ฤดูร้อนโลกจะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
ผิด !
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมากที่สุดคนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าฤดูร้อนเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และฤดูหนาวมีอากาศหนาวเกิดจากการที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ จริงอยู่ที่ว่าโลกเรานั้นมีบางช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และบางช่วงที่ถอยห่างจากดวงอาทิตย์ เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ แต่วงรีนี้เป็นวงรีที่มีความรีน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่าเกือบจะเป็นวงกลม ดังนั้นระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ของสองช่วงนี้จึงแตกต่างกันน้อยมากซึ่งแทบจะไม่มีผลต่ออุณหภูมิเลย ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า ในฤดูหนาวโลกกลับอยู่ใกล้จากดวงอาทิตย์มากกว่าในฤดูร้อนเสียอีก แปลกไหมล่ะ?
กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลที่แท้จริงคือความเอียงของแกนโลก แกนโลกเอียง 23.5 องศาเทียบกับแนวตั้งฉากกับระนาบของระบบสุริยะ ดังนั้นจึงมีบางช่วงที่โลกซีกโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนซีกโลกใต้ก็เอียงออกจากดวงอาทิตย์ ช่วงนี้เองที่เป็นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ เนื่องจากปริมาณแสงอาทิตย์ส่องพื้นผิวโลกในส่วนที่เป็นซีกโลกเหนือมากกว่า มุมที่แสงแดดตกกระทบพื้นดินก็เป็นมุมมากกว่า และกลางวันก็ยาวกว่ากลางคืน ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย โลกจะหันประเทศไทยเข้าหาดวงอาทิตย์โดยตรงในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม ในขณะที่ทางประเทศออสเตรเลียเป็นช่วงฤดูหนาว เนื่องจากแสงแดดตกกระทบพื้นดินเป็นปริมาณน้อยกว่า และมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน เมื่อย่างเข้าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม โลกจะหันด้านใต้เข้าหาดวงอาทิตย์แทน ฤดูกาลก็จะสลับกัน ช่วงนี้จะเป็นฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้และเป็นฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือ
คริสต์มาสที่ประเทศออสเตรเลียไม่มีหิมะไม่ต้องใส่ชุดหนา ๆ แต่ผู้คนจะไปเที่ยวตามชายหาด ปักต้นคริสต์มาสบนหาดทราย ฉลองคริสต์มาสและเล่นน้ำทะเลตามประสาหน้าร้อน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมากที่สุด
กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลที่แท้จริงคือ
คริสต์มาสที่ประเทศออสเตรเลียไม่มีหิมะ