สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ในปี 2550

ดาวเคราะห์ในปี 2550

16 มกราคม 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 16 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์วงใน อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุด เราจึงไม่ค่อยได้เห็นดาวพุธบ่อยนักเพราะส่วนใหญ่ดาวพุธจะปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสางซึ่งเป็นเวลาที่ท้องฟ้าไม่มืดสนิท ขณะที่ดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมันจะปรากฏในเวลาหัวค่ำ และเมื่อดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมันจะปรากฏในเวลาเช้ามืด

หากไม่คำนึงถึงเมฆที่อาจเป็นอุปสรรคในการสังเกต ช่วงเวลาที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์และมองเห็นได้ดีในประเทศไทยสำหรับปีนี้ คือ เวลาเช้ามืดตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน ส่วนช่วงที่มองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำคือปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์และปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน ถ้าดูดาวพุธด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไปจะเห็นดาวพุธมีขนาดเล็ก เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปในแต่ละวันตามมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์คล้ายการเกิดดิถีของดวงจันทร์ นอกจากนี้ความสว่างของมันก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ภาพจำลองดาวเคราะห์ในปี 2550 แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA) 

แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี 2550 ช่วยให้มองเห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นกลางในแนวดิ่งคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลางเป็นส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอนบอกมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้งบอกวันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวทแยงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180 องศา แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี
 


ดาวศุกร์โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพุธกับโลกและมีขนาดเล็กกว่าโลกของเราเล็กน้อย ด้วยระยะห่างที่ใกล้กว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นและความสามารถในการสะท้อนแสงของเมฆในบรรยากาศทำให้ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ยามใดที่เห็นดาวศุกร์ในเวลาหัวค่ำเราจะเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" ยามใดที่เห็นในเวลาเช้ามืดเราจะเรียกว่า "ดาวประกายพรึก" ด้วยเหตุที่มันโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลกทำให้ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47 องศา เราจึงไม่เคยเห็นดาวศุกร์บนท้องฟ้าเวลาเที่ยงคืน

ต้นปี 2550 ดาวศุกร์ปรากฏเป็นดาวประจำเมืองต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปถึงต้นเดือนสิงหาคม เดือนมกราคมดาวศุกร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ หลังจากนั้นมันจะเคลื่อนออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นจนทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในต้นเดือนมิถุนายนซึ่งจะเห็นดาวศุกร์สว่างเป็นรูปครึ่งวงกลมเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์

ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมจะเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ ทั้งคู่เข้าใกล้กันมากที่สุดในค่ำวันที่ กรกฎาคมด้วยระยะห่างประมาณ 0.7 องศา ช่วงเวลานี้และหลังจากนี้ไปดาวศุกร์จะมีขนาดใหญ่และสว่างเป็นเสี้ยว มันโคจรไปอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในกลางเดือนสิงหาคมแล้วเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าอีกครั้งเป็นดาวประกายพรึกทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

กราฟความสว่างของดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดวงตลอดปี 2550 

ดาวอังคาร ปรากฏบนท้องฟ้ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืดเกือบตลอดทั้งปีโดยเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกงู คนยิงธนู แพะทะเล คนแบกหม้อน้ำ ปลา แกะ วัว และคนคู่ ดาวอังคารผ่านใกล้ดาวเนปจูนในปลายเดือนมีนาคม ใกล้ดาวยูเรนัสในปลายเดือนเมษายน และใกล้กระจุกดาวลูกไก่ในต้นเดือนสิงหาคม

ขนาดเชิงมุมและความสว่างของดาวอังคารเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดปีนี้ วันที่ มกราคมดาวอังคารส่องสว่างด้วยโชติมาตร +1.5 เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีมันจะสว่างด้วยโชติมาตร -1.6 พร้อมกับมีขนาดเชิงมุมใกล้เคียงกับดาวเสาร์ (ไม่รวมวงแหวน) ขณะที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 19 ธันวาคมมันจะอยู่ห่างจากโลก 0.5893 หน่วยดาราศาสตร์ หรือเท่ากับ 88 ล้านกิโลเมตร (สังเกตว่าวันที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์กับวันที่ใกล้โลกมากที่สุดห่างกันประมาณหนึ่งสัปดาห์)

