณะเคลื่อนจากกลุ่มดาวคันชั่ง เข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่อง คนยิงธนู แพะทะเล คนแบกหม้อน้ำ ปลา และเข้าสู่กลุ่มดาวแกะในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่จะเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้กับดาวพุธ จากนั้นดาวพุธและดาวศุกร์จะแยกห่างจากกันแล้วมาใกล้กันอีกครั้งในปลายเดือนมิถุนายนขณะที่ดาวศุกร์เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาววัวพร้อมกับหายลับไปจากท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวศุกร์จะอยู่ในตำแหน่งทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนสิงหาคม จากนั้นประมาณต้นเดือนตุลาคมจึงกลับมาปรากฏเป็นดาวประจำเมืองทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ซึ่งดาวศุกร์จะค่อยๆ มีตำแหน่งสูงขึ้นจากขอบฟ้าในเวลาพลบค่ำของแต่ละวัน สามเดือนสุดท้ายของปี ดาวศุกร์จะเคลื่อนจากกลุ่มดาวหญิงสาวเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง แมงป่อง คนยิงธนู และแพะทะเล สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับปีนี้ คือ ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวเคราะห์ดวงสว่างเพียงดวงเดียวคือดาวพุธ ขณะที่ช่วงที่ใกล้ดาวเสาร์ในเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ค่อนข้างมาก

ดาวอังคาร มองเห็นได้บนท้องฟ้าในเวลาเช้ามืดตลอดครึ่งแรกของปี โดยจะเคลื่อนจากกลุ่มดาวคันชั่ง เข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู แพะทะเล และคนแบกหม้อน้ำ พร้อมกับเป็นช่วงที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากขึ้นและมีความสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้นับเป็นปีที่ดีปีหนึ่งในการสังเกตดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากเป็นปีที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบหลายปี น่าเสียดายที่ปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดจริงๆ นั้นเป็นฤดูฝน จึงอาจเป็นอุปสรรคในการดูดาวอังคารใกล้โลกของปีนี้ อย่างไรก็ดี ดาวอังคารจะปรากฏขนาดใหญ่และสุกสว่างก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นหลายสัปดาห์

แผนภาพแสดงตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ตามไรต์แอสเซนชัน ตลอดปี 2546 แผนภาพนี้จะช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นทึบในแนวเฉียงคือตำแหน่งของดวงอาทิตย์ แถบสีคล้ำที่แผ่ออกไปสองข้าง คือ ส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวนในการดูดาวเคราะห์ เส้นประในแนวเฉียงคือตำแหน่งที่ทำมุมตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เมื่อดาวเคราะห์วงนอกอยู่ในตำแหน่งนี้ แสดงว่าเป็นช่วงที่ใกล้โลกมากที่สุด 

เมื่อย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม จะเห็นดาวอังคารมีความสว่างใกล้เคียงกับดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ และมีขนาดเชิงมุมประมาณ พิลิปดา จากนั้นกลางเดือนมิถุนายน หากว่าสภาพท้องฟ้าเอื้ออำนวย ก็จะเห็นดาวอังคารสุกสว่างใกล้เคียงกับดาวซิรีอัส ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเวลากลางคืน และเป็นช่วงที่ดาวอังคารจะขึ้นเหนือขอบฟ้าตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ ทุ่ม หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ดาวอังคารยังคงมีความสว่างมากขึ้นและปรากฏขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ โดยจะสว่างที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในคืนวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารมีขนาดเชิงมุม 25.1 พิลิปดา และมีโชติมาตร -2.9 ช่วงเวลานี้ดาวอังคารจะปรากฏบนฟ้าตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกจนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หลังจากที่ดาวอังคารผ่านใกล้โลกมากที่สุดแล้ว จะมองเห็นดาวอังคารได้ในเวลาหัวค่ำจนถึงสิ้นปี พร้อมกับที่ดาวอังคารเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวปลาในเดือนธันวาคม


วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2546
ดาวเคราะห์วัน เดือนอันดับความสว่าง
พฤหัสบดีก.พ.-2.6
พลูโต10 มิ.ย.+13.8
เนปจูนส.ค.+7.8
ยูเรนัส24 ส.ค.+5.7
อังคาร29 ส.ค.-2.9
เสาร์ม.ค. 2547-0.5


ดาวพฤหัสบดี เมื่อย่างเข้าปี 2546 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฎอยู่ระหว่างกลุ่มดาวปูและกลุ่มดาวสิงโต ขึ้นเหนือขอบฟ้าตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. ดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ขณะที่มีโชติมาตร -2.6 หลังจากนั้นจะสามารถมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ทุกวันในเวลาหัวค่ำ ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าในเวลาพลบค่ำของเดือนเมษายน จากนั้นจะเลื่อนไปปรากฏทางทิศตะวันตกจนหายไปจากท้องฟ้าในราวต้นเดือนสิงหาคม และจะสามารถมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้อีกครั้งบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดตั้งแต่ประมาณต้นเดือนกันยายนจนถึงสิ้นปี

ดาวเสาร์ อยู่ในกลุ่มดาววัวใกล้กับเนบิวลาปู โดยจะเห็นดาวเสาร์อยู่สูงจากขอบฟ้าตะวันออกในเวลาพลบค่ำ ดาวเสาร์จะอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำจนถึงต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจึงจะสามารถมองเห็นดาวเสาร์ได้อีกครั้งขณะที่ดาวเสาร์กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าในเวลาเช้ามืด ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสจนถึงปีใหม่ 2547 เป็นช่วงที่ดูดาวเสาร์ได้ดีที่สุด คืนวันที่ 31 ธันวาคม ดาวเสาร์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 29 ปี สาเหตุที่ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในช่วงนี้ (และใกล้กว่าปีที่แล้วเล็กน้อย) เนื่องจากดาวเสาร์เพิ่งจะผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจรของตนเองตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546

ดาวยูเรนัส และ ดาวเนปจูน อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล เนปจูนจะอยู่ในกลุ่มดาวนี้ตลอดทั้งปี แต่ยูเรนัสจะเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป เราสามารถมองเห็นดาวยูเรนัสได้ด้วยกล้องสองตา แต่ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ในการดูดาวเนปจูน ถ้าท้องฟ้าแจ่มใสจะสามารถมองเห็นดาวยูเรนัสและเนปจูนได้ดีที่สุดในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

ดาวพลูโต มีโชติมาตร 14 มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและมองเห็นได้ยากด้วยกล้องโทรทรรศน์ อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงูและเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวงูในต้นเดือนธันวาคม