แม้ว่าปีนี้ขณะที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดจะอยู่ห่างจากโลกมากกว่าเมื่อปี 2546 และ 2548 จนทำให้มีขนาดเล็กกว่า แต่การที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกในช่วงฤดูหนาวก็น่าจะทำให้มีโอกาสสังเกตดาวอังคารได้ดีกว่าเมื่อ ปีก่อนซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ยังคาดหมายได้ว่ากล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องใหญ่และมีกำลังขยายสูงอาจช่วยให้เห็นน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วเหนือของดาวอังคาร

ด้วยตำแหน่งสัมพัทธ์ระหว่างโลกกับดาวอังคารเราจะพบว่าปีที่ดาวอังคารใกล้โลกมักเป็นปีที่มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร องค์การนาซาเตรียมส่งยานฟีนิกซ์ (Phoenix) คาดว่าจะออกเดินทางในเดือนสิงหาคม 2550 และลงจอดบนขั้วเหนือของดาวอังคารในเดือนพฤษภาคมปีหน้า


วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2550
ดาวเคราะห์วันที่โชติมาตร (อันดับความสว่าง)
ดาวเสาร์11 ก.พ.-0.0
ดาวพฤหัสบดีมิ.ย.-2.6
ดาวเนปจูน14 ส.ค.7.8
ดาวยูเรนัส10 ก.ย.5.7
ดาวอังคาร25 ธ.ค.-1.6


ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสว่างเป็นอันดับ รองจากดาวศุกร์ องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแก๊สมีใจกลางเป็นหิน ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนออกจากกลุ่มดาวแมงป่องเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงูตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2549 และอยู่ในกลุ่มดาวนี้เกือบตลอดปี 2550 เราจะสังเกตดาวพฤหัสบดีได้ทุกวันในเวลาเช้ามืดตลอดช่วง 5-6 เดือนแรกของปี จากนั้นดาวพฤหัสบดีจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุดในต้นเดือนมิถุนายนพร้อมกับสว่างมากที่สุดด้วยโชติมาตร -2.6

หลังจากผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์แล้วดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนฟ้าทุกคืนในเวลาหัวค่ำก่อนถูกแสงสว่างของดวงอาทิตย์กลบในราวต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลาเดียวกับที่มันย้ายเข้าสู่เขตแดนของกลุ่มดาวคนยิงธนู

ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์แก๊สเช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี แต่ดูสวยงามกว่าตรงที่มีวงแหวนขนาดใหญ่ล้อมรอบ ปีนี้จะสังเกตได้ว่าระนาบวงแหวนเอียงทำมุมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ซึ่งมีส่วนทำให้ดาวเสาร์มีความสว่างลดลงตามไปด้วย

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโตตลอดปี 2550 จะสว่างที่สุดและใกล้โลกมากที่สุดในกลางเดือนกุมภาพันธ์ มองเห็นได้ตลอดทั้งคืนนับตั้งแต่หัวค่ำถึงเช้ามืด ดาวเสาร์จะอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคมก่อนเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และถูกแสงอาทิตย์กลบไปพร้อม ๆ กับดาวศุกร์ หลังจากนั้นมันจะกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าอีกครั้งในเวลาเช้ามืดตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ กลางเดือนตุลาคมจะเห็นดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวศุกร์ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองและครั้งสุดท้ายของปีนี้

ดาวยูเรนัส อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ส่วน ดาวเนปจูน อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ช่วยให้สังเกตดาวเคราะห์สองดวงนี้ได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จำเป็นต้องอาศัยแผนที่ดาวในการระบุตำแหน่งที่แน่นอนของดาวเคราะห์สองดวงนี้